เหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเปรู แต่ก็เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยเฉพาะบริเวณทะเลสาบฮูนินที่ครอบคลุมพื้นที่ตอนกลาง และทางตะวันตกของประเทศ
ขณะนี้ ทีมวิจัยในเปรูได้ทดสอบการใช้จุลสาหร่าย (microalgae) ชำระมลพิษในตัวอย่างน้ำปนเปื้อนจากทะเลสาบฮูนินเป็นผลสำเร็จ โดยสาหร่ายได้ดูดซับแร่เหล็กที่เป็นมลพิษไว้ และทางทีมมีแผนจะเพิ่มจำนวนก่อนปล่อยกลับสู่ทะเลสาบ เพื่อขจัดมลพิษต่อไป
เอนอค ฆารา (Enoc Jara) หัวหน้าทีมสำรวจจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติซานมาร์กอส (National University of San Marcos) กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ในทุกๆ สองปีจะมีการป้อนสารอาหารให้จุลสาหร่าย เพื่อให้พวกมันแข็งแรง และสามารถดูดซับแร่ที่เป็นมลพิษได้
สาหร่ายเหล่านี้จะได้รับไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในห้องแล็บลิมบา (Limba) ก่อนจะปล่อยกลับคืนสู่ทะเลสาบและแม่น้ำที่ปนเปื้อนมลพิษ
“ตอนนี้เรากำลังพยายามเพิ่มจำนวนจุลสาหร่ายที่ได้รับการเสริมกำลังให้ได้ในปริมาณมาก” ฆารา ผู้ศึกษาการใช้เห็ด พืช และเอนไซม์ในการลดมลพิษในพื้นดินและผืนน้ำในช่วงสิบปีที่ผ่านมา กล่าว
ฆารา ชี้ว่า สาหร่ายได้พิสูจน์ตัวเองในห้องแล็บแล้วว่ามันสามารถกรำศึกหนักกับจุลินทรีย์จากทะเลสาบฮูนินที่ปนเปื้อนมลพิษได้
ทะเลสาบฮูนิน คือทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในพรมแดนเปรู ทอดตัวเป็นทางยาวถึง 200 กิโลเมตร ในระดับความสูง 4,000 เมตร อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของลีมา (Lima) เมืองหลวงของเปรู ทะเลสาบที่มีพื้นที่ 530 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ เป็นทะเลสาบที่ปนเปื้อนมลพิษมากที่สุด โดยเป็นผลมาจากสารตกค้างจากแร่
การทำเหมืองทองคำ ซึ่งส่วนใหญ่นั้นลอบทำโดยผิดกฎหมาย เป็นสาเหตุของมลพิษที่ร้ายแรงที่สุดในเปรู ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตทองคำรายใหญ่เป็นอันดับหกของโลก
แร่ชนิดอื่นๆ ที่มีการขุดเหมืองกันในเปรู ได้แก่ สังกะสี เหล็ก และทองแดง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีจำนวนมากที่สุดของเปรู โดยมีปริมาณถึง 2.4 ล้านตัน ในปี 2018
หลังจากความสำเร็จครั้งแรกในห้องแล็บที่ลีมา ขั้นตอนต่อไปคือการประเมินประสิทธิภาพของสาหร่ายในการชำระมลพิษในทะเลสาบฮูนิน และจะมีการทำแบบเดียวกันกับแม่น้ำ ซาน ฆวน (San Juan) แม่น้ำซึ่งไหลมารวมกับทะเลสาบฮูนิน ซึ่งก็มีสีเปลี่ยนไปเพราะมลพิษเช่นกัน
"เรามีผลการทดสอบที่ดีในห้องแล็บแล้ว จากการทดสอบชำระน้ำปนเปื้อนมลพิษจากทะเลสาบ สาหร่ายได้ดูดซับแร่เหล็กชนิดต่างๆ เข้าไป" ฆารา กล่าว
ที่ทะเลสาบแห่งนี้ มีสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำพื้นที่อยู่สองชนิด คือ นกเป็ดผีฮูนิน นกน้ำบินไม่ได้ที่มีดวงตาสีแดงโดดเด่น พบได้เฉพาะในทะเลสาบแห่งนี้ และกบน้ำยักษ์ ซึ่งพบในที่สูงบริเวณเทือกเขาแอนดีสในฝั่งเปรู ทว่าสัตว์ท้องถิ่นทั้งสองสายพันธุ์กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพราะมลพิษ
ลูอิส คาสทิลโล (Luis Castillo) นักนิเวศวิทยาจากกรูโปรานา (Grupo Rana) กลุ่มเอ็นจีโออนุรักษ์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในเปรู กล่าวกับเอเอฟพีว่า กบยักษ์เผชิญกับภัยจำนวนมากทั้งผลพิษจากการทำเหมืองแร่ น้ำเน่าเสีย และการล่าเพื่อบริโภค
อลัน ชามอร์โร (Alan Chamorro) จากอีโคอัน (ECOAN) เอ็นจีโออีกกลุ่มหนึ่ง กล่าวว่า นกเป็ดผีฮูนินกำลังถูกคุกคามอย่างร้ายแรง โดยทางทุ่มอีโคอันนับจำนวนนกชนิดนี้ได้เพียง 350 ตัว ซึ่งนกสายพันธุ์นี้กำลังฟื้นตัวจากจำนวน 50 ตัว ในปี 2000
เซอร์โร เดอ ปาสโก หนึ่งในเมืองที่สูงที่สุดในโลก ที่ระดับความสูง 4,350 เมตร เป็นเมืองหลักในการทำเหมืองแร่ของเปรู แต่ขณะนี้กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเปรู
ณ ใจกลางเมืองแห่งนี้ มีหลุมยาวเกือบ 2 กิโลเมตร กว้าง 1 กิโลเมตร และลึก 500 เมตร ที่เป็นผลจากการทำเหมือง ซึ่งก่อมลพิษต่อทะเลสาบฮูนิน
สำหรับขั้นตอนสุดท้ายในการปรับสภาพน้ำให้กลับมาบริสุทธิ์อีกครั้งด้วยการปล่อยสาหร่ายคืนสู่ทะเลสาบฮูนินนั้น ทีมวิจัยยังคงต้องการทุนสนับสนุน
"ถ้าเราได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น หรือจากบริษัทเหมืองแร่ในภูมิภาคปาสโกซึ่งปล่อยสารพิษสู่แม่น้ำซึ่งไหลลงสู่ทะเลสาบแห่งนี้ เราก็จะสามารถชำระล้างมลพิษได้ภายใน 10 ปี" ฆารา กล่าว
วิธีการชำระมลพิษด้วยสาหร่ายอาจสามารถใช้กับทะเลสาบติติกากา (Lake Titicaca) ทะเลสาบน้ำจืดที่สามารถเดินเรือทางพาณิชย์ได้ที่สูงที่สุดในโลก และเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเปรูโดยกินพื้นที่คาบเกี่ยวไปยังพรมแดนของประเทศโบลิเวีย