วันที่ 12 ก.ย.66 นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม อภิปรายนโยบายรัฐบาล ใน 4 นโยบายสำคัญ เริ่มที่ นโยบายการต่างประเทศ ที่เห็นว่าคำแถลงของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สะท้อน การทูตที่ให้ความสำคัญต่อขั้วโลกมหาอำนาจ (Go Hegemonic States) และมุ่งเน้นการดำเนินการทางการทูตรูปแบบเดิมที่เน้นเฉพาะการให้ความสำคัญเพียงแค่ เศรษฐกิจ การค้า และ การลงทุน เท่านั้น
"มันไม่ผิด แต่ไม่พอ และ นโยบายการทูต มิใช่ การเติมคำในช่องว่าง โดยวิ่งตามชาวบ้านเขา”
กัณวีร์ เห็นว่า นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลชุดนีื คือ การออกไปพบปะผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อชักชวนให้มาค้าขายสินค้าและบริการของกันและกัน FTA, Passport เดียวไปได้ทุกที่ การอนุมัติการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุน แต่ การต่างประเทศมีมากกว่าการค้าการลงทุนคหากไทยอยากเป็นผู้นำในเวทีโลก ต้องกระโดดออกจาก comfort zone ทางการทูตแบบไทยๆ ที่ยึดติดมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น
"ไทยเป็นประเทศระดับกลาง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องคิดนอกกรอบทางการทูต คือ การพิจารณาการสร้างความเป็นผู้นำในประเด็นที่เวทีสากลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และไม่ต้องใช้การลงทุนใดๆเลย คือ การทำงานเรื่อง soft approach นั่น คือ ด้านสิทธิมนุษยชนและงานด้านมนุษยธรรม
กัณวีร์ ยกตัวอย่างสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ไม่มีการพูดถึง ทั้งๆที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดน ที่มีการสู้รบกระทบคนไทย และมีผู้ลี้ภัยกว่า 1 หมื่นคนในพื้นที่ปลอดภัย 5 แห่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมากว่า 3 เดือนแล้ว รัฐบาลต้องออกจาก Comfort Zone การดำเนินการเป็น status quo หรือการคงสถานะทางการทูตแบบปิดหูปิดตา ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะเปิดระเบียงการค้า ก็สามารถเปิดระเบียงมนุษยธรรม Humanitarian Corridor ให้ไทยมีบทบาทนำด้านมนุษยธรรมด้วย
"อย่างที่ผมได้เสนอมาตรการเร่งด่วนในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยบริเวณชายแดน Safty Zone
นี่ยังไม่รวมเรื่องการอุ้มหาย แรงงานข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ลี้ภัย ท่านนายกรัฐมนตรี บอกว่ามีนโนบายจะรับแรงงานต่างด้าวเพิ่ม ถ้าต้องการเพิ่มจริง ทำไมไม่ให้โอกาส ผู้ลี้ภัยในค่าย 9 แห่ง ที่ในจำนวนนั้นสามารถเปลี่ยนเป็นแรงงานถูกกฏหมายได้ เพราะผู้ลี้ภัยมีความรู้ ความสามารถ สามารถทำงานได้มากมาย หากให้โอกาสพวกเขาได้ทำงานมีรายได้ เสียภาษี เป็นส่วนหนึ่งของผู้พัฒนาชาติไทย และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับพวกเขาได้"
กัณวีร์ เสนอว่ารัฐบาลไทยต้องมีการให้ภาคยานุวัตรและการให้สัตยาบันในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างประเทศที่ไทยไม่ได้ให้ความสำคัญเนื่องจากมองเรื่องสิทธิมนุษยชนและงานมนุษยธรรมโดยใช้มุมมองของความมั่นคงเพียงอย่างเดียว
"หากรัฐบาลต้องการกู้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยจากสายตาประชาคมโลกให้กลับมามีศักดิ์ศรี ไม่อยากเป็นแค่ลูกไล่ในเวทีโลก ก็เปลี่ยนเถอะครับ รัฐบาลเปลี่ยนกรอบกระบวนทัศน์ทางการต่างประเทศแบบลุงๆ ต้องกล้าคิด กล้าทำ และคิดนอกกรอบให้ได้ เพราะเราไม่ต้องลงทุนใดๆ เพียงแค่มีใจที่เป็นมนุษย์มากกว่าการค้า"
นอกจากนี้ กัณวีร์ ได้อภิปรายถึงการสร้างสันติภาพปาตานี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีอยู่คำแถลงนโยบายรัฐบาล ทั้งๆที่เป็นความหวังของประชาชนที่ต้องอยู่กับกฏหมายพิเศษมาเกือบ 20 ปี มีการใช้งประมาณไปแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ไม่มีแนวนโยบายที่ชัดเจน แต่รัฐบาลกลับประกาศจะเป็นผู้นำในการส่งเสริมสันติภาพและผลประโยชน์ร่วมกันของโลก แต่กลับไม่มีแนนโยบายที่ชัดเจนจึงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจแทนพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้
กัณวีร์ ระบุว่า นโยบายมีการพูดถึงหลักนิติธรรม 5 ครั้ง จึงอยากเห็นว่าได้นำมาใช้ในการสร้างสันติภาพในปาตานีเพราะถูกคาดหวังไว้ในวาระ 2030 สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อรับประกันความเสมอภาคของทุกคนและทุกกลุ่มในการเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยเท่าเทียมกันอีกด้วย และหลักการนี้จะป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพราะเป็นตัวบ่งชี้ความแตกต่างระหว่างประเทศประชาธิปไตยกับประเทศเผด็จการ
"ในประเทศเผด็จการไม่ใช่ว่าไม่มีหลักนิติธรรม แต่เป้าหมายของการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้มุ่งรับประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน หากแต่เป็นการกดปราบควบคุมประชาชน ประเทศเหล่านี้จึงไม่ได้อยู่บนหลักนิติธรรมหรือ Rule of Law ครับ หากแต่เป็นหลัก Rule of Man และ Rule by Law
"อันหมายถึงว่า เป็นการปกครองโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือควบคุมสังคม ตามดุลยพินิจและตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจในแต่ละระดับ โดยพวกเขามักอยู่เหนือความรับผิดรับชอบ และอยู่เหนือการต้องได้รับโทษอย่างยุติธรรม ในกรณีที่เป็นผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และกติกาสากลเสียเอง"
กัณวีร์ ยังอยากเห็นนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี สถาปนาหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่ นั่นคือการยกเลิกกฏหมายพิเศษที่กระทบกับชีวิตของประชาชน การใช้ พรก.ฉุกเฉินมาเกือบ 20 ปี มันมากเกินไปแล้ว หลักนิติธรรมต้องให้น้ำหนักกับสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้คน สิทธิในการแสดงออกทางการเมืองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ โดยไม่ถูกคุกคามจากอำนาจใดๆ และต้องมีมาตรการรับผิดรับชอบต่อกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐเองอย่างเสมอกันกับประชาชน
" การที่ท่านนายกรัฐมนตรี มิได้แถลงเรื่องนโยบายการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น อาจมีนัยยะที่ว่าท่านไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา หรือท่าน นายกรัฐมนตรีจะยังคงแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางที่ได้ดำเนินมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ที่ตั้งสมการการแก้ไขปัญหาที่ผิดพลาด เงิน 5 แสนล้านบาท ภาษีพี่น้องประชาชนคนไทยลงไป เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ท่าน นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องระดับสันติภาพปาตานีให้เป็นวาระแห่งชาติในรัฐบาลของท่าน เพราะเป็นความคาดหวังของประชาชนทั้งประเทศครับ"
กัณวีร์ หวังด้วยว่า การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะถูกยกเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเรามี สส. จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด เป็น สส.ในพรรคร่วมรัฐบาล และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่มาจากพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงฝากความหวังทั้งหมดผ่านไปยังท่านประธานรัฐสภาที่เคารพด้วย
"สุดท้ายนี้ได้แต่หวังว่า คำแถลงนโยบายของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องยอมรับคำวิจารณ์ว่าอาจเป็นนโยบายไม่ตรงปก ซึ่งก็ไม่แปลกใช่ไหมครับเพราะเป็นรัฐบาลไม่ตรงปก ซึ่งต้องพิสูจน์กันต่อไปครับว่าจะเป็นปกแข็งหรือปกอ่อน" กัณวีร์ ย้ำ