ไม่พบผลการค้นหา
กกต. เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับร่างกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผ่านเวบไซต์ ด้านอธิบดี สถ. เชื่อการพิจารณากฎหมายอีก 5 ฉบับจะเสร็จเร็วๆนี้

เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งเป็นร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาเสร็จแล้ว และส่งให้ กกต. รับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีทั้งหมด 141 มาตรา ซึ่งจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนประมาณ 30 วัน และหลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ กกต. จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง และคาดว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ สนช. พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ สนช. มีเวลาในการพิจารณา 60 วัน ก่อนทำร่างกฎหมายเสนอให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งจะมีกรอบเวลาอีก 90 วัน คาดว่า พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จะประกาศใช้ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ขณะเดียวกัน กกต. เคยเสนอว่า การเลือกตั้งระดับชาติและการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นควรมีการเว้นระยะห่างกันอย่างต่ำประมาณ 3 เดือน

ตามที่มติชนออนไลน์ รายงาน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยว่า กรมการปกครองท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทยแสดงข้อคิดเห็น และร่วมประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งสิ้น 6 ฉบับ โดยร่างแรกคือร่างกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งเป็นร่างที่ กกต. เสนอปรับแก้เกือบทั้งฉบับ ขณะนี้ก็ได้มีการปรับแก้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งทางกรมฯ, กกต. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยกันเอาไปรับฟังความคิดเห็นในหลายช่องทาง ทั้งส่งโดยตรงไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด, นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาล, นายกสมาคม อบจ. , และนายกฯ สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยกำหนดระยะเวลาให้ส่งความเห็นกลับมาภายในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ เพื่อเข้าสู่คณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง

ขณะเดียวกันในเว็บไซต์ของ กกต. , กรมส่งเสิรมการปกครองท้องถิ่น, และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดรับความเห็นจากประชาชนอีกช่องทางหนึ่งด้วย ส่วนอีก 5 ฉบับ อยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ พ.ร.บ. จัดตั้งเทศบาล อบต. อบจ. เมืองพัทยา และกทม. ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ กำลังพิจารณากฎหมายการจัดตั้ง อบต. เกือบเสร็จแล้ว เมื่อพิจารณาครบแล้วก็จะดำเนินการรับฟังความเห็นอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม นายสุทธิพงษ์ เห็นว่า การพิจารณากฎหมายอีก 5 ฉบับที่เหลือจะไม่ล่าช้า เพราะฉบับที่ใช้เวลาเยอะและนานที่สุดเสร็จแล้ว แม้ตนจะไม่ทราบว่าจะเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการเลือกตั้งใหญ่ แต่เชื่อว่า กกต. และกรม สถ. พร้อมจัดการเลือกตั้งแน่นอน