ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการรายงานยืนยันการแพร่ระบาดของไวรัสมาร์บวร์ก ในพื้นที่นอิเควทอเรียลกินี แถบแอฟริกากลาง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีไวรัสดังกล่าวอุบัติขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว ด้วยการตรวจพบผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 16 ราย และผู้เสียชีวิตอีก 9 ราย

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีใกล้ชิดกับไวรัสอีโบลา อย่างไรก็ดี วัคซีนไวรัสมาร์บวร์กกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา หลังจากการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในแอฟริกาตะวันตกเมื่อปี 2557 จนส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 28,000 รายและเสียชีวิตกว่าอีก 11,000 ราย ทั้งนี้ ยาและวัคซีนป้องกันอีโบลาได้รับการพัฒนาขึ้นแล้ว 

มีการคาดหวังว่าจากประสบการณ์ในการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 ประสบการณ์ดังกล่าวอาจถูกนำมาช่วยให้การพัฒนาวัคซีนและยาต่อต้านไวรัสมาร์บวร์กได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 

ไวรัสมาร์บวร์กคืออะไร?

ไวรัสมาร์บวร์ก เป็นไวรัสกลุ่ม “ฟิโลไวรัส” (Filovirus) เช่นเดียวกันกับเชื้อไวรัสลูกพี่ลูกน้องของมันอย่างไวรัสอีโบลา โดยพวกมันเป็นกลุ่มเชื้อไวรัสไข้เลือกออก ทั้งนี้ ฟิโลไวรัสเป็นเชื้อไข้เลือดออกที่สามารถทำให้ผู้ติดเชื้อเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับไข้เลือดออกจากไวรัสทั่วไป เช่น ไข้เลือดออก ไข้เหลือง และไข้ลาสซา 

การระบาดครั้งแรกของไวรัสมาร์บวร์กเกิดขึ้นในปี 2510 ในคนงานจากห้องปฏิบัติการที่เยอรมนีและยูโกสลาเวีย ซึ่งทำงานร่วมกับในการทดลองกับลิงเขียวแอฟริกันที่นำเข้ามาจากยูกันดา โดยไวรัสมาร์บวร์กถูกตรวจพบในห้องทดลองในเมืองมาร์บวร์ก ประเทศเยอรมนี

นับแต่นั้นเป็นต้นมา การระบาดของไวรัสมาร์บวร์กเกิดขึ้นในไม่กี่ประเทศที่แอฟริกา ซึ่งอุบัติขึ้นไม่บ่อยเท่าไวรัสอีโบลา ทั้งนี้ การระบาดของไวรัสมาร์บวร์กครั้งใหญ่ที่สุด เกิดขึ้นในแองโกลาเมื่อปี 2548 โดยในครั้งนั้นมีผู้ติดเชื้อ 374 ราย และผู้เสียชีวิต 329 ราย

โฮสต์หรือแหล่งของเชื้อตามธรรมชาติของไวรัสมาร์บวร์กมีอยู่ในค้างคาวผลไม้ แต่มันสามารถแพร่เชื้อให้กับสัตว์วงศ์วานร หมู และสัตว์อื่นๆ ได้เช่นกัน ทั้งนี้ การระบาดของไวรัสมาร์บวร์กในมนุษย์เกิดขึ้นได้ จากการที่่มีบุคคลสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดระหว่างผู้คนส่วนใหญ่เกิดขึ้นผ่านการสัมผัสโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการสัมผัสของเหลวในร่างกาย และมันจะก่อให้เกิดอาการป่วย อาทิ โรคอีโบลา ด้วยอาการมีไข้ ปวดศีรษะ และรู้สึกไม่สบาย ตามมาด้วยการอาเจียน ท้องเสีย และปวดเมื่อยตามตัว ผู้ป่วยจะมีเลือดออกตามมาประมาณ 5 วันต่อมา และในบรรดาผู้ที่ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตได้ถึง 90%

ควรกังวลมาน้อยเพียงใด?

เช่นเดียวกับไวรัสอีโบลาในปี 2557 ความน่ากังวลคือไวรัสมาร์บวร์กอาจแพร่กระจาย และกลายเป็นโรคระบาดที่ใหญ่กว่ามาก ซึ่งอาจเกิดการแพร่กระจายไปทั่วโลก ผ่านการเดินทางท่องเที่ยวไปในต่างประเทศ โดยในปี 2557 กรณีผู้ติดเชื้ออีโบลาได้แพร่กระจายจากกินีไปยังไลบีเรียและเซียร์ราลีโอนกรณีส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน 3 ประเทศนี้ แต่กรณีการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเกิดขึ้นในอีก 7 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ หากจำนวนผู้ป่วยไวรัสมาร์บวร์กมีเพิ่มขึ้นในอิเควทอเรียลกินีหรือในแคเมอรูน ซึ่งปัจจุบันมีการแพร่ระบาดไปแล้ว หรือถ้าหากมันยังแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ได้ ทุกประเทศทั่วโลกควรตื่นตัวต่อการแพร่ระบาดของไวรัสมาร์บวร์กในครั้งนี้

จากกรณีตัวอย่างนั้น ความล้มเหลวในการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกจากไวรัสในประเทศที่ไม่คุ้นเคย อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตของประชาชนในประเทศนั้นๆ ได้ โดยก่อนหน้านี้ มีการวินิจฉัยโรคอีโบลาในครั้งแรกที่ผิดพลาดจากผู้เดินทางออกจากแอฟริกาตะวันตก มายังเมืองดัลลัส มลรัฐเท็กซัส ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดสูงสุดเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นพยาบาลคนหนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยในไนจีเรียมีกรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นเช่นกัน แต่มันส่งผลให้เกิดการระบาดของโรค และมีผู้เสียชีวิตตามมาหลายราย

โลกยังมีความรู้เกี่ยวกับไวรัสมาร์บวร์กที่ค่อนข้างน้อยมากกว่าไวรัสอีโบลา ซึ่งได้รับการศึกษาอย่างดีระหว่างการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในปี 2557 ทั้งนี้ มันอาจติดเชื้อได้น้อยกว่าอีโบลา แต่มันยังมีการระบาดน้อยกว่าที่จะประเมินได้ อย่างไรก็ดี อัตราการเสียชีวิตที่สูง การขาดการรักษาและวัคซีนที่มีอยู่ และบทเรียนจากการระบาดของไวรัสอีโบลาในปี 2557 ควรกระตุ้นให้โลกหาแนวทางป้องกันมันไว้ก่อน

จะหยุดการแพร่ระบาดได้อย่างไร?

ในขณะที่นักวิจัยจะทดลองวัคซีนไวรัสมาร์บวร์ก ที่กำลังพัฒนาเพื่อต่อต้านโรคระบาดนี้ มาตรการที่ไม่ใช่ตัวยายังคงเป็นความหวังที่ดีที่สุด ในการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว กล่าวคือโลกจำเป็นจะต้องมีการเฝ้าระวังและการตรวจหาผู้ติดเชื้อ การค้นหาและแยกผู้ป่วย การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด และการกักกันผู้สัมผัสเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่ดีเยี่ยม

โครงสร้างพื้นฐานและการวางแผนสำหรับการระบาดอาจต้องมีในจำนวนมาก รวมถึงสถานที่ทางกายภาพสำหรับแยกและกักกัน ทั้งนี้ ในช่วงที่ไวรัสอีโบลาแพร่ระบาดในไนจีเรีย การตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้อาคารร้างเพื่อแยกและรักษาผู้ป่วย ถูกนำมาใช้แทนที่จะนำผู้ป่วยเข้าพักในโรงพยาบาล ซึ่งจะเสี่ยงต่อการระบาดในโรงพยาบาลเอง

ความสำคัญของการหาตัวและแยกผู้ป่วย ที่ถูกพบในแอฟริกาตะวันตกเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ขาดเตียงรักษาในโรงพยาบาล ส่งผลให้มีอัตราผู้คนเสียชีวิตบนท้องถนนและการแพร่ระบาดที่ย่ำแย่ลง ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าหากผู้ติดเชื้อ 70% หรือมากกว่านั้นถูกแยกตัวอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล การแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้โดยไม่ต้องใช้ยาหรือวัคซีนใดๆ อย่างไรก็ดี อัตราการระบาดเกิดขึ้นได้ช้ามาก เมื่อโรงพยาบาลสนามถูกสร้างขึ้น เพื่อจัดการปัญหาการขาดแคลนเตียงในโรงพยาบาล

การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อฟิโลไวรัส นอกจากนี้ การฆ่าเชื้อโรคและการกำจัดของเสียทางชีวภาพอย่างปลอดภัยก็มีความสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ดี การจัดงานศพที่ต้องมีการล้างทำความสะอาดร่างผู้เสียชีวิต ตามวิธีปฏิบัติทางวัฒนธรรม สามารถสร้างความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การส่งเสริมสุขภาพและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับวัฒนธรรม เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะทำให้มั่นใจว่าทุกขั้นตอนเป็นไปตามมาตรการด้านสุขภาพ โดยในช่วงที่ไวรัสอีโบลาแพร่ระบาดเมื่อปี 2557 ทีมงานที่พยายามสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับไวรัสอีโบลา ถูกสังหารโดยคนในท้องถิ่นที่กลัวการแพร่ระบาดและไม่ไว้วางใจชาวต่างชาติ บทเรียนเหล่านี้ควรนำมาทบทวนอีกครั้ง หลังจากการเริ่มแพร่ระบาดของไวรัสมาร์บวร์กในครั้งนี้

ทั้งไวรัสมาร์บวร์กและไวรัสอีโบลาสามารถคงอยู่ในร่างกายได้ แม้จะเป็นช่วงภายหลังจากการฟื้นตัวแล้วก็ตาม โดยมันสามารถอยู่ในอวัยวะและของเหลวต่างๆ รวมทั้งน้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด ดวงตา และบริเวณอื่นๆ ซึ่งหมายความว่า เชื้อไวรัสจะสามารถแพร่ระบาดจากผู้รอดชีวิตในมนุษย์ได้ แทนที่จะเป็นจากสัตว์เพียงอย่างเดียว

สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีระบบการเฝ้าระวังโรคที่ไม่เข้มแข็งพอ ข้อมูลการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วผ่านการใช้ฐานข้อมูลแบบเปิด จะสามารถช่วยตรวจจับสัญญาณการระบาดได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ฐานข้อมูลเปิดดังกล่าวจะถูกใช้ในการรายงานข่าว ทั้งบนโซเชียลมีเดีย และข้อมูลอื่นๆ ได้ เพื่อการค้นหารูปแบบที่อาจบ่งบอกถึงการระบาดของโรคบางชนิดในบางพื้นที่ หลักฐานก่อนหน้านี้ชี้ว่า โลกสามารถตรวจพบไวรัสอีโบลาในการแพร่ระบาดบริเวณพื้นที่แอฟริกาตะวันตกเมื่อหลายเดือนก่อน ผ่านการวิเคราะห์โพสต์บนทวิตเตอร์ ที่พูดถึงอาการของโรคในพื้นที่ดังกล่าว

หากการแพร่ระบาดในปัจจุบันยังคงแพร่กระจายและควบคุมได้ไม่ดี องค์การอนามัยโลก (WHO) อาจประกาศให้การระบาดของไวรัสมาร์บวร์กเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” เช่นเดียวกับที่เกิดการระบาดของโรคอีโบลาในปี 2562 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

โดยสำหรับตอนนี้ โลกมีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคอีโบลา ที่ควบคุมได้ไม่ดีในปี 2557 ซึ่งสามารถนำมาปรับปรุงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสมาร์บวร์กได้ และเราได้แต่หวังว่าโลกจะควบคุมการระบาดของไวรัสมาร์บวร์กในระยะนี้ได้โดยเร็ว


ที่มา:

https://theconversation.com/what-is-marburg-virus-and-should-we-be-worried-200082