หากชีวิตของ 'พากพูม วัลลิสุต' ประธานกรรมการบริษัท เดอะ ควอนท์ กรุ๊ป จำกัด ผู้นั่งเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ถูกพรากไปก่อน จากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังเดินทางเข้าเจรจาซื้อธุรกิจเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย วันนี้เขาคงได้ร่วมฉลองความสำเร็จที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เสียงส่วนใหญ่ 4 ราย เป็นคนหยิบยื่นให้
ผลคำวินิจฉัยของ กขค.ผ่านปาก สมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ ในฐานะเลขาธิการฯ สามารถสรุปโดยง่ายว่า เมื่อ ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัด และ เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผสานเป็นหนึ่งเดียวจะไม่นับเป็น 'การผูกขาด' แต่ก่อให้เกิด 'อำนาจตลาด' ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ภาวะนี้กลับไม่ทำร้ายทั้งเศรษฐกิจภาพใหญ่และพลเมืองชาวไทย
ก่อนเริ่มวิพากษ์ว่าการกระทำข้างต้นส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจและบั่นทอนทางเลือกจับจ่ายใช้สอยของคนไทยหรือไม่ ประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดแจ้งคือ 'การมีอำนาจเหนือตลาด' ไม่เท่ากับ 'การผูกขาด' ในทางกฎหมายอย่างที่สาธารณชนอาจเข้าใจกัน
พระราชบัญญัติ การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตราที่ 5 ระบุว่า 'ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด' หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งหรือหลายรายในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดและยอดเงินขายเกินกว่าเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกําหนด โดยปัจจุบัน ข้อกำหนดดังกล่าวแบ่งเป็น 2 กรณี
ขณะที่ พ.ร.บ.เดียวกันนี้ ไม่ได้นิยาม 'การผูกขาด' ไว้อย่างชัดเจน เพียงระบุในมาตรา 54 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่แข่งขันในตลาดเดียวกัน กระทําการใดๆ อันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขันในตลาดนั้นในลักษณะ อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เช่น ร่วมกันกำหนดราคาซื้อขายสินค้าไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม ไปจนถึงการตกลงเพื่อจำกัดปริมาณสินค้า สมรู้ร่วมคิดเพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในการประมูลราคา ตลอดจนร่วมกันแบ่งท้องที่ในการจำหน่ายสินค้า
เมื่อว่ากันโดยง่ายตามหลักเศรษฐศาตร์ 'ตลาดผูกขาด' (monopoly) มักหมายถึงการที่ตลาดนั้นๆ มีผู้เล่นสำคัญเพียงรายเดียวที่สวมบทบาททั้งผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้านั้นๆ ให้แก่ตลาด โดยปราศจากการควบคุมดูแลของภาครัฐ หรือมองได้ว่า 'ตลาดผูกขาด' เป็นผลลัพธ์ของ 'ทุนนิยมเสรีสุดขั้ว'
เมื่อเข้าใจประเภทตลาดแล้ว อีกประเด็นที่ต้องศึกษาคือ รูปแบบร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
ด้วยเหตุนี้การที่ ซี.พี.เข้าซื้อเทสโก้ จึงไม่นับเป็นการผูกขาดในเชิงตลาดประเภทดังกล่าว เพราะยังมีคู่แข่งอย่าง Big C นับเป็นเพียงผู้มีอิทธิพลเหนือตลาดเท่านั้น
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BioThai) เผยกับ 'วอยซ์' ว่า คำตัดสินของคณะกรรมการ กขค. ที่ออกมา แม้ยังไม่เห็นเอกสารฉบับเต็ม แต่กล่าวได้แล้วว่าเป็นการปล่อยให้เอกชนรายใหญ่เข้ามา 'รัฐประหาร' เศรษฐกิจไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเงื่อนไขสำคัญที่ระบุว่า ภายหลังการควบรวมกิจการครั้งนี้ ห้ามมิให้บริษัทเข้าซื้อกิจการใดอีกในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้ ไม่รวมถึงตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce)
"วันที่มีการควบรวม ค้าปลีกอาหารสมัยใหม่ของ ซี.พี. มีส่วนแบ่งมาแล้ว 50% คุณไม่ควรให้ควบรวมตั้งแต่ก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ มิหนำซ้ำ เมื่อคุณบวกเทสโก้เข้ามาซึ่งมีส่วนแบ่งใน modern food retail 25% มันจะกลายเป็น 75% คุณยังปล่อยให้มีการควบรวมเลย แล้วคุณยังบอกว่าอีก 3 ปี คุณถึงจะให้รวมต่อได้อีก เป็นความกรุณามาก ความหมายของกรรมการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมาก หมายความว่าคุณจะปล่อยไปให้ครบ 100% เลยหรือ"
ผอ.มูลนิธิชีววิถี ผู้ศึกษาประเด็นข้างต้นมาเป็นเวลาร่วม 30 ปีชี้ว่า หากลองพิจารณารูปแบบการเข้าซื้อกิจการที่คล้ายคลึงกันในต่างประเทศ เมื่อช่วงปี 2558 ในเยอรมนี พบว่า 'edeka' (เอเดก้า) ในฐานะห้างสรรพสินค้า (ค้าปลีก) ใหญ่ที่สุดในเยอรมนีที่กินส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุด เกิน 20% ต้องการเข้าซื้อกิจการค้าปลีกด้วยกันชื่อ kaiser's tengelmann (ไกลเซอร์ แทงเกิลมัน) ที่มีส่วนแบ่งระหว่าง 10% - 30% ในเขตท้องถิ่น
ทว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของเยอรมนีอย่าง bundeskartellamt (บุนเดสคาร์เทเลออัม) ปฏิเสธคำร้องดังกล่าว โดยมองว่า หากปล่อยให้การควบรวมกิจการเกิดขึ้น ผู้บริโภคในหลายเมือง อาทิ มิวนิค และ เบอร์ลิน จะได้รับผลกระทบโดยตรง จากจำนวนการแข่งขันของผู้ประกอบการที่น้อยลง เท่านั้นยังไม่พอ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเยอรมัน ยังพิจารณาไปถึงผลกระทบที่อาจตกอยู่กับผู้ประกอบการสายการผลิต (suppliers) ที่มีตัวเลือกในการกระจายสินค้าน้อยลง
ในช่วงท้าย คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเยอรมันสรุปว่า โดยรวมแล้ว เอเดก้า กินส่วนแบ่งตลาดทั่วประเทศสูงถึง 35% ขณะที่ ไกลเซอร์ แทงเกิลมัน มีส่วนแบ่งอยู่ราวๆ 2% - 5% และมากกว่านั้นบางในเขตท้องถิ่น หากปล่อยให้มีการควบรวมกิจการข้างต้น ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนซึ่งถูกจำกัดทางเลือกในการซื้อหาสินค้าอย่างแน่นอน
วิฑูรย์ กลับมาขมวดปมประเด็นรัฐประหารทางเศรษฐกิจอีกครั้งว่า คำวินิจฉัยที่ออกมาของ กขค.เป็นการสร้างบรรทัดฐานของสังคมไปแล้ว และเมื่อรัฐบาลปล่อยให้ทุนใหญ่มาผูกขาดเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2562 จะระบุว่า บริษัทที่มีรายรับสูงที่สุด 5% ของประเทศ มีสัดส่วนรายได้ถึง 85% ของธุรกิจไทยทั้งหมด โดยเป็นข้อมูลจากจำนวนบริษัททั้งสิ้น 750,000 แห่ง ระหว่างปี 2549-2559
"ในด้านหนึ่ง ถ้าเราเห็นประชาธิปไตยในทางการเมือง หมายถึงทุกคนมีโอกาสมีศักดิ์ศรี มีเสียงเท่ากัน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ในทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจหมายถึงทุกคนควรจะมีโอกาสได้มีอาชีพ มีโอกาสที่จะเข้าสู่ตลาดได้ ไม่ใช่ถูกปิดกั้นโดยคน 5% นี่คือสิ่งเดียวกัน และสิ่งนี้จะทำลายอนาคตของประเทศในทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง"
ผอ.มูลนิธีชีววิถี ชี้ประเด็นที่มาของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับปัจจุบันปี 2560 ว่าแท้จริงแล้วเป็นคำมั่นสำคัญญาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อทำหน้าที่เสนอ เห็นชอบ และกลั่นกรองกฎหมายแทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยหวังจะเข้ามาปฏิรูปกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับเก่า (2542-2560) ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ทว่า สิ่งที่ วิฑูรย์ ย้ำคือ การบังคับกฎหมายคราวนี้ จะกลายเป็นแนวปฏิบัติสำหรับระยะยาว ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้จะมีอิทธิพลทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจที่จะกีดกันไม่ให้คนอื่นสามารถเข้าถึงตลาดได้ และทำลายหลักการ 'เสรีทุนนิยม' จึงเป็นที่มาที่หลายประเทศ "แต่ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีกฎหมายที่อ่อนแอที่สุด และมีการบังคับใช้ที่อ่อนแอที่สุด แทบจะในโลกเลย"
"ณ ขณะนี้ กฎหมายที่คุณบอกว่าจะมีประสิทธิภาพในการจัดการ ตอนนี้ถูกทำให้เห็นแล้วว่าจะบังคับใช้ยังไง หมายความว่า ต่อไปนี้ บริษัทนี้ก็ยังสามารถทำแบบนี้ได้ต่อ จากวิธีการวินิจฉัยคดีนี้ และบริษัทอื่น ที่เราบอกว่า 5% แรก ที่ครอบครองส่วนแบ่ง 85% จะสามารถทำได้แบบเดียวกันนี้อีกในอนาคตอันใกล้"
ย้อนกลับไปในย่อหน้าที่ 2 ซึ่งพูดถึงคำวินิจฉัยของ กขค.ที่ระบุว่าการควบรวมดังกล่าวทำได้ ไม่สร้างผลเสียให้เศรษฐกิจภาพรวม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน
ไม่เพียงแต่ไบโอไทยจะออกมาตอบโต้กับข้ออ้างดังกล่าว โดยยกกรณีศึกษาจากต่างประเทศ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงส่วนน้อยก็ออกมาตั้งโต๊ะแถลงจุดยืนเช่นเดียวกัน
สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และโฆษกคณะกรรมการ พร้อมด้วย อร่ามศรี รุพันธ์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ชี้ว่า หากยอมให้มีการควบรวมธุรกิจจริง จะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจการค้าของประเทศ
ทั้งยังมีผลทำให้โครงสร้างของตลาดค้าส่งค้าปลีกมีการกระจุกตัวในระดับสูงมาก อันจะนำไปสู่การครอบงำตลาดหรือการผูกขาดทางการค้าในที่สุด เพราะ ซี.พี.มีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภท
ทั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในชีวิตประจำวัน "ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ" เมื่อมาผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงอยู่แล้ว จะเป็นการทำร้ายเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
สอดคล้องกับ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ที่ตั้งคำถามต่อคำวินิจฉัยของ กขค.ไล่มาตั้งแต่ การให้คำจำกัดความ 'ตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก' ไปจนถึงวาทกรรม "มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ" แต่กลับบอกว่าจะไม่ส่งผลกระทบถึงประชาชน
ขณะ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ คณะทำงานทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ตอกย้ำถึงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าว่าต้องเป็นกลไกในการช่วงเหลือผู้ค้ารายเล็ก อาทิ โชห่วย ที่ปัจจุบันเผชิญปัญหาความเสียเปรียบในการแข่งขันอยู่ก่อนหน้าแล้ว
แม้การอนุญาตควบรวมธุรกิจครั้งนี้ กขค.จะระบุมาตรการเพื่อลดหรือเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในตลาดดังกล่าวหลังควบรวมธุรกิจ แต่หากผลการศึกษาผ่านดัชนีการผูกขาด (HHI) สะท้อนชัดว่าเมื่อควบรวม ซี.พี.และเทสโก้ เข้าด้วยกัน จะทำให้ดัชนีการ กระจุกตัวของตลาดสูงทะลุเกณฑ์ 2500 อย่างมีนัยสำคัญ เหตุใดจึงยอมปล่อยให้มีการควบรวมตั้งแต่ต้น อีกทั้งมาตรการลดการกระจุกตัว ยังเลือกใช้แบบที่เบาที่สุดคือมาตรการเฉพาะด้านพฤติกรรมเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;