ผู้ชุมนุมประท้วงรวมตัวกันในกรุงย่างกุ้งของเมียนมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมาภายใต้การนำของพระวีรธุ พวกเขาประณามความพยายามในอันที่จะดำเนินคดีกับพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศเพิ่งไฟเขียวให้มีกระบวนการเดินหน้าเก็บรวบรวมข้อมูลตามกระบวนการดำเนินคดีในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา
สำนักข่าวเอบีซีนิวส์และนิวสเตรทไทมส์ต่างว่า ในการชุมนุมหนนี้ผู้ชุมนุมนำภาพของมินอ่องหล่ายน์ มาแสดงเต็มสองข้างถนน ผู้ปราศรัยระบุว่า กลุ่มจะคัดค้านการแทรกแซงใดๆ จากต่างประเทศ
ผู้ปราศรัยคนสำคัญคือ พระวีรธุซึ่ง นิวสเตรทไทม์ส เรียกว่าเป็น “บินลาเดนฉบับพุทธ” ได้ประกาศต่อหน้าผู้ชุมนุมว่า วันใดก็ตามที่ตัวแทนของศาลอาญาระหว่างประเทศเดินทางเข้าเมียนมา วันนั้นคือวันที่เขาจะจับปืน พระวีรธุ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วถูกองค์กรสงฆ์ของเมียนมาสั่งห้ามไม่ให้พูดต่อสาธารณะ เนื่องจากพูดในสิ่งที่มีเนื้อหายั่วยุให้เกิดความแตกแยกและคำสั่งห้ามเพิ่งหมดอายุไปเมื่อเดือนมี.ค. เขาได้แสดงความชื่นชมจีนและรัสเซียที่ยืนหยัดต่อต้านไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติลงมติใช้มาตรการรุนแรงใดๆ กับเมียนมา เขายืนยันว่าเมียนมาไม่มีโรฮิงญา มีแต่เบงกาลี ซึ่งหมายความว่าคนกลุ่มน้อยเหล่านี้เป็นผู้อพยพชาวบังกลาเทศ ไม่ใช่พลเมืองเมียนมา
การปฏิเสธโรฮิงญาและปัญหาการใช้ความรุนแรงกับพวกเขายังดำเนินต่อไปในเมียนมา ชิมานี มาตานี นักข่าวของวอชิงตันโพสต์เขียนไว้เมื่อ 13 ต.ค. ถึงการเดินทางไปทำข่าวที่รัฐยะไข่ของเธอกับคณะสื่อต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งทีมโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ซีบีซี เอ็นเอชเค การ์เดียน โดยมาตานีบรรยายว่า การไปทำข่าวครั้งนี้ นักข่าวอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่เมียนมาตลอดเวลาและไม่มีโอกาสได้สัมภาษณ์มุสลิมโรฮิงญาโดยอิสระ แม้ว่าเจ้าหน้าที่เมียนมาจะพาพวกเขาไปค่ายและหมู่บ้านต่างๆ ได้พบกับมุสลิมทั้งในหมู่บ้านและในค่ายแต่คนเหล่านั้นไม่กล้าพูดอะไร บางคนบอกชัดเจนว่าเพราะมีคนจับตาพวกเขาอยู่
อย่างไรก็ตาม สื่อรายงานว่าโครงการส่งชาวโรฮิงญาที่หนีความรุนแรงไปอยู่บังกลาเทศให้กลับไปยังเมียนมายังคงเดินหน้าต่อไป เว็บข่าวอิระวดีรายงานว่า คณะกรรมการร่วมของเมียนมากับบังกลาเทศเตรียมประชุมกันอีกครั้งในเดือนนี้ เพื่อกำหนดรายละเอียดของโครงการ เจ้าหน้าที่เมียนมาระบุว่า การประชุมจะมีขึ้นในปลายเดือนนี้และอาจจะทำให้มีการส่งตัวชาวโรฮิงญาตามมาทันที โดยที่ผ่านมา ตัวแทนของสหประชาชาติได้ตรวจสอบความพร้อมของหมู่บ้านต่างๆ 23 หมู่บ้านเรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะประเมินอีกหลายๆแห่ง ส่วนรัฐบาลเมียนมาได้เตรียมความพร้อมด้วยการสร้างบ้านให้กับชาวโรฮิงญาในพื้นที่ต่างๆ 19 แห่ง รวมทั้งเตรียมหมู่บ้านตัวอย่างไว้อีก 12 แห่งที่จะมีทั้งที่ตลาด โรงเรียน สถานพยาบาล สวนสาธารณะ
อีกด้านหนึ่ง บังกลาเทศให้ข่าวว่าจะเริ่มส่งตัวชาวโรฮิงญากลับเป็นชุดแรก 6,000 คน และทั้งจีนและอินเดียต่างเข้าไปช่วยก่อสร้างที่พักอาศัยให้โรฮิงญา โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนได้ริเริ่มจัดประชุมร่วมกับอินเดียและเมียนมาเพื่อหาทางช่วยเร่งรัดกระบวนการส่งตัวโรฮิงญากลับเมียนมา