ผู้นำโลกหลายคน รวมถึง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นที่คล้ายกันกับเซเลนสกี พร้อมกันนี้ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ยังกล่าวด้วยว่า “อิสราเอลมีสิทธิที่จะปกป้องตนเอง ทั้งในวันนี้และในวันต่อๆ ไป สหภาพยุโรปยืนเคียงข้างอิสราเอล”
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า สิทธิของยูเครนในการปกป้องตัวเอง ได้รับการยกย่องจากผู้นำระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่การรุกรานของรัสเซียถูกประณาม แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า เรื่องเดียวกันนี้ไม่สามารถพูดได้ เกี่ยวกับการยึดครองเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาของอิสราเอล
แอรอน บาสตานี ผู้สื่อข่าวฝ่ายซ้ายของสหราชอาณาจักร ระบุบน X ว่ามี “สองมาตรฐานที่ชัดเจนในการสนับสนุนการก่อการร้ายต่อเป้าหมายพลเรือนในยูเครน… และถูกประณามโดยชาวปาเลสไตน์” พร้อมกันนี้ ยังมีบัญชีผู้ใช้อีกหลายรายที่วิจารณ์นักการทูตและสื่อตะวันตก ซึ่งสนับสนุนยูเครนที่ปกป้องดินแดนของตัวเอง แต่ตราหน้าชาวปาเลสไตน์ที่ต่อสู้กับอิสราเอลว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”
นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่คลิปต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย จากการสัมภาษณ์ของ CNN กับ มุสตาฟา บาร์กูตี เลขาธิการทั่วไปของโครงการริเริ่มแห่งชาติปาเลสไตน์ ซึ่งเขาตั้งคำถามว่า “เหตุใดสหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนยูเครนในการต่อสู้ต่อการยึดครอง ในขณะที่อยู่ที่นี่ (ปาเลสไตน์) พวกเขาสนับสนุนผู้ยึดครอง (อิสราเอล) ใครกันที่ยังคงยึดครองพวกเราอยู่”
กระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาติตะวันตกถูกกล่าวหาว่ามีสองมาตรฐานในจุดยืนต่อสงครามยูเครน โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตีพิมพ์รายงานที่เน้นย้ำต่อการมี “สองมาตรฐาน” ของชาติตะวันตก เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก
แอกเนส คัลลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ กล่าวกับอัลจาซีราในขณะนั้นว่า การยึดครองดินแดนปาเลสไตน์เป็น “สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง… หากไม่มีการเปรียบเทียบระหว่างการรุกรานของรัสเซียกับอิสราเอล… เห็นได้ชัดว่าชาวปาเลสไตน์อยู่ภายใต้ระบอบการกดขี่ ระบอบของการยึดครอง และระบอบการแบ่งแยกเชื้อชาติ” คัลลามาร์ดระบุกับอัลจาซีรา
ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ผู้ใช้ X ได้แชร์ข้อความก่อนหน้านี้ ที่กล่าวโจมตีความหน้าซื่อใจคดของชาติตะวันตก ด้วยการแชร์วิดีโอของ ริชาร์ด บอยด์ บาร์เร็ตต์ สมาชิกรัฐสภาไอร์แลนด์ ซึ่งพูดเอาไว้เมื่อเดือน มี.ค. 2565 โดยเขาได้ตำหนิรัฐบาลไอร์แลนด์ที่มีการใช้สองมาตรฐานเกี่ยวกับยูเครนและปาเลสไตน์
“คุณยินดีที่ได้ใช้ภาษาที่หนักแน่นและหนักแน่นที่สุด ในการอธิบายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติของ วลาดิเมียร์ ปูติน (ประธานาธิบดีรัสเซีย) แต่คุณจะไม่ใช้ภาษาที่แข็งขันแบบเดียวกัน เมื่อกล่าวถึงการปฏิบัติของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์” ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (8 ต.ค.) บาร์เร็ตต์ยังกล่าวถึย้ำง “สองมาตรฐานที่น่าตกใจของผู้นำตะวันตกที่สนับสนุนการรบต่อต้านของยูเครน แต่ประณามชาวปาเลสไตน์”
อย่างไรก็ดี มีกระแสการแสดงความเห็นที่พยายามระบุว่า ไม่ควรมีการนำสงครามมาเปรียบเทียบกัน โดยทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อต่อต้านความรุนแรงและความเสียหายจากสงครามของการทำลายล้าง นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวเตือนด้วยว่า ไม่ควรมีการมองว่ากลุ่มฮามาสกับชาวปาเลสไตน์นั้นเป็นเนื้อเดียวกัน
ที่มา: