จากกรณีนางอะหมี่มะ แซ่หมู่ มารดาของนายอะเบ แซ่หมู่ เป็นโจทก์ฟ้องกองทัพบกเป็นจำเลย คดีหมายเลขดำที่ พ.2592/2562 เรียกค่าเสียหายจำนวน 7 ล้านบาท กรณีเจ้าหน้าที่ทหารยิงนายอะเบ แซ่หมู่ ชาวชาติพันธุ์ลีซู ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม โดยอาวุธปืนเอ็ม 16 เมื่อวันที่ 15 กุมถาพันธุ์ 2560 ที่ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ล่าสุดมูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวานนี้(4มี.ค.)ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำเลยชดใช้เสียหายแก่โจทก์ ได้แก่ ค่าปลงศพเป็นจำนวนเงิน 104,180 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเป็นจำนวนเงิน 720,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระเงินแก่โจทก์จำนวนทั้งสิ้น 824,180 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
หลังศาลพิเคราะห์ว่า ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหารขับรถจักรยานยนต์สวนกับรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายซ้อนท้ายมากับเพื่อน เจ้าหน้าที่ทหารอาจมีการเรียกให้หยุดและหรือพยายามดึงตะกร้าเพื่อให้ฝ่ายผู้ตายหยุดรถ แต่ฝ่ายผู้ตายไม่หยุดและขับต่อไป เจ้าหน้าที่ทหารจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย
ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้ปืนยิงผู้ตายโดยมีสาเหตุเพียงเพื่อนของผู้ตายไม่ยอมหยุดรถเมื่อถูกเจ้าหน้าที่เรียกให้หยุดนั้นเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อผู้ตายก็ถือเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วย ที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่า เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย เป็นการป้องกันตนเองและผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงนั้น ศาลเห็นว่าตามรายงานตรวจร่องรอยพยานหลักฐานในคดีวิสามัญฆาตกรรม ไม่มีข้อเท็จจริงที่บันทึกว่าเจ้าหน้าที่ทั้งสองถูกผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ใช้อาวุธปืนยิง ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่พยานจำเลยควรจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทำบันทึกไว้
ในส่วนของวัตถุระเบิดที่พยานจำเลยอ้างว่าผู้ตายได้ล้วงระเบิดจากย่ามจะขว้างใส่เจ้าหน้าที่ทหาร ก็พบว่าตามบันทึกการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือ ไม่ปรากฏลายพิมพ์นิ้วมือแฝงหรือฝ่ามือแฝงของนายอะเบ ผู้ตาย ทั้งยังพบว่าลักษณะที่ปรากฏหรือตำแหน่งที่พบระเบิดนั้นผิดธรรมชาติเนื่องจากผู้ตายตกจากรถ ดังนั้นวัตถุระเบิดไม่น่าตกอยู่ใกล้มือของผู้ตาย
ในส่วนของเฮโรอีนของกลางแม้จะอยู่ในย่ามของผู้ตายจริงหรือมีการนำมาใส่ในย่ามของผู้ตาย และแม้จะปรากฏหรือไม่ปรากฏว่าพบลายนิ้วมือแฝงของผู้ตายที่หลอดบรรจุยาเสพติด ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่เกี่ยวข้องถึงความชอบธรรมหรือชอบด้วยกฎหมายในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ทหาร ประกอบกับโจทก์มีเพื่อนของผู้ตายเป็นผู้ขับขี่รถจักยานยนต์เดินทางไปทำไร่กับนายอาเบ ผู้ตาย เบิกความว่า ในวันดังกล่าว พยานเป็นผู้ขับรถจักยานยนต์ให้นายอาเบ ซ้อนท้าย กำลังเดินทางไปทำไร่ โดยระหว่างนั้นพยานพบเจ้าหน้าที่ 2 นาย และได้ขับรถผ่านช้าๆ เนื่องจากถนนเป็นถนนลูกรัง เจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงสัญลักษณ์ให้พยานหยุดรถแต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่กลับดึงก๋วย(ตระกร้าสะพายหลัง) ที่นายอาเบสะพายไว้ด้านหลัง
พยานเห็นดังนั้นจึงตกใจ จึงได้เร่งความเร็วเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นได้ยินเสียงปืน 3-4 นัด และได้ยินเสียงร้องของนายอะเบ ว่า "โอ๊ย" พยานจึงได้ประคองนายอะเบเพราะกลัวจะตกจากรถ เมื่อขับไปได้สักระยะ นายอะเบจึงตกจากรถจักยานยนต์ ประกอบกับคำให้การของแพทย์ผู้พิสูจน์ศพถึงร่อยรอย บาดแผล และวิถีกระสุน ที่ได้ให้การในคดีชันสูตรไว้โดยละเอียดที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ จึงเชื่อได้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากว่า