สำนักข่าวไทย รายงาน นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวถึงเรื่องการเสนอผ่อนผันเปิดเรียนโรงเรียนนานาชาติวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้จัดทำข้อเสนอทบทวนการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนเอกชน ประเภทนานาชาติไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยข้อมูลมาตรการป้องกันโควิด-19 ในโรงเรียนเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ขณะนี้รอการพิจารณาอนุมัติ หากได้รับความเห็นชอบ ก็จะออกประกาศในวันที่ 29 พ.ค. เพื่อทำการเปิดเรียนในวันจันทร์ที่ 1 มิ.ย. 2563
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย มีจำนวนถึง 216 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2552 เป็นเท่าตัว มีการจัดการเรียนการสอนแตกต่างกันไปตามหลักสูตรของแต่ละที่ แบ่งเป็นแบบเปิดสอน 2 ภาคเรียน จำนวน 81 แห่งและเปิดสอน 3 ภาคเรียน จำนวน 135 แห่ง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาโรงเรียนนานาชาติได้รับความนิยมมากขึ้น และมีแนวโน้มในการขยายสู่ภูมิภาคมากขึ้นด้วย โดยการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนานาชาติ จะมีการเปิดภาคเรียนที่ 1 อยู่ในช่วงเดือน พ.ค. – มิ.ย. จำนวน 11 แห่ง เป็นภาคเรียนที่ 3 จำนวน 201 แห่ง ส่วนในเดือน มิ.ย. จะเป็นเดือนสุดท้ายของปีการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติจำนวน 201 แห่ง และเดือน ก.ค. จะเป็นเดือนของการปิดภาคเรียน จำนวน 197 แห่ง
ดังนั้น หากการเปิดภาคเรียนตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการในวันที่ 1 ก.ค. อาจทำให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับโรงเรียนนานาชาติ จึงเป็นสาเหตุของการขอผ่อนผันให้โรงเรียนนานาชาติสามารถทำการเปิดเรียนได้ตั้งแต่ 1 มิ.ย.
ขณะเดียวกันโรงเรียนนานาชาติ ยังมีปัจจัยความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับมาตรการป้องการโรคโควิด–19 ได้แก่ มีนักเรียนต่อห้อง 20-25 คน (ส่วนใหญ่ 10-20คน) มีพื้นที่โรงเรียนกว้าง มีห้องเรียนห้องกิจกรรม เพียงพอ มีจำนวนครู-บุคลากรต่อนักเรียนเฉลี่ย 1:10 (อนุบาล 1:7)
นอกจากนี้ นักเรียนต่างชาติของโรงเรียนนานาชาติทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้พำนักอยู่เดิมในไทยอย่างต่อเนื่องทำให้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และโรงเรียนมีระบบสอน ออนไลน์อยู่แล้ว ทำให้นักเรียนเข้ามาในโรงเรียนช่วงสั้นๆ สามารถติดตามนักเรียนได้ง่ายในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพ
และเพื่อลดผลกระทบทางธุรกิจและสังคม เนื่องจากในเดือนมิถุนายนจะเป็นเดือนสุดท้ายของปีการศึกษาโรงเรียนนานาชาติทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ใช้หลักสูตรเดียวกันทำให้จำเป็นต้องปรับช่วงเวลาให้ตรงกับหลักสูตรของต่างประเทศด้วยและผู้ปกครองไม่ยอมรับการสอนแบบออนไลน์ตลอดภาคเรียน แต่ต้องการแบบผสมผสาน (hybrid) ทำให้ชะลอการจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน จนทำให้เกิดการฟ้องร้องขอเงินค่าธรรมเนียมการเรียนคืน และมีการร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก