ไม่พบผลการค้นหา
สภาฯ ดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย 4 ฉบับ จ่อโหวตรับหลักการ 16 ก.ย. ด้าน ‘เพชรดาว โต๊ะมีนา’ ทายาทรุ่นที่3 ของ ‘หะยีสุหลง’ ร่ำไห้กลางสภาฯ เปิดภาพวันตามหาศพปู่ บอกรอคอยกฎหมายนี้มา 3 ชั่วอายุคน โดย รมว.ยุติธรรม เสนอร่างกฎหมายฉบับ ครม. ประณามการทรมาน-ทำให้คนสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง

เวลา 16.10 น. วันที่ 15 ก.ย. 2564 ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... จำนวน 4 ฉบับ ที่เสนอโดย 1)คณะรัฐมนตรี 2) สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน 3)วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ  และ 4) สุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

สมศักดิ์ เทพสุทิน

โดย สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นำเสนอร่างของ ครม.ว่า การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จึงสมควรกำหนดฐานความผิดในมาตรการป้องกันและปราบปรามและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย

สมศักดิ์ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มี 5 หมวด 34 มาตรา โดยกำหนดฐานความผิดการกระทำทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย เช่น ห้ามการกระทำการทรมานและทำให้บุคคลสูญหายทุกสถานการณ์ , ห้ามผลักดันบุคคลกลับไปเผชิญอันตราย รวมทั้งกำหนดให้สืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลสูญหายหรือเชื่อว่าเสียชีวิต , จัดตั้งคณะกรรมการซึ่งมี รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายและแผนในการป้องกันปราบปรามการกระทำให้บุคคลสูญหาย , กำหนดให้ทุกหน่วยงานที่มีการจำกัดเสรีภาพบุคคล ต้องจัดทำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ กำหนดหลักเกณฑ์เปิดเผยเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ พร้อมกำหนดให้มีมาตรการระงับการทรมานและมีการเยียวยาเบื้องต้น

กฎหมายนี้ ยังกำหนดให้คดีเหล่านี้เป็นคดีพิเศษ และให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนเป็นหลัก รวมถึงศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นศาลที่มีเขตอำนาจดังกล่าว , วางบทกำหนดโทษ และระวางโทษความผิดฐานกระทำทรมานและทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งกำหนดโทษแก่ผู้บังคับบัญชาที่รับทราบการกระทำความผิดของผู้ใต้บังคับบัญชา และไม่ดำเนินการป้องกันหรือระงับการทำความผิดนั้น ฯลฯ

กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ

กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ นำเสนอว่า ร่าง พ.ร.บ.การทรมานและการบังคับให้สูญหายที่เสนอนี้ มีหลักการสำคัญ โดยที่การทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่อาจยกเว้นให้กระทำได้ไม่ว่าจะสถานการณ์ใด ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม จึงต้องมีบทบัญญัติที่กำหนดฐานความผิดเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะถือเป็นการยกระดับการปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ให้เทียบเท่าสากลและสอดรับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ผมรู้สึกดีใจมากที่เราได้พิจารณากฎหมายฉบับนี้ในวันนี้ ก่อนปิดสมัยการประชุมนี้ เพราะหากดูตามระเบียบวาระ แล้วกฎหมายฉบับนี้จะไม่ทันการณ์พิจารณาในสมัยการประชุมนี้ และเมื่อดูสถานการณ์บ้านเมือง กฎหมายฉบับนี้จะตกไปหากมีการยุบสภา ผมฐานะพรรคประชาชาติ อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเสียงเล่าลือน่าห่วงกันว่า เป็นดินแดนแห่งการซ้อมทรมาน มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษมาตลอด 17 ปี เป็น 17 ปีที่คาดหวังว่าเราจะต้องมีกฎหมายรองรับป้องกันการซ้อมทรมาน

กมลศักดิ์ กล่าวว่า ในฐานะที่เคยทำงานอยู่ในมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องในพื้นที่จากการถูกบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เป็นจำนวนมาก มีกว่า 100 ราย ที่กล้าเปิดเผยข้อมูล แต่กฎหมายปกติไม่สามารถเข้าถึงได้ สิ่งเหล่านี้กำลังทำลายระบบนิติธรรม และต้องขอขอบคุณบุคคลที่กล้านำคลิปวิดีโอคลุมถุงดำมาเผยแพร่สู่สาธารณะชน เชื่อว่ากระแสดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องรีบเร่งเสนอกฎหมายเข้าสู่สภา เพราะเสียงของสภาผู้แทนราษฎรหรือว่าประชาชนเรียกร้องเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ยังไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะเสียงยังไม่ดังพอ

ชวน 10915.jpg

สุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอว่า ร่างกฎหมายที่เสนอนี้ มีหลักการกำหนดให้การค้นตัวจับคุมขัง หรือกระทำการใดอันกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพในร่างกายของบุคคล จะต้องมีการแจ้งสิทธิ์และจัดทำบันทึกการควบคุมตัว โดยไม่เลือกปฏิบัติ , กำหนดให้ศาลยุติธรรมเป็นกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ อันกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพในร่างกายของบุคคล , สร้างระบบความพร้อมรับผิด ลบล้างวัฒนธรรมปล่อยคนผิดลอยนวล สนับสนุนช่วยเหลือให้ผู้ได้รับความเสียหายได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนมีมาตรการป้องกันและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย

ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จำนวนมาก นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยเฉพาะในช่วงรัฐเผด็จการ เช่น เหตุการณ์ฆ่า 4 รัฐมนตรี ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ , ถวิล อุดล , จำลอง ดาวเรือง , ทองเปลว ชลภูมิ โดยถูกยิงที่ 4 แยกบางเขน , กรณี เตียง ศิริขันธ์ ผู้ได้ชื่อเป็นขุนพลภูพานถูกอุ้มฆ่าพบศพถูกเผาในป่า กาญจนบุรี , หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นผู้นำชาวมุสลิมนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นผู้นำจิตวิญญาณและปัญญาชนของชาวไทยเชื้อสายมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาค หายไปพร้อมกับลูกชายและพบว่าถูกถ่วงน้ำที่ทะเลสาปสงขลา

รวมถึงการล้อมปราบและการทำให้สูญหายในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 การสูญหายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กรณีการสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร การฆ่าและอุ้มหายในสงครามปราบปรามยาเสพติด กรณีตากใบ กรณีสุรชัย แซ่ด่าน วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดกลไกและผู้รับผิดชอบและขาดกฎหมายที่จะสามารถบังคับใช้เป็นการเฉพาะ

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ นำเสนอว่า ร่างฉบับคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ได้กำหนดให้ศาลตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ มีอำนาจกำหนดวิธีการเยียวยาความเสียหายได้ กำหนดให้คดีที่เกี่ยวกับการสูญหายนั้นไม่มีอายุความ และให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนคดีการสูญหายอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะพบตัวหรือเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย และให้บังคับใช้กับกรณีที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายฉบับนี้จะประกาศใช้ด้วย นอกจากนี้ ยังคุ้มครองพลเมืองดีที่ไม่ดูใดต่อการกระทำการทรมานหรือการกระทำให้สูญหาย

รังสิมันต์ โรม สภา ที่ 20_210915.jpg


รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนร่างของคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ว่า เฉพาะในยุค คสช. มีผู้ถูกอุ้มหายแล้วอย่างน้อย 9 คน ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้าน คสช. นั่นทำให้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนครอบครัวของเหยื่อ ได้ร่วมกันยื่นร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการอุ้มหายฉบับประชาชนต่อคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ เมื่อครั้งที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เป็นประธาน โดยกรรมาธิการฯได้ทำงานร่วมกันอย่างไม่มีการแบ่งแยกฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล

รังสิมันต์ กล่าวว่า ร่างนี้มี ส.ส.ร่วมลงชื่อ 101 คน สาระสำคัญคือการกำหนดให้การซ้อมทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดตามกฏหมาย ผู้มีความผิดนั้นรวมถึงผู้มีส่วนร่วมที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลย และผู้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักรด้วย ซึ่งผู้เสียหายหมายความรวมถึงคู่ชีวิต บุพการี ผู้สืบสันดาน และให้ตั้งคณะกรรมการป้องกันการซ้อมทรมานได้การถูกอุ้มหาย  นอกจากนี้ ยังเพิ่มความผิดการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การกระทำที่เกิดอันตรายต่อกายจิตใจหรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคล โดยให้ความผิดไม่มีอายุความ

ด้าน มานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการให้บุคคลสูญหายหลายกรณี มีกระบวนการสืบสวนสอบสวนไม่โปร่งใส ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มีอำนาจแทรกแซงกระบวนการสืบสวนสอบสวนอยู่เสมอ โดยเฉพาะประชาชนที่มีการร้องความยุติธรรมทางสังคม มักจะถูกดำเนินคดี มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น ตนจึงเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเคร่งครัดในการทำหน้าที่ดำเนินการโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน มีกระบวนการคุ้มครองประชาชนอย่างชัดเจน และเป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล 

ขณะเดียวกัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคล ทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ อีกทั้ง มีการกำหนดฐานความผิดที่ทรมาน ฐานความผิดที่สูญหาย การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ซึ่งบางร่างยังไม่มีบัญญัติไว้   ดังนั้น ควรปรับแก้ให้สอดรับกันทั้งฉบับของคณะรัฐมนตรีและของสภาฯ อีกทั้งยัง เห็นด้วยที่ระบุถึงการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร ให้ควรนำกลีบมาดำเนินคดีในราชอาณาจักรได้ และความผิดที่ชัดเจนไม่ถือเป็นลักษณะทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองตามกฎหมาย หรือผู้ร้ายข้ามแดน หรือเรื่องของคดีอาญาจะนำมากล่าวอ้างให้พ้นผิดไม่ได้ ซึ่งไม่มีเหตุให้ต้องยกเว้นความผิด เช่น กระทำการปราบปรามผู้ชุมนุมและเกิดการทำให้สูญหายไป กฎหมายนี้ต้องไม่คุ้มครอง รวมทั้ง ต้องยึดถือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ห้ามไม่เจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการผลักดันให้กลับไปเผชิญอันตราย

เพชรดาว โต๊ะมีนา ภูมิใจไทย สภา 210915.jpg

ขณะที่ เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า “ความยุติธรรมที่ดิฉันรอคอยนานถึง 3 ชั่วอายุคน เพื่อรอวันนี้ที่จะพิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

เพชรดาว ได้เปิดภาพข่าวการสูญหายของ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา แล้วอภิปรายด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า การที่มีคนในครอบครัวถูกบังคับให้สูญหายถึง 2 คน รวมทั้งคณะ 4 คน เมื่อ 13 ส.ค. 2497 มีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงในปี 2501

ต่อมา เพชรดาว ได้เปิดภาพสไลด์เหตุการณ์วันที่ 13 ม.ค. 2501 ระบุ เป็นวันงมหาศพหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นปู่โดยเธอร้องไห้ ก่อนอภิปรายว่า “นั่นเป็นภาพของคุณย่าดิฉันเดินนำครอบครัวในวันที่ต้องหาศพคุณปู่ แน่นอนว่าไม่เจอศพ เพราะผ่านไปแล้ว 3 ปี แต่ต่อมาอีก 8 ปี มีคำสั่งศาลจังหวัดปัตตานี สั่งให้หะยีสุหลง โต๊ะมีนา เป็นคนสาบสูญ"

เธอ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลาย 10 กรณีที่วันนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม ครอบครัวต้องเผชิญการสูญเสียที่ไม่มีความชัดเจน และไม่สามารถยืนยันความสูญเสียนั้นได้

หลังจากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายกันอย่างครบถ้วนแล้ว ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 18.45 น. และขอให้ลงมติในวาระรับหลักการต่อในวันที่ 16 ก.ย.นี้ ภายหลังจากการพิจารณากระทู้ถามสดแล้วเสร็จ