ไม่พบผลการค้นหา
ไม่เพียง 'ไช่อิงเหวิน' 'จาซินดา อาร์เดิร์น' และ 'อังเกลา แมร์เคล' จะบริหารสถานการณ์โควิดได้ดีกว่าประเทศที่มีเพศชายนั่งเก้าอี้สูงสุด วิจัยยังชี้ว่า เหล่าสตรีในองค์กรทั่วโลกทำได้ดีเช่นเดียวกัน

ขณะที่ประสิทธิภาพและความสามารถของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกถูกทดสอบ (โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า) ผู้นำหญิงอย่าง 'ไช่อิงเหวิน' ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวัน 'จาซินดา อาร์เดิร์น' นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และ 'อังเกลา แมร์เคล' นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พิสูจน์แล้วว่าพวกเธอไม่เพียงเหมาะสมกับบทบาทที่ได้รับ แต่ยังปฏิบัติงานได้ดีกว่าเพื่อนร่วมตำแหน่งเพศชายอื่นๆ 

วิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อ มิ.ย. 2563 พบว่า จากทั้งหมด 194 ประเทศ ในไตรมาส 1/2563 19 ประเทศที่มีสตรีเป็นผู้นำพบยอดการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าประเทศที่มีเพศชายเป็นผู้นำอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาอัตราการเสียชีวิต ซึ่งประเทศที่มีผู้นำเป็นเพศชายพบตัวเลขสูงกว่าเกือบ 2 เท่า 

นอกจากนี้ ข้อมูลยังชี้ว่า ในประเทศที่สตรีเป็นผู้นำสูงสุด มาตรการล็อกดาวน์ถูกนำมาปรับใช้เร็วกว่าประเทศที่มีเพศชายเป็นผู้นำ นับเป็นเครื่องสะท้อนภาวะความเป็นผู้นำและการตัดสินใจที่ถูกต้องและเด็ดขาด เนื่องจากผู้ศึกษาชี้ว่า อัตราการแพร่ระบาดและเสียชีวิตจากโควิด-19 จะน้อยลงในประเทศที่มีมาตรการล็อกดาวน์อย่างรวดเร็ว 

AFP - จาซินดา อาร์เดิร์น เลือกตั้ง นิวซีแลนด์
  • จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

เท่านั้นยังไม่พอ ข้อมูลดิบยังสะท้อนอีกว่า ประเทศที่มีสตรีเป็นผู้มี มีอัตราการตรวจเชื้อไวรัสในหมู่ประชากรมากกว่าประเทศที่มีเพศชายเป็นผู้นำ 

นอกจากนี้ ผลสำรวจจากนิตยสารฮาร์เวิร์ด บิสิเนส รีวิว (HBR) ระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2563 ยังพบว่า ผู้หญิงได้รับคะแนนประเมินภาวะความเป็นผู้นำสูงกว่าเพศชายอย่างชัดเจน 

จากการสำรวจเพศชาย 454 คน และเพศหญิงอีก 366 คน ข้อมูลสะท้อนว่า เมื่อประเมินศักยภาพความเป็นผู้นำ จากทั้งหมด 19 หัวข้อย่อย เพศชายถูกประเมินว่ามีศักยภาพดีกว่าเพศหญิงแค่เพียงหัวข้อเดียวเท่านั้น คือ ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค/สายงาน ด้วยสัดส่วนที่ต่างกันเพียง 2% เท่านั้น 

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเดิมก่อนเกิดโควิด-19 HBR ชี้ว่า ช่องว่างด้านความเป็นผู้นำของเพศหญิงและเพศชายกว้างขึ้น หมายความว่า ยิ่งอยู่ในภาวะวิกฤต เพศหญิงยิ่งมีความเป็นผู้นำ ทั้งยังมีความสามารถในการบริหารจัดการสถานการณ์ได้ดีกว่าผู้ชาย 

เมื่อเจาะลึกลงไปว่าปัจจัยใดเป็นตัวแปรสำคัญ งานศึกษาพบว่า ระดับการมีส่วนร่วม (engagement) ของทีมบริหารสตรีที่มีต่อลูกน้องอยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่าทีมบริหารซึ่งนำโดยเพศชาย การมีส่วนร่วมในที่นี้ รายงานสะท้อนว่าอาจดูได้จาก การวางตนเป็น 'แรงบันดาลใจ' และ 'แรงจูงใจ' ให้พนักงาน ไปจนถึงทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการสร้างความสัมพันธ์ในสายการทำงานซึ่งผู้หญิงทำได้ดีกว่าผู้ชายทั้งสิ้น 

ยิ่งไปกว่านั้น HBR สะท้อนว่า ข้อมูลที่พวกเขาใช้ศึกษามีคุณค่าสะท้อนความจริงอย่างมาก เนื่องจากเป็นรายงานตรงจากเหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาที่สะท้อนความต้องการแท้จริงต่อผู้บังคับบัญชาออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤต เมื่อผสานข้อมูลรวมกัน พบว่า ท้ายสุดแล้วผู็ใต้บังคับบัญชาเหล่านี้ต้องการผู้นำที่ยืดหยุ่นและแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อการเติบโตของพนักงานโดยเฉพาะในเวลาที่ยากลำบาก


พวกเขาต้องการผู้นำที่เข้าใจความอ่อนไหว ความตึงเครียด และความกังวลของผู้คน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทำได้ดีกว่าเพศชายจากงานศึกษา
ไช่อิงเหวิน.jpg
  • 'ไช่อิงเหวิน' ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวัน

แม้รู้ว่าเก่ง

แม้วิจัยมากมายชี้ชัดถึงศักยภาพของสตรี แต่เมื่อมองภาพรวมสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งบริหารระดับสูงของฝั่งธุรกิจยังกระจุกตัวอยู่ที่ราว 29% เท่านั้น โดยทวีปแอฟริกามีสัดส่วนเพศหญิงในตำแหน่งบริหารระดับสูงมากที่สุดราว 38% ขณะที่เอเชียแปซิฟิกมีตัวเลขอยู่ราว 27%

เท่านั้นยังไม่พอ ในงานศึกษาจาก Mckinsey ยังเผยว่า ณ ปี 2562 หากไปมองสถิติการก้าวเข้าสู่ระดับบริหารขั้นต้น ขณะที่ผู้ชาย 100 คน ได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นสู่ระดับผู้จัดการ สถิติของผู้หญิงยังอยู่ที่เพียง 85 คนเท่านั้น ซ้ำร้าย ตัวเลขข้างต้นนี้ยังไม่ได้พิจารณาถึงเชื้อชาติและสีผิวที่เป็นอีกปัจจัยบั่นทอนการเติบโตในหน้าที่การงาน 

ประชากรไทย-คนไทย-สังคมไทย-ผู้หญิง-สตรี-วัยทำงาน-สาวออฟฟิศ-พนักงาน

ข้อมูลชี้ว่า หากเป็นหญิงผิวดำจะมีโอกาสได้เลื่อนขั้นขึ้นสู่ตำแหน่งเดียวกันเพียง 58 คน เท่านั้น ขณะที่ถ้าเป็นสตรีเชื้อสายลาตินจะมีตัวเลขราว 71 คน ด้วยเหตุนี้ ช่วงว่างระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในตำแหน่งสายบริหารจึงยังห่างกันอยู่ดี

ซ้ำร้าย ยังมีการประเมินกันว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผู้หญิงราว 2 ล้านคนทั่วโลกอาจต้องตัดสินใจออกจากการทำงานด้วยปัญหาต่างๆ และยิ่งทำให้สถานการณ์ตัวเลขของผู้หญิงในระดับบริหารน้อยลงไปอีก 

อ้างอิง; HBR, catalyst.org, Mckinsey, IMF, World Economic Forum, J.P.Morgan