The New York Times สื่อสหรัฐอเมริกา รายงานสถานการณ์ชุมนุมประท้วงรัฐบาลไทยในบทความ Young Women Take a Frontline Role in Thailand’s Protests เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2563 โดยระบุว่า ผู้หญิงมีบทบาทนำในการประท้วงครั้งนี้ ซึ่งถือว่ามากกว่าการประท้วงอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นในไทย และผู้หญิงยังเป็นประชากรส่วนใหญ่ของผูัที่ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาอีกด้วย
แม้ว่าการชุมนุมประท้วงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของไทยจะมีผู้หญิงเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ผู้หญิงในช่วงวัยต่างๆ ถูกเรียกว่า 'ป้าเสื้อแดง' และถือเป็นกำลังสำคัญในการชุมนุมหลายๆ ครั้ง แต่ผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่ได้มีบทบาทถึงขั้นแกนนำ
เมื่อเยาวชนหญิงและนักกิจกรรมหญิงมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลให้ยุบสภาและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงเสนอให้ปฏิรูปสถาบันการเมืองหลักในปีนี้ ทำให้มีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงมาพูดบนเวทีชุมนุมขนาดใหญ่เป็นครั้งแรก เช่น การวิจารณ์ข้อจำกัดของกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง การเก็บภาษีสินค้าที่เกี่ยวกับประจำเดือนของผู้หญิง และค่านิยมล้าสมัยที่ยังฝังอยู่ในสังคมไทย ซึ่งส่งผลให้เกิดพฤติกรรมล่วงละเมิดหรือคุกคามผู้หญิง
ความเคลื่อนไหวของแกนนำการชุมนุมที่เป็นผู้หญิง เปรียบได้กับการต่อสู้กับค่านิยมชายเป็นใหญ่ในสังคมไทย เห็นได้จากการที่สถาบันหลักของไทยถูกควบคุมและดำเนินการโดยผู้ชายมาตลอด ไม่เว้นแม้แต่สถาบันการศึกษาที่มีกฎระเบียบคุมเข้มผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
เดอะนิวยอร์กไทม์สกล่าวถึงแกนนำการชุมนุมคนสำคัญๆ เช่น 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 'อั๋ว' จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ และ 'ชุมาพร แต่งเกลี้ยง' แต่ก็ระบุด้วยว่า ภายในกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยด้วยกันเองก็ยังมีความไม่เข้าใจหรือมีมายาคติต่อผู้ที่เคลื่อนไหวในประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงอยู่
บทความยกตัวอย่างแกนนำชายคนหนึ่งที่ปราศรัยพาดพิงผู้หญิงว่าเป็นเพศที่โวยวาย และมีเสียงปรบมือสนับสนุนจากผู้ฟังการชุมนุม ทำให้มีการท้วงติงถึงความไม่เหมาะสม และแกนนำคนดังกล่าวได้ขอโทษผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในเวลาต่อมา
ขณะที่ 'เฟลอ' สิรินทร์ มุ่งเจริญ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สังคมไทยยังตกอยู่ภายใต้แนวคิดชายเป็นใหญ่ และคนจำนวนมากยังไม่เข้าใจเรื่อง gender มากนัก
อย่างไรก็ตาม เดอะนิวยอร์กไทม์สกล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้หญิงที่ขึ้นมามีบทบาทนำในการประท้วงเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ถ้าพูดถึงการชุมนุมต้านประธานาธิบดีในเบลารุส หรือการเรียกร้องสิทธิคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีผู้หญิงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญเช่นเดียวกัน
ไม่ใช่แค่สื่อต่างชาติที่จับตามองสถานการณ์ในประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศก็ต้องประเมินเช่นกันว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้หรือไม่ หลังต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
เว็บไซต์ CNBC เผยแพร่บทความ Protests in Thailand could ‘derail’ its economic recovery from Covid-19, warns Nomura ในวันที่ 25 ก.ย. อ้างอิง 'ยูเบน พาราเกวลิส' นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ ซึ่งออกมาเตือนว่า การชุมนุมประท้วงในไทยอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19
นักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ระบุว่าไทยรับมือกับโรคโควิด-19 ได้ดี แต่ไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจอยู่ก่อนแล้ว นั่นก็คือ การพึ่งพิงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก และการขาดแคลนกลไกแข่งขันทางการตลาด จึงทำให้ไทยต้องปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจลงในปีนี้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยทำได้ช้า คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่ได้กลับมาท่องเที่ยวในไทยง่ายๆ อย่างน้อยก็จนกว่าสถานการณ์โควิดทั่วโลกจะคลี่คลายหรือมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคออกมาได้สำเร็จ และประการที่ 2 คือ การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ระบุด้วยว่า รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ใช้เงินไปได้ราว 45% จาก 60% ของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลผลักดันผ่าน พ.ร.บ.เงินกู้ออกมาเมื่อกลางปี จึงยังไม่อาจคาดหวังได้ว่าการใช้จ่ายหรือการบริโภคภายในประเทศจะกลับสู่ภาวะปกติในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ยังมีคำเตือนด้วยว่า ต่อให้รัฐบาลใช้นโยบายประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินสด ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้จริง และไม่น่าจะจูงใจกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลได้
ขณะที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่และปฏิรูปสถาบันหลักของประเทศ น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะรัฐบาลคงไม่ยอมทำตาม เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่กระทบต่อสถาบันหลักที่ไม่เคยมีใครแตะต้องมาก่อน จึงทำให้ประเมินได้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองไทยนี้อาจจะยืดเยื้อออกไปอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: