1. ศิษย์เก่าผู้มีชื่อเสียง-ประชาชนทั่วไป แบ่งเป็นสองฝ่ายทั้งสนับสนุนและคัดค้านมติดังกล่าว โดยมีประเด็นโต้เถียงกันใน 2 เรื่องหลักคือ การวิจารณ์พระเกี๊ยว กับ การวิจารณ์กระบวนการอัญเชิญพระเกี้ยว (หามเสลี่ยง) การถกเถียงดังกล่าวทำให้คำที่เคยตกยุคไปแล้วอย่าง ‘ศักดินา’ ปรากฏอยู่เต็มหน้าสื่อและพื้นที่สังคมออนไลน์
2. พระเกี้ยว เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว หากเป็นคำนามแปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก เว็บไซต์หอประวัติศาสตร์จุฬาฯ ระบุว่า การอัญเชิญตราสัญลักษณ์นี้เข้ามาในขบวนพาเหรดของงานฟุตบอลประเพณีฯ ที่เก่าแก่ที่สุด พบข้อมูลจากหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับ 28 ธ.ค.2507 โดยมีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่ง ร.9 ได้พระราชทานให้จุฬาฯ ในปี 2532
3. อดีตคนจุฬาฯ จำนวนไม่น้อยระบุว่า การอันเชิญพระเกี้ยวเป็นการแสดงความกตัญญูต่อรัชกาลที่ 5 ผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยเพื่อ 'ประชาชน' ซึ่งทำให้คนทั่วไปมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาชั้นสูง แต่เรื่องนี้ก็มีที่มาที่ไปทางประวัติศาสตร์ที่อาจยังเป็นข้อถกเถียงหรือรับรู้เพิ่มเติมได้อีกมาก ขณะที่คนบางส่วนระบุว่า ประเพณีดังกล่าวเป็น 'รากเหง้า' ของชาวจุฬาฯ เมื่อดูประวัติศาสตร์แล้ว 'ราก' ซึ่งโดยทั่วไปย่อมหมายถึงการกำเนิดจากพื้นดินเจริญเติบโตแทงยอดสู่ฟ้า แต่รากของจุฬาฯ ดูจะถือกำเนิดจากฟ้า และปัจจุบันอาจกำลังเติบโตลงสู่ดิน
4. จุฬาฯ นับเป็น 'สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรก’ ของไทย ถือกำเนิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีรากฐานมาตั้งแต่ 2442 ตามพระราชดำริรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคที่มีการปฏิรูประบบราชการขนานใหญ่ แรกเริ่มเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งล้วนเป็นลูกหลานขุนนางใหญ่โตที่ส่งมารับใช้ใกล้ชิดกษัตริย์ จนเมื่อ ร.5 สวรรคตได้ 2 เดือน ร.6 ได้ขยายให้เป็น 'โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว' แบ่งเรียนเป็นศาสตร์สำคัญแขนงต่างๆ ตามแบบฝรั่งเศส เยอรมนนี ก่อนจะได้ชื่อเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2459
5. นนทพร อยู่มั่งมี เคยเขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับมีนาคม 2560 ว่า หลังจากการปฏิรูประบบราชการของ ร.5 ทำให้ต้องการผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้ในงานราชการแบบใหม่จำนวนมาก และเป็นแรงผลักดันสำคัญให้มีการขยายโอกาสการศึกษาด้วยการตั้งโรงเรียน
สอดคล้องกับข้อมูลจาก หนังสือ 'ภาษาเจ้า ภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5' ที่ตอนหนึ่งอธิบายถึงสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนไป อันนำไปสู่การ 'ค่อยๆ' เกิดสถาบันการศึกษาขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยระบุว่า ในสมัยร.4 ประเทศไทยสัมพันธ์กับโลกตะวันตกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มีการทำสัญญาเปิดเสรีทางการค้ากับต่างชาติ ภาษาอังกฤษและความรู้ในวิทยาการใหม่ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คนไทยกลับขาดแคลนความรู้ดังกล่าว ทำให้ในสมัย ร.4 ต้องอาศัยคนต่างชาติมาช่วยทำราชการแทนถึง 84 คนและเพิ่มขึ้นมากในสมัย ร.5 จนเริ่มลดลงในสมัย ร.6 ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นตลอดการเรียนประวัติศาสตร์ว่า ที่ปรึกษาชาวต่างชาติของกษัตริย์มีบทบาทนำเสนอหรือสนองพระราโชบายในหลายเรื่องสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของชาติ
6. การปฏิรูประบบราชการ ไม่ใช่เรื่องง่าย รัชกาลที่ 5 ซึ่งขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ต้องใช้ความพยายามยามยาวนานเพราะไม่มีกำลังสนับสนุนมากพอ เพิ่งมาสำเร็จได้ในราวปี 2426 เป็นต้นมา หลังจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ขุนนางผู้กุมพลังทางการเมืองคนสำคัญเสียชีวิตลง การเก็บภาษี การตัดสินคดีความ และการดำเนินภารกิจต่างๆ ที่เคยกระจัดกระจายตามวงศ์ตระกูลขุนนางก็มารวมศูนย์ที่ส่วนกลางอย่างเป็นระบบ
7.ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 มีความพยายามขยายการศึกษา แต่ก็เป็นไปแบบ 2 ระดับคือ ระดับของประชาชนทั่วไปเพียง 'อ่านออกเขียนได้' โดยให้พระสอน กับ ระดับสูงกว่า สำหรับผู้ต้องการเข้าสู่งานราชการ อีกทั้งในการเรียนเพื่อเป็นข้าราชการยังมีแบบที่เรียนภาษาอังกฤษและไม่ได้เรียนด้วย โดยผู้เรียนต้องออกค่าใช้เองส่วนหนึ่ง เรียกว่าการศึกษายังคงจำกัดอยู่ในหมู่อภิสิทธิ์ชนอย่างมาก
8. สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แรกเริ่มยังไม่มีตำแหน่งอธิการบดี แต่เรียกว่า 'ผู้บัญชาการ' จนเปลี่ยนมาเป็นอธิการบดีเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
9. หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 หนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎรคือ "จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร" รัฐบาลประกาศแผนการศึกษาศึกษาแห่งชาติหลังการปฏิวัติไม่นาน สานต่อภารกิจการศึกษาระดับประถมศึกษาที่ทำไว้ค่อนข้างดีในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้ขยายระดับมัธยมศึกษา อาวชีวะศึกษาไปทั่วประเทศ รวมถึงตั้ง 'ตลาดวิชา' มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี 2477 ทำให้มีคนสำเร็จการศึกษาระดับสูงเพิ่มขึ้นอย่างมาก
หนังสือ 'ราษฎรสามัญ หลังการปฏิวัติ 2475' ระบุว่า สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประถมศึกษามาตั้งแต่ปี 2464 ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงก่อนการปฏิวัติ 2475 สามารถขยายตำบลที่มีโรงเรียนระดับประถมได้ร้อยละ 83 ต่อมาคณะราษฎรได้ขยายจนเต็มพื้นที่ และยังส่งเสริมการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และการอาชีวะไปจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งยังสนับสนุนการดำเนินกิจการของโรงเรียนราษฎร์ไม่ว่าของชาวจีนหรือมิชชันนารีตะวันตกด้วย
10. เกร็ดประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่ยังคงถกเถียงกันจนปัจจุบัน คือ ที่ดิน มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็น 'เจ้าที่ดิน' ขนาดใหญ่ในปัจจุบัน มีที่ดินสำหรับใช้สอยและหารายได้เชิงพาณิชย์รวมกันกว่า 1 พันไร่ และเดิมทีเป็นการเช่าที่ของกษัตริย์
หอประวัติศาสตร์จุฬาฯ ระบุข้อมูลว่า "ที่ดินดังกล่าวยังมีภาระผูกพันแต่เดิมซึ่งยังเพิกถอนในทันทีไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาวิทยาลัยได้เช่าพอเป็นแบบพิธี และต่อมาภายหลังรัชกาลของพระบาทสมเด็กพระปรเมนมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้มีการตราพระราชบัญญัติโอนที่ดินอันเป็นกรรมาสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2484 เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพรมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะให้มหาวิทยาลัยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงใหญ่ผืนนี้ เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษาและจัดหาผลประโยชน์บำรุงมหาวิทยาลัยทำนองเดียวกันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศหลายแห่ง"
มีเรื่องต้องทำความเข้าใจ 2 ประการ หนึ่ง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการจัดระบบทรัพย์สินกษัตริย์โดยแบ่งแยกเป็นส่วนพระองค์กับส่วนของแผ่นดินคือ ทรัพย์สินส่วนส่วนพระมหากษัตริย์ (ปัจจุบันมีการแก้กฎหมายแล้ว) สอง การโอนที่ดินให้จุฬาฯ อย่างเป็นทางการนี้เกิดในสมัยที่ ร.8 ยังทรงพระเยาว์และประทับอยู่สวิตเซอร์แลนด์ จึงมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การโอนที่ดินให้จุฬาฯ ดำเนินการภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยการตั้งเรื่องจากกระทรวงการคลังซึ่งมีปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ราชสำนักเคยโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อ 10 มีนาคม 2560 ระบุว่า
"รัฐบาลคณะราษฎร (จอมพล ป. นายก, ปรีดี รมต.คลัง) ยกที่ดินตำบลปทุมวัน ให้เป็นของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (พ.ศ.๒๔๘๒)
มีมิตรสหายท่านหนึ่งโพสต์กึ่งแซวๆ ว่า จุฬาฯฉลอง ๑๐๐ ปี ควรขอบคุณจอมพล ป. เพราะรัฐบาลจอมพล ป. เป็นคนโอนที่ดินตำบลปทุมวัน ซึ่งเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจุฬา ก่อนหน้านั้น จุฬาเพียงแต่เช่าที่ดังกล่าวอยู่ (ดู พรบ.โอนที่ดินดังกล่าว ที่นี่ https://goo.gl/xqyQep)-ความจริงตอนนั้น "จอมพล ป." ยังเป็น "พลตรี หลวงพิบูลสงคราม" ในกระทู้นี้ ผมเองก็ใช้คำว่า "จอมพล ป." โดยตลอด เพราะคนรู้จักในชื่อนี้มากกว่า
ในภาพประกอบกระทู้นี้ ผมขอนำเอกสารฉบับหนึ่งมาให้ดู เป็นรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๕๕/๒๔๘๒ วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๔๘๒ ที่คณะรัฐมนตรีของจอมพล ป. มีมติให้ออกพระราชบัญญัติโอนที่ดินดังกล่าว
ข้อเสนอเรื่องโอนที่ดินดังกล่าว กระทรวงการคลังเป็นคนทำเรื่องเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
ควรอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น เป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงการคลัง (มีฐานะเทียบเท่ากอง สังกัดกรมคลัง) มีหน้าที่ควบคุมดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐ ดังนั้น รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชน(โดยกระทรวงการคลัง) จึงเป็นคนดูแล เพื่อให้อยู่ภายใต้การตรวจสอบของสาธารณะได้ ภายหลังรัฐบาลนิยมเจ้าของพรรคประชาธิปัตย์ (ที่ขึ้นมาจากการรัฐประหาร ๒๔๙๐) ได้ออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ใหม่ (๒๔๙๑) โอนอำนาจในการควบคุมทรัพย์สินของรัฐส่วนนี้ ไปให้พระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง มาจนทุกวันนี้ ..... ดังจะเห็นได้จากเอกสาร เดิมที่ดินจุฬา เป็นที่ที่รัชกาลที่ ๕ สั่งให้มีไว้เช่า เพื่อเอาเงิน "เลี้ยงชีพบาทบริจาริกาในพระองค์" (คือเลี้ยงดูพวกคนในวัง บรรดาเมียน้อยและข้ารับใช้ทั้งหลายนั่นแหละ) รายได้จากค่าเช่าที่เก็บจากจุฬาก่อนหน้านั้น ก็คือเพื่อการณ์นี้”
หรือแม้ในวิกิพีเดียก็มีการเขียนเรื่องการโอนที่ดินจุฬาฯ ไว้ในทำนองเดียวกัน
11. ปัจจุบันจุฬาฯ มีการจัดการอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ เช่น
1) โครงการพัฒนา Block H (อาคาร SIAMSPACE) ติดถนนพญาไท เป็นอาคารรูปแบบผสมทั้ง พื้นที่การศึกษา พื้นที่ร้านค้า อาคารสำนักงาน พื้นที่จอดรถ
2) โครงการ Bolck 28 ติดถนนพระราม 4 ออกแบบสไตล์ Modular เป็นอาคารสูง 3 ชั้นจำนวน 5 อาคาร ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์
เมื่อดูงบการเงินจะพบว่า ปีงบประมาณ 2563 จุฬาฯ มีรายได้ทุกทางรวมกว่าสองหมื่นกว่าล้าน หากนับเฉพาะรายได้จากอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน-รายได้ค่าตอบแทนโครงการพัฒนาจะอยู่ที่ 1,787 ล้านบาท ในด้านรายจ่ายเมื่อรวมทุกรายการก็มีมูลค่ากว่าหนึ่งหมื่นเก้าพันล้าน โดยรวมแล้วจุฬาฯ มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จรวม 2,039 ล้านบาท
จุฬาฯ ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำลำดับต้นของประเทศที่แม้ปัจจุบันจะเปิดกว้างสำหรับคนทั่วไปอย่างเต็มที่แล้ว แต่การสอบคัดเลือกยังคงเคี่ยวข้นและมี ‘หัวกระทิ’ จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่เข้าสู่รั้วจามจุรีได้ จุฬาฯ ได้รับงบประมาณประจำปี 2564 เป็นอันดับ 2 รองจากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเงินงบประมาณ 5,249 ล้านบาทเศษ ปัจจุบัน (ข้อมูลปี 2562) มีนิสิตทุกระดับราว 37,364 คน คละเคล้าหลากหลายชนชั้น ศึกษาในหลากหลายสาขาวิชา
ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ภาพลักษณ์ของจุฬาฯ จากมหาวิทยาลัยอิลีทที่มีศิษย์เก่าเข้าไปมีบทบาทนำทางการเมืองโดยเฉพาะกับรัฐบาลรัฐประหารจำนวนมาก เริ่มเปลี่ยนไปในทางที่บางคนอาจมีความหวัง บางคนอาจไม่สบายใจ