ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการ เตรียมความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข ในการยกระดับระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับการระบาดระลอกใหม่ เช่น ระบบ Home Isolation / Community Isolation โรงพยาบาลสนาม และยาฟาวิพิราเวียร์ เวชภัณฑ์ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ รายงานขีดความสามารถระบบการกักกันตัวที่บ้าน (HI) และการกักตัวในที่ชุมชน (CI) ทั่วประเทศ สามารถรองรับได้ประมาณ 187,000 คน (HI = 43,000 คน /CI = 144,000 คน) ซึ่งกรมการแพทย์ได้พัฒนาระบบ HI และ CI ให้ครอบคลุมทั้งมิติการควบคุมโรคและการป้องกันโรคด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบลงไปในรายพื้นที่ย่อยที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เพื่อเตรียมระบบ รพ.สนาม HI/CI ให้เพียงพอกับจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ที่อาจจะน่าจะเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกันก็สำรวจประชากรเด็กเล็ก ซึ่งอาจเป็นกลุ่มเปราะบางใหม่ โดยเด็กเล็กและผู้ปกครองต้องยินยอมและสมัครใจในการเข้ารับวัคซีน เนื่องจากวัคซีนยังเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดอัตราการเสียชีวิต ป้องกันการป่วยหนัก และลดอัตราการรับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานานๆ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และลดการติดเชื้อ สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก และที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจยังคงมีแนวโน้มลดลง
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงเช้าของวันที่ 11 ม.ค. 65 รวม 7,133 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 6,632 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 45 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 45 ราย ผู้ป่วยติดเชื้อเข้าข่าย /ATK 1,545 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 411 ราย ผู้ป่วยสะสม 61 ,1 74 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 3,306 ราย หายป่วยสะสม 32,291 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 61,974 ราย เสียชีวิต 12 ราย
สำหรับการให้บริการวัคซีน COVID-19 วันที่ 10 มกราคม 2565 เวลา 20:49 น. ประเทศไทยฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 107,400,315 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 ฉีดสะสม 51,541,362 โดส เข็มที่ 2 ฉีดสะสม 46,987,287 โดส เข็มที่ 3 ฉีดสะสม 8,430,651 โดส เข็มที่ 4 ฉีดสะสม 441,015 โดส
“นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนจากสถานการณ์การระบาดโควิดสายพันธุ์ โอไมครอน ที่มีอัตราการแพร่เชื้อกระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยฝากให้ประชาชนเฝ้าสังเกตตนเอง ว่ามีอาการใดที่บ่งบอกหรือน่าสงสัยในการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการเดินทางไปยังพื้นที่กลุ่มเสี่ยง ให้รีบพบแพทย์และแจ้งข้อมูล ประวัติการเดินทางด้วยข้อเท็จจริง เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป ยิ่งรู้ว่าตัวเองนั้นติดเชื้อได้เร็ว ทำให้สามารถหยุดการแพร่กระจายเชื้อได้ดี ช่วยลดการเกิดผู้ติดเชื้อในวงกว้าง เชื่อว่าหากเราร่วมมือกันดูแลตนเองจะสามารถก้าวข้ามสถานการณ์นี้ได้อย่างดีและปลอดภัยทุกคน" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว