วันที่ 25 ก.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .... พร้อมด้วย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ และ เทวัญ ธานีรัตน์ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ แถลงข่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ โดยระบุว่า สำหรับกรณีที่มีกลุ่มคณะแพทย์ มีความห่วงใยเยาวชนว่าจะเข้าถึงกัญชา และสอบถามถึงมาตรการในช่วงสุญญากาศนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ในทางที่ผิด มีการอาศัยการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ว่ามิให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าถึงกัญชา โดยใครก็ตามที่ไปทำหน้าที่ในการจับกุมสามารถดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายให้กับเยาวชนทุกคนได้
และด้วยมาตรการนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้นำข้อห่วงใยจากทุกท่านมาบัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ. อย่างรอบด้าน มีการประยุกต์ในการใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอกอฮอล์ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และกฎหมายที่เกี่ยวกับพืชกระท่อม นำมาใช้กับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งข้อห่วงใยจากนักวิชาการและประชาชนนั้น ได้ถูกนำมาบัญญัติ รวมทั้งการห้ามโฆษณาในเรื่องของการทำการตลาดหรือการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับกัญชาหรือสารสกัดหรือแม้กระทั่งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา แต่ระหว่างการรอนี้ไม่ได้หมายความว่าอยู่ในช่วงสุญญากาศ โดยในช่วงแรกนั้นอาจจะใช่ แต่ช่วงถัดมาไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้มีการประกาศกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะๆ มีมาตรการต่าง ๆ อาทิ การห้ามแปรรูปโดยไม่ขออนุญาต และการห้ามจำหน่ายให้กับเยาวชน ซึ่งมีโทษทางอาญา
อีกทั้งในช่วงเวลา 1 เดือนก่อนหน้าที่จะมีการปลดล็อกกัญชาเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 65 มีผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดจากอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้กัญชาที่ต้องเข้าโรงพยาบาล 180 ราย แต่หลังจากวันที่ 9 มิ.ย. 65 เป็นเวลา 1 เดือน มีผู้ที่ต้องได้รับการบำบัด เหลือเพียง 33 คน แสดงให้เห็นว่า ระหว่างก่อนการปลดล็อกกับหลังการปลดล็อกแล้ว มีผู้จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาจากการใช้กัญชาลดลงกว่าร้อยละ 80 นั่นหมายถึงการนำกัญชาซึ่งอยู่ใต้ดินมานานหลายปี ให้มาอยู่บนดินและจัดการควบคุมด้วยกฎกติกาของกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรต่าง ๆ สามารถควบคุมดูแลได้ดีกว่าก่อนวันที่ 9 มิ.ย. 65 และตัวเลข 33 คนนั้น ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์เมื่อปี 2562 เสียอีก
ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน นักวิชาการ แพทย์ และสื่อมวลชน ที่ได้นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ได้ช่วยกันจรรโลงและคุ้มครองเยาวชนอย่างมีเอกภาพและเป็นการบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วนให้สังคมไทยนั้นมีความเข็มแข็ง
ดังนั้น ขอให้ทุกท่านวางใจว่าในขณะที่เรากำลังห่วงใยเยาวชนในขณะนี้ มีผู้ที่ต้องใช้กัญชาใต้ดินอีกจำนวนมาก โดยที่กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการวิจัยก่อนหน้านี้และพบว่า มีผู้ใช้กัญชาจากตลาดมืดถึงร้อยละ 54 โดยในภาคกลางและภาคใต้เกือบร้อยละ 80 และยังมีการแอบปลูกเอง ใช้เอง และเป็นการจ่ายจากกระทรวงสาธารณสุขเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ดังนั้น การที่เรามีมาตรการปลดล็อคหลังวันที่ 9 มิ.ย. นั้น เท่ากับเป็นการคุ้มครองผู้ป่วยจำนวนมากมิให้ต้องถูกรีดไถ ถูกจับกุมในระหว่างการใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้มีการป้องปรามไม่ให้เกิดขบวนการในการจำหน่ายให้กับเยาวชน สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ซึ่งเป็นขบวนการที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
โดยใน 1 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่ปลดล็อกนั้น มีตัวเลขการบำบัดรักษากัญชาลดน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า และเป็นช่วงเวลาต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ขอขอบพระคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันจรรโลงสังคม ช่วยกันเผยแพร่ข่าวที่ทำให้เรามีความสำเร็จในการคลายล็อกกัญชาทางการแพทย์เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายและในขณะเดียวกันก็มีการคุ้มครองเยาวชนด้วยมาตรการต่างๆ ที่ระดมกันอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองเยาวชนด้วยมาตรการที่เป็นอยู่นั้นใกล้เคียงกับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .... เพราะได้มีมาตรการคุ้มครองเยาวชนเช่นเดียวกัน