พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงกรณีที่วันนี้ (27 ธ.ค. 2561) คณะกรรมการป้องกับและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จะมีมติชี้มูลความผิด พล.อ.ประวิตร ในประเด็นการครอบครองนาฬิกาหรู และแหวนเพชร ซึ่ง พล.อ.ประวิตร เผยว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเห็นของ ป.ป.ช. ว่า จะมีมติการชี้มูลความผิดอย่างไร
ทั้งนี้ ตนเองไม่สามารถตอบแทนได้ และส่วนตัวไม่มีความกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากทุกอย่างที่ชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องจริงทั้งหมด ทรัพย์สินก็อยู่กับเขาทั้งหมด ไม่ใช่ของเรา จะไปแย่งมายังไง
ส่วนกรณีการลาป่วยกระทันหันของ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง 1 ในคณะกรรมการพิจารณาคดี จนเป็นเหตุให้มีการเลื่อนการชี้มูลความผิดจากเมื่อวานมาเป็นวันนี้ พล.อ.ประวิตร ระบุว่า “ก็เขาป่วย ทำไงได้”
ล่าสุด มีรายงานว่า ป.ป.ช.มีมติ 5 ต่อ 3 เรื่องนาฬิกา พล.อ.ประวิตร 'ไม่ผิด' เนื่องด้วยไม่มีมูลเพียงพอที่จะต้องตั้งกรรมการสอบสวนต่อ
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้แจ้งไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 และมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบว่า พล.อ.ประวิตรจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่
ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกเว้น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งขอถอนตัว ได้พิจารณารายงานผลการตรวจสอบ โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ให้ พล.อ. ประวิตร ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จำนวน 4 ครั้ง ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า นาฬิกาทั้งหมด จำนวน 22 เรือน ได้ยืมจาก นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท และได้คืนไปหมดแล้ว ส่วนแหวนมีทั้งที่เป็นมรดกของบิดาที่มารดามอบให้ระหว่างที่ตนเองดำรงตำแหน่งดังกล่าว บางวงเป็นแหวนรุ่นหรือแหวนวัตถุมงคล มีมูลค่าไม่สูงมาก
จากการสอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง และขอเอกสารหลักฐานจากผู้แทนจำหน่ายนาฬิกาหรูในประเทศไทย รวมทั้งขอเอกสารและความร่วมมือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อตรวจสอบการสำแดงรายการนาฬิกาที่นำเข้าจากต่างประเทศรวมทั้งผู้จำหน่ายนาฬิกาในต่างประเทศ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เป็นนักธุรกิจที่มีฐานะทางการเงินและมีทรัพย์สินเป็นจำนวนมากและชอบสะสมนาฬิการาคาแพง ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบพบว่ามีการเก็บรักษานาฬิการาคาแพงอยู่ในบ้านของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ จำนวนมากกว่าที่ร้องเรียน
จากคำให้การของพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อเท็จจริงว่านายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เป็นคนมีฐานะดี คอยช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับกลุ่มเพื่อนที่เคยศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และได้ให้เพื่อนในกลุ่มโรงเรียนเซนต์คาเบรียลยืมนาฬิการาคาแพงไปใช้สวมใส่ ซึ่งรวมถึง พล.อ.ประวิตร เพื่อนร่วมห้องเดียวกับนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ที่มีความสนิทสนมกันด้วย นอกจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนเซนต์คาเบรียลแล้ว นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ยังให้เพื่อนกลุ่มอื่นยืมนาฬิกาไปสวมใส่ด้วย
เมื่อพิจารณาภาพของนาฬิกาจำนวน 25 เรือนที่ปรากฏเป็นข่าวพบว่า มีภาพซ้ำกัน 3 คู่ จึงมีนาฬิกาที่ต้องตรวจสอบจำนวน 22 เรือน พบว่าอยู่ในบ้านของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ จำนวน 20 เรือน และพบใบรับประกันนาฬิกาอีก 1 เรือน แต่ไม่พบตัวเรือน รวมเป็น 21 เรือน โดย 21 เรือนดังกล่าว พบหลักฐานว่านายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เป็นผู้ซื้อจากผู้จำหน่ายในต่างประเทศจำนวน 1 เรือน ซื้อต่อจากผู้อื่น จำนวน 2 เรือน ส่วนที่เหลือไม่พบหลักฐานการซื้อจากผู้จัดจำหน่ายภายในประเทศ และกรมศุลกากรก็ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันการนำเข้านาฬิกาจากต่างประเทศได้ เพราะผู้นำเข้าบางรายไม่สำแดงข้อมูลรายละเอียดของนาฬิกา ในส่วนการขอข้อมูลการซื้อขายนาฬิกาจากต่างประเทศ บางประเทศปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล หรือบางประเทศตอบว่าไม่สามารถตรวจสอบได้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานฟังได้ว่านาฬิกาที่ปรากฏเป็นข่าวเก็บรักษาอยู่ในบ้านของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ และเป็นส่วนหนึ่งของนาฬิการาคาแพงที่นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ได้สะสมไว้ แม้ไม่ปรากฏเอกสารการซื้อขายว่านายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เป็นผู้ซื้อนาฬิกาดังกล่าว แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการยึดถือเพื่อตน จึงต้องด้วยบทสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าวว่านายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เป็นเจ้าของนาฬิกาตามภาพข่าวจำนวน 21 เรือน และได้ให้ พล.อ.ประวิตร ยืมใช้ในโอกาสต่างๆ ตามที่ปรากฏในภาพข่าว ประกอบกับนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ได้ให้เพื่อนคนอื่นยืมใช้นาฬิการาคาแพงด้วย จึงรับฟังว่าเป็นการกระทำโดยปกติของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ที่ช่วยดูแลกลุ่มเพื่อนเก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียลที่สนิทสนมกัน รวมถึงเพื่อนกลุ่มอื่นด้วย
ในส่วนของนาฬิกาอีก 1 เรือน ที่ไม่พบตัวเรือนและไม่พบใบรับประกันนั้น จากการตรวจสอบยังไม่พบรายละเอียดข้อมูลนาฬิกาเรือนดังกล่าว แต่เมื่อนาฬิกาเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย และนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ได้เสียชีวิตไปแล้ว และเมื่อรับฟังว่า พล.อ. ประวิตร ได้ยืมนาฬิกาจากนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ มาสวมใส่ในการออกงานต่างๆ จำนวน 21 เรือนข้างต้น จึงรับฟังได้ว่า พล.อ. ประวิตร ได้มีการยืมนาฬิกาเรือนที่ยังตรวจสอบไม่พบมาสวมใส่เช่นกัน ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่านายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ และบริษัทคอม-ลิ้งค์ เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแต่อย่างใด
กรณีแหวนที่ปรากฏตามภาพข่าวที่ พล.อ. ประวิตร สวมใส่จำนวน 12 วง นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาคำชี้แจงของ พล.อ. ประวิตรแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าแหวนจำนวน 3 วงเป็นทรัพย์มรดกของบิดาของ พล.อ.ประวิตร ที่ได้รับมาจากมารดาในขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงไม่มีหน้าที่ต้องแสดงแหวนดังกล่าวในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว แหวนที่เหลือเป็นแหวนที่เป็นสัญลักษณ์หน่วยทหาร หรือแหวนวัตถุมงคลที่มีราคาไม่มาก นำมาใส่เพื่อเป็นศิริมงคล หรือใส่เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของสังกัด จึงไม่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่นกัน
จากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 ว่ากรณียังไม่มีมูลเพียงพอว่า พล.อ. ประวิตร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินนั้น โดยกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างน้อยเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม นอกจากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้แจ้งข้อมูลนาฬิกาจำนวน 22 เรือน ต่อกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
อ่านเพิ่มเติม