จากกรณีการแพร่ระบาดของโรคหัดในพื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดยะลา มีผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมียอดผู้ป่วย ทั้ง 8 อำเภอ จำนวน 926 ราย และเสียชีวิตไป 10 ราย โดยรายล่าสุดเป็นเด็กอายุ 1 ปี 4 เดือน ในพื้นที่ อ.กรงปินัง ซึ่งแพทย์พบว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีปัจจัยพื้นฐานร่วมกัน คือ ไม่เคยรับวัคซีนเลย และส่งตัวถึงแพทย์ช้า และไม่ยอมรับการรักษาจากแพทย์กรณีฉุกเฉิน ซึ่งประเด็นการไม่ฉีดวัคซีนนั้นเกิดจากความเชื่อของบางชุมชน ที่ไม่ยอมรับการฉีดวัคซีนให้บุตรหลานในวัยที่ถึงเกณฑ์
นายแพทย์กิ๊ฟลัน ดอเลาะ จิตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จ.ยะลา และแพทย์ที่ร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ออกมาฉีดวัคซีนโรคหัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในเด็ก โดยจัดทำคลิปเผยแพร่ทางยูทูบและเฟซบุ๊ก จนมีคนแชร์เป็นจำนวนมากในระยะเวลาไม่นาน เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคหัดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ยะลาในขณะนี้ ไม่ใช่ปัญหาทางการแพทย์อย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่เหลื่อมกันระหว่างปัญหาสาธารณสุขการแพทย์กับปัญหาทางสังคม ซึ่งมีมิติทางสังคมเข้ามา
"มองว่าทางการแพทย์ไม่มีปัญหา มีการลงพื้นที่ รณรงค์การฉีดวัคซีน ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ออกไปเคาะประตูบ้าน แต่ปัญหาที่สำคัญ เพราะเป็นมิติทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีความคิดเฉพาะของเขา ซึ่งความคิดเฉพาะกลุ่มเหล่านี้จะมีผลต่อการสาธารณสุข เมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้น ต้องเข้าใจว่ากลุ่มที่เป็นปัญหา ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ และไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นเฉพาะกลุ่ม"
"ในมิติทางการแพทย์ ต้องลงปฏิบัติการอย่างเต็มที่ อาทิ การประกาศสงครามกับโรค เตรียมวัคซีนมากมาย แต่ยังติดอยู่มิติทางสังคม มิตินี้เราอาจต้องใช้ความรู้ทางสังคม ทำความเข้าใจทางวัฒนธรรม ความคิดของกลุ่มต่างๆ ที่ต่อต้านเหล่านี้ ถ้าความคิดของตนนั้น มองลักษณะเฉพาะของกลุ่มย่อยนี้ จะเป็นคนที่ฟังและเชื่อฟังต่อผู้นำ ดังนั้นการเข้าไปหาผู้ที่มีอิทธิพลในกลุ่มเหล่านี้ และให้ผู้มีอิทธิพลทางความคิดเข้าใจในประเด็นที่เกิดขึ้น และนำไปถ่ายทอดต่อคนในกลุ่ม ปัญหาเหล่านี้จะคลี่คลายไปในที่สุด" นพ.กิ๊ฟลัน กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: