ไม่พบผลการค้นหา
แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย ตัดสินใจไม่ฉายหนัง 'โจชัว หว่อง' เพราะตำรวจสันติบาลท้วงติงว่าเนื้อหาในภาพยนตร์อาจกระทบความสัมพันธ์ไทย-จีน ด้านตำรวจสันติบาล ยืนยันเรียกมาพูดคุยหารือเท่านั้น ไม่ได้จำกัดสิทธิหรือคุกคาม

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ไม่สามารถฉายหนังสารคดีเรื่อง Joshua: Teenager vs Super Power ซึ่งได้รับอนุญาตจาก Netflix เจ้าของลิขสิทธิ์ มาฉายได้ตามกำหนดเดิม เนื่องจาก มีข้อห่วงใยมาจากตำรวจสันติบาล หลังจากได้รับเชิญให้ไปพูดคุยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (16 ส.ค. 2561) โดยเนื้อหาของภาพยนตร์ดังกล่าวอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน พร้อมแนะนำให้แอมเนสตี้ฯ ขออนุญาตจากกระทรวงวัฒนธรรมก่อน ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 แต่แอมเนสตี้ฯ เห็นว่าขั้นตอนการขออนุญาตใช้เวลานาน จึงเลือกที่จะไม่ฉาย และเปลี่ยนเป็นการเสวนาเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังเรื่องนี้แทน 

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย ไม่ยืนยันว่า การถูกจับตามองครั้งนี้จากตำรวจสันติบาล เกิดจากการออกแถลงการณ์ครั้งก่อนฯ ขององค์กรหรือไม่ แต่ย้ำว่า ทุกเรื่องสามารถพูดคุย และสื่อสารให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันได้ 

อย่างไรก็ตาม ทุกๆ วันเสาร์ที่สามของเดือน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จะจัดกิจกรรม Movies that Matter เพื่อชวนผู้สนใจมาดูหนังที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชนศึกษา นักปกป้องสิทธิ และผู้ลี้ภัย ซึ่งโปรแกรมหนังจะเปลี่ยนไปในทุกๆ เดือน และเมื่อดูหนังจบยังมีวงเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วย 

สำหรับเดือน ส.ค. นี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เลือกฉายหนังที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน และเนื่องจากวันที่ 12 ส.ค. ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็น International Youth Day หรือ วันเยาวชนโลก จึงได้ขออนุญาต Netflix นำภาพยนตร์สารคดี เรื่อง Joshua: Teenager vs Super Power มาฉายให้คนไทยรับชม 


โดยภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ บอกเล่าเรื่องราวของนักกิจกรรมรุ่นใหม่ อย่าง 'โจชัว หว่อง' นักเรียนมัธยมในฮ่องกง วัย 14 ปี ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนหลายๆ คน กล้าลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกว่าเดิม โดยลุกขึ้นมาลงประท้วงรัฐบาลจีน ให้ถอดถอนหลักสูตรการศึกษาใหม่ในแผ่นดินฮ่องกง 

นอกจากนี้ ยังได้ตามเก็บเรื่องราวของกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชน ที่กล้าลุกขึ้นมาก่อตั้งกลุ่มที่ชื่อ Scholarism จากประเด็นเรียกร้องเรื่องการศึกษา กระทั่งพวกเขากลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของฮ่องกงในปี 2557 (เมื่อ 4 ปีก่อน) หนังสารคดีเรื่องนี้ ได้รางวัลขวัญใจผู้ชม จากเทศกาลหนังซันแดนซ์ ประจำปี 2560 มาแล้วด้วย 

980266.jpg

ด้าน พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เปิดเผยกับ 'ทีมข่าววอยซ์ ทีวี' ว่า การเชิญผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้าพบเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเพียงการหารือเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม ไม่ได้มีท่าทีคุกคาม หรือ จำกัดสิทธิ เพราะเข้าใจแนวทางการเคลื่อนไหวขององค์กรนี้ แต่ยืนยันต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายของไทย ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจสันติบาล ที่จะต้องดำเนินการตามปกติ ไม่ได้มีใบสั่งใดๆ 

980268.jpg

ส่วนการฉายหนังสารคดีเรื่องนี้ จำเป็นต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งมาตรา 25 ระบุว่า "ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ต้องผ่านการตรวจพิจารณา และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์" หากฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 2 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท