นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ช่วงครึ่งหลังปี 2562 เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยง ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ รวมถึงเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่และความสามารถในการบริหารประเทศจะเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากดำเนินการไปได้ด้วยดีอาจจะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ และการผ่านงบประมาณปี 2563 โดยในระยะสั้นอยากให้รัฐบาลเน้นกระตุ้นการบริโภค ด้วยการอัดฉีดเงินในระบบเศรษฐกิจที่คาดว่าจะอยู่ที่ 80,000 ถึง 100,000 ล้านบาท
ส่วนระยะกลางขอให้เน้นแก้โครงสร้างเพิ่มการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และผลักดันการท่องเที่ยว
ส่วนประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขอให้รัฐบาลศึกษาอย่างรอบคอบ และออกมาในช่วงที่เหมาะสม คือในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง หรือหลังปี 2562 เพราะหากผลักดันในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ไม่คิดว่าจะเป็นผลต่อระบบเศรษฐกิจ
"นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกร้อยละ 20 ของรัฐบาล ยังเป็นเรื่องที่จะต้องดูในรายละเอียด เพราะมีข้อดีคือจะทำให้การจ้างงานดีขึ้น แต่ถ้าทำในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ในเวลาที่เศรษฐกิจไม่แข็งแรงพอ จะซ้ำเติมต้นทุนของผู้ประกอบการ และอาจเป็นด้านลบกับเศรษฐกิจ การจะหวังให้กำลังซื้อฟื้นจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจไม่เกิดขึ้น" นายทิม กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.3 โดยคาดหวังว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 จีดีพีจะขยายตัวมากที่สุด ขณะที่ในปี 2563 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :