ไม่พบผลการค้นหา
'จาตุรนต์' โยน 'ทีมเจรจา' คุยก้าวไกลโหวตนายกฯให้ ยันเพื่อไทยยังหนุน 'เศรษฐา ด้าน 'ส.ส.อีสาน' หวั่นใจ เพื่อไทยจับมือ 'ภูมิใจไทย' หวั่นสูญพันธุ์ หวังไม่จับมือ '2 ลุง' ตามที่เคยให้สัญญา

วันนี้ (8 ส.ค.) จาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตอบคำถามกรณีที่พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคภูมิใจไทยจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขัดแคมเปญ ไล่หนูตีงูเห่า ที่ นพ.ชลน่าน ตอบไปเมื่อวานนี้ จาตุรนต์ ชี้แจงว่าส่วนตัวไม่ขอออกความเห็น แต่เชื่อว่าเป็นแนวทางที่ดีในการที่จะได้รับเสียงสนับสนุน โดยทางพรรคกำลังพยายามที่ขอความร่วมมือจาก สว.อยู่ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า จะต้องให้พรรคก้าวไกลยกมือโหวตให้พรรคเพื่อไทยโดยไม่ร่วมรัฐบาลหรือไม่ จาตุรนต์ ตอบว่าต้องให้ทีมเจราจาดำเนินการ ส่วนกระแสข่าวในพรรคจะไม่เสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งหน้านั้น จาตุรนต์ ยืนยันในที่ประชุม ยังเสนอชื่อเศรษฐาอยู่ 

ด้าน ไชยา พรหมา สส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย เปิดเผยภายหลังการประชุม สส. พรรคเพื่อไทยว่าในการประชุมคณะเจรจาตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้ให้คำมั่นกับ สส. ว่าจะไม่มีการดึงพรรค 2 ลุงมาร่วมรัฐบาล แต่หากจะมีสมาชิกของทั้ง 2 พรรคนี้ย้ายเพื่อไทย ตนก็ไม่ทราบเพราะไม่มีหน้าที่ในส่วนนั้น 

พร้อมยอมรับมีความกังวลหลังพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคภูมิใจไทย โดยมีประชาชนในพื้นที่มาสอบถามและมีความเห็นแตกเป็น 2 กลุ่ม บางกลุ่มก็เข้าใจการทำงานของพรรคเพื่อไทย เพราะเป้าหมายคือการตั้งรัฐบาล เร่งแก้ปัญหาให้ประชาขน ขณะที่บางส่วนยังมีข้อสงสัย เพราะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทั้ง 2 พรรคแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่วันนี้กลับมาจับมือกัน ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้น ซึ่ง สส.ภาคอีสาน โดยเฉพาในเขตจังหวัดศรีสะเกษต้องทำความเข้าใจกับประชาชน และกังวลว่าอาจทำให้มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า และจะต้องทำงานเหนื่อยมากกว่าเดิม เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ภาคอีสานยังเสียไปหลายพื้นที่

ส่วนกรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคชี้แจงเรื่องแคมเปญหาเสียง “ไล่หนูตีงูเห่า” แล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ไชยา ระบุว่าเข้าใจ นพ.ชลน่าน ที่ถูกกดดัน และพยายามอธิบาย เพราะที่ผ่านมา 2 พรรคแข่งขันกันดุเดือด 

ส่วนคำว่าเพื่อไทยจะสูญพันธุ์แน่นอนนั้น ไชยา บอกว่า มี สส.หลายคนที่กังวลในเรื่องความรู้สึกของประชาชนในภาคอีสาน เนื่องจากเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับประชาชน 

ส่วนมองว่ากรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เลื่อนการเดินทางกลับไทยมีความเกี่ยวข้องกับการเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ไชยาระบุว่า เป็นคนละส่วนกันการเดินทางกลับของทักษิณเป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ต้องดำเนินการตามกติกา 

ไชยายังเปิดเผยว่าในที่ประชุม ได้มีการพูดถึงการดึงพรรคต่างๆมาร่วมรัฐบาล ซึ่งคณะเจรจาให้ความเชื่อมั่นว่าจะสามารถรวมเสียงได้ และได้รับการสนับสนุนจากสว.ส่วนหนึ่ง มั่นใจว่าการโหวตครั้งนี้สามารถผ่านได้