วันที่ 30 มี.ค. ศาลปกครองสูงสุดได้นัดอ่านคำพิพากษา ในคดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณีมีมติการประชุม เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค. 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 มีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวนเอกชนตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ปี 2562 และในเอกสาร RFP ได้ระบุไว้ว่า รฟม. สงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2563 ได้ จึงเป็นการกระทำโดยสุจริต และไม่ได้เป็นไปตามอำเภอใจ แต่เป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ระหว่างรัฐและเอกชน ตาม มาตรา 6 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 จะต้องคัดเลือกเอกชนให้เสร็จโดยเร็ว ถ้าล่าช้า จะทำให้เกิดผลกระทบด้านผลตอบแทน ส่งผลให้การเปิดใช้บริการฝั่งตะวันออกล่าช้าไปด้วย รวมถึงจะต้องมีค่าใช้จ่ายในงานโยธาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สิทธิประโยชน์ของผู้ใช้บริการสูญเสียไปจากเดิม ที่กำหนดตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้บริการกว่า 430,000 คนต่อวัน ซึ่งถือเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฏหมาย
อีกทั้ง ให้ความเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องทั้ง 2 ไม่ได้เอื้อต่อเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ จึงถือว่าไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค ส่วนกรณีที่โครงการดังกล่าวมีการฟ้องร้องอีกหลายคดีนั้น ผู้ถูกฟ้องร้องสามารถดำเนินการยกเลิกประกาศต่อได้ โดยไม่ต้องรอให้ศาลมีคำวินิจฉัย และถือเป็นการกระทำที่ไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค
ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุด จึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น สั่งยกฟ้อง