สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยปีนี้เรียกว่าเข้าขั้น "วิกฤติ" ตั้งแต่ต้นปี เพราะนับจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในประเทศจีนและลุกลามบานปลายออกไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย จนทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกและไม่รู้ว่าจะคลี่คลายหรือยุติลงได้เมื่อไร
ปัญหาดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับภาวะการลงทุนจนปั่นป่วนทั่วโลก โดยเฉพาะผลพวงจากการแพร่ระบาดที่ส่อแววลากยาวกว่าที่หลายคนเคยคาดเอาไว้จนอาจก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีอาการ "ชะงัก" หรือเข้าสู่สภาวะ "ถดถอย" ได้
ปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ภาวะเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสร้างภาวะ "โคม่า" ต่อตลาดหุ้นไทยอย่างเห็นได้ชัดเจน สะท้อนได้จากการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยในช่วงวันที่ 12-13 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งความผันผวนรุนแรงจนดัชนีฯ ดิ่งลงมาแตะระดับร้อยละ 10 ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องงัดไม้ตายคือการนำมาตรการหยุดทำการซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 30 นาที หรือที่เรียกว่า "เซอร์กิตเบรกเกอร์" ออกมาเป็นการด่วนถึง 2 วันติดต่อกันและถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย
เมื่อย้อนไปในอดีตตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยใช้มาตรการเซอร์กิตเบรคเกอร์มาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2549 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 และอีก 2 ครั้งเมื่อครั้งเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในวันที่ 10 ต.ค.2551 และ 27 ต.ค.2551 ส่วนวันที่ 12 และ 13 มี.ค.2563 ถือเป็นครั้งที่ 4 และ 5 จากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ระบาดทั่วโลก
ขณะที่ นับตั้งแต่ต้นปีถึงล่าสุดวันที่ 13 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา พบว่าดัชนีหุ้นไทย (SET INDEX) ปรับลดลงมาแล้วกว่า 450.93 จุด จากระดับ 1,579.84 จุด ณ ช่วงสิ้นปี 2562 ลงมาอยู่ที่ระดับ 1,128.91 จุดในปัจจุบัน (13 มี.ค.) หรือลดลงร้อยละ 28.54 ซึ่งเป็นระดับที่ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 8 ปี
ขณะที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (9-13 มี.ค.2563) หรือเพียงสัปดาห์เดียวตลาดหุ้นไทยถูกกระหน่ำเทขายจากนักลงทุนจนทำให้ดัชนีฯ ดิ่งลงมาแรงกว่า 235.66 จุด หรือร้อยละ 17.26 (จากระดับ 1,364.57 จุด ณ วันที่ 9 มี.ค.2563 ลดลงมาสู่ระดับ 1,128.91 จุด ณ วันที่ 13 มี.ค.2563 )
หากดูสัดส่วนกลุ่มนักลงทุนหลักๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก พบว่านักลงทุนต่างประเทศถือเป็นกลุ่มแรกที่เทขายสุทธิออกมาจำนวนมากที่สุด เพราะในช่วงตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) มีสถานะเป็นยอดขายสุทธิออกมากว่า 77,802.44 ล้านบาท โดยทยอยขายสะสมออกมาทุกเดือน ซึ่งแบ่งเป็นในช่วงเดือนม.ค.2563 ขายสุทธิราว 17,302.45 ล้านบาท และเดือน ก.พ.2563 ขายออกมาอีก 19,648.82 ล้านบาท
อีกทั้งแค่เพียงสองสัปดาห์ของเดือนนี้ (1-13 มี.ค.2563) นักลงทุนต่างชาติก็ถล่มขายหุ้นไทยปาเข้าไปแล้วกว่า 40,851.17 ล้านบาท
รองลงมาคือกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งมีสถานะขายสุทธิสะสมอยู่ราว 8,510.91 ล้านบาท และนักลงทุนกลุ่มสถาบันในประเทศที่มีสถานะขายสุทธิสะสมราว 2,405.68 ล้านบาทเช่นกัน
สวนทางกับนักลงทุนรายย่อยในประเทศที่ถือว่าเป็นกลุ่มช่วยประคับประคองตลาดหุ้นไทยในยามนี้ เพราะเป็นกลุ่มเดียวที่มีสถานะเป็นบวกโดยมียอดซื้อหุ้นสะสมกว่า 88,719.04 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันถือว่าตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ "ภาวะหมี" เต็มตัวแล้ว หลังจากดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวลงหลุดต่ำกว่าระดับ 1,480 จุด หรือปรับตัวลงมากกว่าร้อยละ 20 จากที่เคยขึ้นสูงสุดที่ 1,850 จุดในช่วงต้นปี 2561 ซึ่งความหมายของภาวะหมี คือตลาดหุ้นมีทิศทางเป็นขาลง ซึ่งในภาวะเช่นนี้หุ้นจะลง เพราะนักลงทุนเริ่มกลัวและขายทิ้ง เป็นบรรยากาศไม่น่าลงทุน
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจะนำเงินไปลงทุนที่อื่นมากกว่า ซึ่งเหตุผลที่เรียกว่าตลาดหมี เพราะเวลาที่หมีโจมตีมันจะตะปบคู่ต่อสู้ให้คว่ำลงเหมือนราคาหุ้นที่ลดต่ำลงนั่นเอง
ที่ผ่านมา มีการศึกษาความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในช่วงภาวะหมี พบว่าตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา มักจะกินเวลาเฉลี่ย 190 วันทำการหรือประมาณ 9 เดือนจนกว่าราคาหุ้นในตลาดจะแตะจุดต่ำสุด (มากที่สุดคือ 630 วันทำการหรือประมาณ 31 เดือน และน้อยที่สุดคือ 63 วันทำการหรือประมาณ 3 เดือน) และส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 36 จากจุดสูงสุด
สำหรับภาวะหมีของตลาดหุ้นไทยรอบนี้มีสัญญาณค่อยๆ แกว่งซิกแซกลงมาตั้งแต่ต้นปี 2561 ซึ่งใช้เวลานานถึง 2 ปีกว่าจะบ่งชี้ว่าได้เข้าสู่ภาวะหมีแล้ว อย่างไรก็ดี หากสังเกตภาวะหมีในอดีตที่ SET Index ปรับตัวลงหนักๆ หรือลดลงเกินกว่าระดับร้อยละ 50 ขึ้นไป จะเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติครั้งใหญ่ เช่น ในช่วงปี 1990 ที่เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย, ปี 1997 (พ.ศ.2540) ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง,ปี 2000 เกิดวิกฤติ Dot-com และปี 2008 เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสภาวะที่ตลาดหุ้นผันผวนรุนแรงทุกครั้ง มักมีเสียงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหาวิธีช่วยพยุงภาวะตลาดเอาไว้ ซึ่งหนึ่งในมาตรการยอดฮิตคือแนวคิดการจัดตั้ง "กองทุนพยุงหุ้น"
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวยอมรับว่าขณะนี้หน่วยงานในตลาดทุนได้มีการหารือกับภาครัฐเกี่ยวกับการตั้งกองทุนพยุงหุ้นอยู่ เพราะมองเห็นความจำเป็นในการจัดตั้ง หลังจากที่ไม่เคยมีมานานแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดตั้งที่ดีที่สุดทั้งรูปแบบและเงื่อนไขต่างๆ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพิจารณาหลายแนวทางที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมามีเสถียรภาพ
สำหรับประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยเคยมีการเกิดขึ้นของกองทุนพยุงหุ้นมาแล้ว ภายใต้ชื่อกองทุนเปิด "ไทยสร้างโอกาส" ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2545 หรือกว่า 18 ปีก่อน โดยประกอบด้วยผู้ร่วมทุนหลักจำนวน 12 ราย ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, บริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์, บมจ.ผลิตไฟฟ้า, บมจ.นำสินประกันภัย, บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด, บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด, ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน),ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน)
โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด เป็นบริษัทจัดการ และมีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ รวมถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเป็นที่ปรึกษากองทุน
สำหรับประโยชน์ของกองทุนดังกล่าวคือจะเข้ามาซื้อในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยพยุงตลาดในภาวะผันผวน และกองทุนดังกล่าวมีนโยบายไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนในช่วง 3 ปีแรกและจ่ายเงินปันผลตามมติของที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน
อย่างไรก็ตามยังบางกลุ่มมองว่าการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นอาจเป็นการเอาภาษีประชาชนไปอุ้มกลุ่มนายทุนและนักลงทุน ซึ่งเชื่อว่าไม่คุ้มค่าและไม่มีรัฐบาลไหนเขาทำกัน ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามว่าการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นในครั้งนี้จะสามารถเกิดขึ้นมาได้อีกหรือไม่ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียในอดีตที่อาจต้องนำมาพิจารณาให้ถี่ถ้วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :