28 ก.ย. 2565 แสงเดือน ตินยอด หรือ วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง หญิงวัย 55 ปี ชาวบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง เข้ารับฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ณ ศาล จ.ลำปาง ในคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 80 คน ร่วมให้กำลังใจ
08.30 น. แสงเดือน ตินยอด ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายประชาชนอื่นๆ ตั้งขบวนหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. ข้างศูนย์ราชการ จ.ลำปาง และเดินขบวนไปยังศาล จ.ลำปาง เพื่อส่งแสงเดือนและทนายความเข้าฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ก่อนเข้าไปในศาล แสงเดือนได้กล่าวว่า หากตนไม่ได้ออกมา ขอฝากบอกประชาชนทุกคนที่เป็นกำลังใจว่าขอบคุณมาก เราได้ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว
ระหว่างนั้นประชาชนยังคงรออยู่ในบริเวณศาลลำปาง
10.30 น. ประชาชนได้รับแจ้งข่าวจากทนายความว่า ศาลฎีกามีคำสั่งให้รอลงอาญา 2 ปี ซึ่งหมายความว่าแสงเดือนนั้นไม่ต้องรับโทษจำคุก แต่ยังไม่มีรายละเอียดอื่นๆ ทางคดี จะออกมาแจ้งให้ทราบภายหลัง
12.00 น. แสงเดือน ตินยอด และ สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจำเลย ออกมาจากอาคารศาลจังหวัดลำปาง พูดคุยชี้แจงต่อประชาชนที่รอฟังผลคำพิพากษาอยู่ข้างนอก
12.10 น. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ รับขวัญแสงเดือน ตินยอด ตามประเพณีของคนภาคเหนือ เพื่อเรียกขวัญที่หายให้กลับคืนสู่ตัว รวมถึงให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองหลังจากนี้
แสงเดือน ตินยอด กล่าวหลังรับฟังคำพิพากษา โดยขอบคุณประชาชนที่ให้การสนับสนุน แม้จะไม่ติดคุก แต่การไม่ได้ที่ดินทำกินคืนก็ยังทำให้เสียใจ
“ในนามของผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ต้องขอขอบคุณพี่น้องที่มาให้กำลังใจ รู้สึกสบายใจและดีใจมาก มีพี่น้องเคียงข้างอยู่เสมอ วันนี้ดีใจมากที่ไม่ติดคุก แต่ก็ผิดหวังกับความอยุติธรรมที่ไม่ให้เราเข้าที่ทำกิน เพราะเราไม่มีที่ทำกินแล้ว” แสงเดือนกล่าว
กรณีแสงเดือน ตินยอด เกิดขึ้นตั้งแต่ชุมชนบ้านแม่กวัก ถูกประกาศป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ทับที่ทำกิน หลังจากนั้น กรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยได้โดยให้สิทธิ สทก.1 หลังจากนั้นมีการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ขณะที่ก็ยังมีการต่อใบอนุญาตทำกินให้ รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูกยางพารา จนหลังมีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือ ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ เธอจึงถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทและป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง บังคับให้ตัดฟันยางพาราของตนเอง 2 ครั้ง ในปี 2556 และ 2558 ก่อนจะถูกดำเนินคดีในปี 2561
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าแสงเดือนทำกินในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นป่าสงวนฯ และกำลังดำเนินตามนโยบาย ‘โฉนดชุมชน’ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 และยังได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 อย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนา และเรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 รวมทั้งให้แสงเดือน ออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง จนในวันนี้ (28 ก.ย. 2565) ศาลฎีกาได้มีการอ่านคำพิพากษาในที่สุด
ทนายย้ำแม้รอดคุก แต่คำพิพากษาไม่เป็นคุณแก่ชาวบ้าน
สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ในฐานะทนายความจำเลย ชี้แจงว่า ศาลยืนยันว่าที่ทำกินของแสงเดือน ตินยอด อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง อ้างว่า พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ได้ระบุแล้วว่าก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติได้มีการเปิดโอกาสให้ราษฎรไปคัดค้านแล้ว แต่ในระหว่างนั้นชาวบ้านไม่ได้ไปคัดค้านภายใน 120 วัน ถือว่าสละสิทธิ์ ซึ่งจากที่ทำกินมาจากรุ่นพ่อแม่ ศาลก็มองตามข้อกฎหมาย ก็ฟันว่ามีความผิด
รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 2541 และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ที่ศาลชั้นต้นได้ใช้ในการพิจารณายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นแค่นโยบาย ไม่สามารถหักล้างพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติได้ จึงยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำคุก 1 ปี ปรับ 400,000 บาท ดอกเบี้ยลดเหลือร้อยละ 5 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมในชั้นศาลอุทธรณ์ 7.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ให้รอลงอาญาเอาไว้ก่อน และมีค่าปรับในคดีอาญา 50,000 บาท ซึ่งแม้จะรอลงอาญา ซึ่งหมายความว่าไม่ต้องติดคุก แต่ก็ไม่ใช่คำพิพากษาที่เป็นคุณกับชาวบ้าน
“สะท้อนว่าคดีป่าไม้ตอนนี้ ถ้าสมัยรุ่นพ่อแม่ไม่เคยไปคัดค้านเขาจะถือว่าผิด ไม่ว่าจะยาวนานแค่ไหนศาลจะฟันว่าผิดอยู่ดี ซึ่งสำหรับผมเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงว่าไม่มีแนวนโยบายอะไรหรืออำนาจบริหารคุ้มครองได้ แล้วประชาชนจะเอาอย่างไร ฝ่ายนโยบายไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้ แล้วชาวบ้านอยู่ในนี้ต้องทำอย่างไร มันหมายความว่าหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะจับชาวบ้านคนไหนก็ได้เหมือนเดิม” สุมิตรชัยกล่าว
ทนายความของแสงเดือนย้ำว่า ศาลไม่ใช่ความหวังของประชาชน แต่ไม่ใช่ให้ประชาชนหมดหวัง มีความจำเป็นต้องเคลื่อนเรื่องนโยบายต่อ โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ซึ่งกรณีนี้ชัดเจนมากแล้วว่าในอนาคตจะหนักหน่วงมากหากไม่มีกฎหมายมารับรอง
ผู้แทน สกน.-ส.ส.ก้าวไกล ยันร่วมดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีป่าไม้-ที่ดิน
สมชาติ รักษ์สองพลู ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) กล่าวหลังทราบผลคำพิพากษาว่า แสงเดือนเข้ามาหาตนหลังโดนตัดยางพาราไปแล้ว บ้านแม่กวักเป็นบ้านที่โดดเดี่ยว จึงเข้าสู่สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ขบวนฯ ก็ทำทุกวิถีทางแล้วเท่าที่จะทำได้ ช่วงใกล้อ่านคำพิพากษานี้ตนนอนไม่หลับ เนื่องจากกังวลว่าถ้าแสงเดือนติดคุกขึ้นมาจะเป็นยังไง แต่ตอนนี้รู้สึกโล่งใจ
“กรณีของพี่แสงเดือนมันออกสู่พื้นที่สาธารณะ หลายพื้นที่โดนแบบนี้ แต่ไม่มีใครรับรู้ ผมดีใจกับพี่แสงเดือน เราคนยากคนจนมาด้วยกันวันนี้ นี่คือชัยชนะของภาคประชาชน มันเห็นแล้วว่ามันมีหนทางถ้าเรายังสู้” สมชาติกล่าว
หลังจากนี้ตัวแทน สกน. ยังกล่าวว่าแนวทางหลังจากนี้คือการผลักดันกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ เพื่อล้างมลทินและแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ถูกเขตป่าประกาศทับทั้งหมด ซึ่งถือว่าไม่ใช่แค่การต่อสู้เพื่อแสงเดือนหรือเครือข่าย สกน. และพีมูฟ แต่เป็นการสู้เพื่อประชาชนทั้งประเทศ
ด้าน มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ได้เดินทางมาให้กำลังใจแสงเดือนและเข้ารับฟังคำพิพากษา โดยได้กล่าวกับเครือข่ายประชาชนที่มาร่วมให้กำลังใจว่า การผลักดันกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมฯ เป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันหลังจากนี้ และในนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็จะร่วมผลักดันต่อไป
“วันนี้ถ้าหากพี่น้องทั่วประเทศอยู่ในพื้นที่หลวงแต่กฎหมายประกาศทีหลัง ชาวบ้านอยู่มาก่อน ชุมชนเขาอยู่ชอบด้วยมหาดไทยเพราะมีผู้ใหญ่บ้าน ชอบด้วยสาธารณสุขเพราะมีสถานีอนามัย ชอบด้วยศึกษาธิการเพราะมีโรงเรียน แล้วทำไมมาผิดที่กระทรวงทรัพยากรณ อันนี้มีปัญหา จึงเป็นเรื่องที่ผู้แทนราษฎรต้องแก้ปัญหาต่อไป” มานพกล่าว
สกน. แถลงดันข้อเรียกร้องสู่ประชาธิปไตยด้านที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ
ก่อนจบกิจกรรม สมชาติ รักษ์สองพลู ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้อ่านแถลงการณ์เรื่อง “ทวงคืนความเป็นธรรม ทวงคืนความเป็นคน ทวงคืนที่ดินและผืนป่าสู่มือประชาชน” โดยระบุว่า ภาพที่เห็นวันนี้ แสงเดือน ตินยอด หรือ วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ชาวบ้านแม่กวัก อำเภองาว จังหวัดลำปาง เป็นเพียงหญิงเกษตรกรคนหนึ่งที่ต้องเป็นเหยื่อเซ่นสังเวยนโยบายอันแสนป่าเถื่อน ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่เธอต้องทุกข์ทนจากการถูกเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บังคับให้ตัดฟันต้นยางพาราของตนเอง และเป็นเวลากว่า 4 ปี หลังเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเธอในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แม้จะปรากฏหลักฐานในระหว่างการต่อสู้ภายหลังว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กระบวนการยุติธรรมไทยก็มิได้ให้ความยุติธรรมแก่เธอ กลับยิ่งซ้ำเติมทำให้กระบวนการแย่งยึดที่ดินของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลเผด็จการทหารนั้นเสร็จสมบูรณ์
“แม้ในวันนี้ศาลฎีกาจะมีคำสั่งรอลงอาญา แต่ครอบครัวที่แตกแยก ที่ดินบรรพบุรุษที่สูญเสีย หนี้สินที่ทบทวี ลูกที่ต้องกระเด็นออกจากระบบการศึกษา และอาการซึมเศร้า ล้วนคือวิบากกรรมที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนนี้ และยังไร้หน่วยไหนเยียวยา” สกน. กล่าว
ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมในวันนี้ล้วน “ลวงโลก” ตั้งแต่วาทกรรมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับของ วราวุธ ศิลปอาชา นักการเมืองพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีสโลแกนว่า ‘รัฐมีป่า ประชามีสุข’ แต่ในความจริงมีแต่ความสุขของเหล่าชนนั้นนำ ซ้ำเติมทุกข์ให้คนจน
หลังจากนี้ สกน. ขอยืนยันข้อเรียกร้องด้านที่ดิน-ป่าไม้ ของพวกเราต่อไป ได้แก่
1. ผลักดัน “สิทธิชุมชนท้องถิ่น” ในการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามรัฐธรรมนูญให้บังคับใช้จริงในทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. ผลักดันการเปลี่ยนระบบกระบวนการยุติธรรมไปสู่ระบบที่สร้างความเป็นธรรมกว่าปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือการเร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ และในระหว่างรอการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านและเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรมและให้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้
3. ขจัดนโยบายและกฎหมายของเครือข่ายรัฐราชการอำนาจนิยมที่อาศัยการยึดอำนาจการปกครองผลักดันกฎหมายนอกกลไกประชาธิปไตยและผลักดันการสังคายนากฎหมายที่ดิน-ป่าไม้ด้วยอำนาจของประชาชน โดยต้องยกเลิก พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ออกมาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้ภาคประชาชนได้ร่างกฎหมายจัดการทรัพยากรโดยชุมชนเอง
4. ขจัดอำนาจผูกขาดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หยุดแนวนโยบายการ “ฟอกเขียว” อ้างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วมาแย่งยึดที่ดิน ปลูกป่าทับที่ทำกินของชุมชน
ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างประชาธิปไตยในการจัดการที่ดิน-ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเรามี ‘รัฐธรรมนูญใหม่’ ที่ร่วมกันเขียนโดยประชาชน เพื่อประชาชน มีความเป็นประชาธิปไตย
“เราขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทั้งหลายที่ติดตามและสนับสนุนพวกเราบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของแสงเดือน ตินยอด มาอย่างต่อเนื่อง และเรายืนยันว่าเราจะไม่ยอมแพ้ แต่จะเดินหน้าต่อสู้เพื่อจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ให้ถึงที่สุด และขอประกาศเชิญชวนพี่น้องผู้รักความเป็นธรรมทุกคนร่วมกับพวกเราหลังจากนี้ ทวงคืนความเป็นธรรม ทวงคืนความเป็นคน ทวงคืนที่ดินและผืนป่าสู่มือประชาชนอย่างแท้จริงให้จงได้” สกน. ย้ำ