ไม่พบผลการค้นหา
ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่ง หลังแท็กซี่ขอคิดค่าบริการแบบระบบเหมาจ่ายรายเดือน

ไอเดียแท็กซี่ระบบเหมาจ่ายรายเดือนของ 'วรพล แกมขุนทด' นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

เจ้าตัวเสนอว่า ผู้โดยสารสามารถสมัครเป็นสมาชิกในราคา 12,000 บาทต่อเดือน ใช้บริการได้ไม่จำกัดเที่ยว ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมกับมีบริการเครื่องดื่มและอาหารเสริม

คำถามก็คือ โมเดลดังกล่าวนั้นทำได้จริงหรือเป็นเพียงแค่ฝัน ?  


กฎหมายไม่รองรับ 

'วิฑูรย์ แนวพานิช' ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร บอกว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกฎหมายในปัจจุบัน เนื่องจากแท็กซี่มีการจดทะเบียนและถูกกำหนดให้คิดค่าโดยสารตามมิเตอร์ ไม่สามารถเรียกในลักษณะเหมาจ่ายได้ 


"รายละเอียดเขายังไม่ชัดเจน แต่ภาคสหกรณ์คงยึดรูปแบบเดิม"


เขาเห็นว่าการเพิ่มรายได้ให้กับแท็กซี่ นอกจากต้องคำนึงถึงความยุติธรรมของผู้ขับ ยังต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายที่มี 


"มิเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้คำนวณและแสดงราคาตามหลักสากล หากต่ำไปก็ต้องขยับเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ซึ่งปัจจุบันรายได้ของแท็กซี่น้อยมาก งานวิจัยของทีดีอาร์ไอยืนยันออกมาแล้วว่าควรปรับค่าบริการเพิ่มขึ้น"


ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ระหว่างสรุปแนวทางการปรับอัตราค่าโดยสารสาธารณะสำหรับรถแท็กซี่ส่วนบุคคลโครงการ Taxi OK (ป้ายไฟสีเขียว) โดยจะมีการปรับขึ้นค่าโดยสารเฉลี่ยราวร้อยละ 8 เนื่องจากค่าโดยสารปัจจุบันนั้นไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 

ปัจจุบัน ตามการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ผู้ขับขี่มีรายได้ต่อวันประมาณ 1,564 บาท และมีรายจ่ายประมาณ 1,156 หรือมีรายรับสุทธิอยู่ที่ 408 บาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการปรับราคาดังกล่าวจะทำให้ผู้ขับขี่มีรายได้ต่อวันรวม 1,648 บาท และมีรายได้สุทธิ 492 บาท ทั้งยังแก้ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสารได้อีกด้วย 


แท็กซี่-ถนน-เศรษฐกิจ


ปัญหาคือความไม่แน่นอนของบริการ

หลังจากทราบข้อเสนอของระบบเหมาจ่าย 'ดร.สุเมธ องกิตติกุล' ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ให้ความเห็นว่า เป็นการดำเนินธุรกิจที่ซ้ำซ้อนกับบริการรูปแบบรถยนต์ให้เช่า รวมถึงมีปัญหาในแง่ความแน่นอนของการให้บริการ

"หนึ่ง ราคาเหมา ถ้าผู้โดยสารไม่ได้ถูกรีดไถ่ เป็นความยิมยอม เกิดจากการตกลง ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ ในแง่ปฏิบัติก็มีให้เห็นอยู่บ้าง สอง ตลาดของผู้ให้บริการในราคาเหมา เป็นรถอีกประเภทหนึ่ง เช่น รถรับจ้างไม่ประจำทาง กลุ่มบริษัททัวร์ ฉะนั้นไม่มีความจำเป็นที่แท็กซี่ซึ่งถูกกำหนดให้ต้องติดมิเตอร์ จะไปให้บริการในลักษณะเหมาจ่าย มันฟังดูตลก"

เขาบอกต่อว่า ผู้ที่หมดเงินไปกับค่าแท็กซี่ไม่ต่ำกว่าวันละ 400-500 บาท การเหมาจ่ายในราคา 12,000 บาทอาจจะเป็นเรื่องน่าสนใจและคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม มีคำถามคือ กลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และกลุ่มแท็กซี่มีจำนวนรถยนต์ให้บริการเพียงพอโดยไม่มีปัญหาเรื่องเวลาในการให้บริการหรือไม่

"ประเด็นที่ต้องตั้งคำถาม คือการบริหารจัดการ จะมีคนใช้เยอะไหม ไปได้ทุกที่หรือไม่ ความแน่นอนของการให้บริการเป็นยังไง อาจเข้าเกณฑ์การคุ้มครองผู้บริโภคระดับหนึ่งด้วย ถ้าซื้อแล้วทำไม่ได้อย่างที่พูด"


แท็กซี่


เล่นความหลากหลายของราคา

'รศ.ดร.วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์' หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เห็นว่าราคาเหมาจ่าย ประสบความสำเร็จได้ยาก เนื่องจากตัวเลข 12,000 บาทเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง พร้อมกับแนะนำให้พัฒนาเรื่องความหลากหลายของราคาตามแต่ช่วงเวลาและพื้นที่

"ตั้งแต่เที่ยงคืนเป็นต้นไป มิเตอร์อาจปรับขึ้น 10-20 เปอร์เซ็นต์ หรือการเดินทางข้ามเขต จากนอกเมืองเข้าสู่เมือง หรือจากในเมืองไปนอกเมือง อาจมีราคาเพิ่มสูงขึ้น เพราะบางจุดคนขับไม่อยากไป เนื่องจากมีประสบการณ์ไม่ดี ไปแล้วหาผู้โดยสารต่อลำบาก"

เขาเสนอว่าเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควรมีองค์กรกลาง เช่น "กรุงเทพฯ แท็กซี่เซ็นเตอร์" คอยบริหารจัดการ โดยทีมงานจะคอยควบคุมคุณภาพ ตรวจตราความปลอดภัย รวมถึงเก็บข้อมูลความหนาแน่นของผู้ใช้งานตามแต่ละพื้นที่

"พื้นที่ไหน เวลาเท่าไหร่ มีดีมานด์มากน้อยเพียงไร จะได้แนะนำแท็กซี่ ลดปัญหาการวิ่งเปล่า จะทำแบบนั้นได้ต้องมีฐานข้อมูลและการรวมกลุ่มของแท็กซี่ขนาดใหญ่" ผู้เชี่ยวชาญด้านขนส่งให้ความเห็น 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog