นวน เจีย อดีตผู้นำเขมรแดงอันดับ 2 ซึ่งถูกเรียกว่า 'พี่ชายหมายเลข 2' และผู้ต้องหาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2562 โดย 'เนต เพียกตรา' โฆษกของศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมรแดงของกัมพูชา (ECCC) เปิดเผยว่า 'นวน เจีย' สิ้นใจที่โรงพยาบาลมิตรภาพขแมร์โซเวียต กรุงพนมเปญ เมืองหลวงกัมพูชา ขณะมีอายุได้ 93 ปี
ด้านสำนักข่าวเอเอฟพี รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'ไล้กิมเซ็ง' ภรรยาของนวน เจีย ระบุว่า เธอได้อยู่ข้างสามีตลอดเวลาจนกระทั่งสิ้นใจ พร้อมระบุว่า หลังจากนี้ร่างของเขาจะถูกส่งไปประกอบพิธีฌาปนกิจที่จังหวัดไพลิน ทางตะวันตกของกัมพูชา
ส่วนเว็บไซต์อัลจาซีรารายงานว่า ทนายความที่เป็นตัวแทนของ 'นวน เจีย' ในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จะยื่นเรื่องดำเนินการให้ ECCC พิจารณาปิดคดีของนวน เจีย ที่ยังค้างในศาล ซึ่งเป็นคดีสืบเนื่องจากที่เขาถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชาเชื้อสายเวียดนามและชาวจามผู้นับถือศาสนาอิสลาม
ทั้งนี้ นวน เจีย ยอมรับสารภาพในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชาในสมัยที่รัฐบาลเขมรแดงปกครองประเทศขณะที่เขาถูกเบิกตัวขึ้นศาล ECCC เมื่อปีที่แล้ว และคณะตุลาการได้ตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแก่นวน เจีย
เดวิด แชนด์เลอร์ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนวน เจีย ในเว็บไซต์เดอะการ์เดียน โดยระบุว่า เขาถูกยกให้เป็นผู้นำสูงสุดอันดับ 2 ของเขมรแดง ในฐานะผู้วางแนวทางการปกครองกัมพูชาในรูปแบบรัฐคอมมิวนิสต์ เขาจึงเป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนแผนกวาดล้างเมือง
ในช่วงเขมรแดงปกครองกัมพูชาเมื่อปี 2519-2522 มีการออกคำสั่งอพยพประชาชนออกจากเขตเมืองเพื่อไปอยู่ในนิคมแถบชนบท ทำลายวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิม พรากครอบครัวให้แตกแยกจากกัน ทั้งยังบังคับใช้แรงงานประชาชนอย่างหนัก จนมีผู้เสียชีวิตราว 2 ล้านคน โดยมีสาเหตุหลักๆ จากการถูกทรมานและสังหารเพราะขัดขืนคำสั่งของเขมรแดง รวมถึงผู้ที่อดตายและป่วยตายจากการวินิจฉัยโรคผิดพลาด
แชนด์เลอร์ระบุว่า นวน เจีย เกิดเมื่อปี 2469 ในครอบครัวชาวจีนผู้มีฐานะซึ่งอาศัยอยู่ในพระตะบองสมัยที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของสยามในอดีต แต่เมื่อสยามเกิดข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับฝรั่งเศส จึงยอมยกพื้นที่เขมรบางส่วนให้ฝรั่งเศส รวมถึงพระตะบอง จนกระทั่งปี 2484 นวน เจีย เดินทางไปบวชเรียน และศึกษาต่อที่ 'พระนคร' หรือกรุงเทพฯ โดยได้เรียนด้านกฎหมายที่โรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำงานพิเศษที่หน่วยงานรัฐบาลของไทยอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งรายงานของนักวิชาการญี่ปุ่นที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ ระบุว่าเขาเคยทำงานให้กับกระทรวงการต่างประเทศของไทย
แม้แต่ในปี 2489 ซึ่งผู้ปกครองกัมพูชาในยุคอาณานิคมประกาศตั้งจังหวัดพระตะบอง นวน เจีย ก็ยังพำนักอยู่ในไทย และได้เข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย จนกระทั่งปี 2493 จึงเดินทางกลับกัมพูชา และได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนตามคำชักชวนของญาติ จากนั้นจึงได้รับโอกาสไปศึกษาต่อเกี่ยวกับอุดมการณ์ของพรรคในเวียดนามเป็นเวลากว่า 2 ปี และกลับกัมพูชาในปี 2498
หลังจากนั้น กัมพูชาต้องเผชิญกับความปั่นป่วนหลายระลอก ทั้งการรัฐประหารยึดอำนาจและสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพกัมพูชา เวียดนามใต้ เวียดนามเหนือ สหรัฐอเมริกา ทำให้ขบวนการคอมมิวนิสต์กัมพูชาเคลื่อนไหวยึดพื้นที่หมู่บ้านและเมืองต่างๆ เอาไว้ได้ นำ ไปสู่การบุกยึดกรุงพนมเปญจากรัฐบาลสาธารณรัฐกัมพูชาได้สำเร็จ เมื่อปี 2518 ทำให้กองกำลังเขมรแดงปกครองกัมพูชาในเวลาต่อมา
รัฐบาลเขมรแดงปกครองกัมพูชาได้ราว 4 ปี กลุ่มชาวกัมพูชาผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ลี้ภัยไปอยู่ที่เวียดนามก็ได้ร่วมมือกับกองทัพเวียดนาม นำกำลังบุกพนมเปญในเดือน ธ.ค.2521 และสามารถเอาชนะเขมรแดงได้ในวันที่ 7 ม.ค.2522 จึงถึงยุคล่มสลายของเขมรแดง
หลังจากนั้น แกนนำเขมรแดงจำนวนมากลี้ภัยไปกบดานตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จนกระทั่ง 'พล พต' อดีตผู้นำอันดับ 1 ของเขมรแดงถูกจับกุม และเสียชีวิตเมื่อปี 2541 ทำให้นวน เจีย 'แปรพักตร์' เข้าร่วมกับรัฐบาลกัมพูชาสมัยนั้น แลกกับการนิรโทษกรรม ทำให้เขาไม่ถูกจับกุม และได้ไปพำนักอยู่ที่จังหวัดไพลินกับสมาชิกครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนจำนวนมาก ทั้งในและนอกกัมพูชา ต่างมองว่าการกระทำของเขมรแดงในอดีตเข้าข่ายก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จึงนำไปสู่การจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีเขมรแดงของกัมพูชา (ECCC) ขึ้นในปี 2549 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ
ECCC ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 300 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 10,000 ล้านบาท) ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการทวงความยุติธรรมที่แพงที่สุดกรณีหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ แต่ ECCC ก็ยังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว
เมื่อเดือน พ.ย. 2561 คณะตุลาการของ ECCC ได้พิพากษาจำคุกตลอดชีวิตนวน เจีย และ 'เขียว สัมพัน' อดีตประมุขของประเทศในช่วงเขมรแดงครองกัมพูชา โดยนวน เจีย มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวจามมุสลิมและชาวกัมพูชาเชื้อสายเวียดนาม ส่วนนายเขียว สัมพัน มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเวียดนาม
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2553 'เกียง กึ๊ก เอียว' หรือสหายดุ๊ก อดีตผู้บัญชาการเรือนจำตวลเสลงในกรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นที่คุมขังและทรมานนักโทษของรัฐบาลเขมรแดง ถูกพิพากษาโทษจำคุกตลอดชีวิต และในปี 2555 'เอียง ซารี' จำเลยร่วมในคดี 'ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ' เสียชีวิตก่อนถึงกำหนดเปิดการไต่สวนในปี 2557
ส่วน 'เอียง ธีริธ' ภรรยาของเอียง ซารี และอดีตรัฐมนตรีด้านกิจการสังคมในสมัยเขมรแดง ถูกตัดสินว่าเธอมีสภาพจิตไม่พร้อมที่จะขึ้นให้การ และเสียชีวิตลงในปี 2558
อ่านเพิ่มเติม: