ไม่พบผลการค้นหา
กะเหรี่ยง KNU ประณามทหารพม่า ฉีกข้อตกลงหยุดยิง ร้องขอประชาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองด้านมนุษยธรรมที่จำเป็น - ผวจ.แม่ฮ่องสอนยันไม่ได้ผลักดันผู้หนีภัยกลับ

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen National Union: KNU) ได้ออกแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาระบุว่า ขอประณามการโจมตีทางอากาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อพลเรือนชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเริ่มที่หมู่บ้านเด่ปูโหน่ ในคืนวันที่ 27 มี.ค. 2564 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คนและบาดเจ็บสาหัส 8 คน ความกลัวต่อการโจมตีทางอากาศ ทำให้มีประชาชนกว่า 10,000 คนหลบหนีและพยายามหาที่พักพิงในป่า หรือหนีภัยความตายมายังประเทศไทย

การดำเนินการของทหารพม่า ซึ่งอ้างว่าปกป้องประชาชนและประเทศนั้น สิ่งที่แสดงเหตุผลไม่ได้และยอมรับไม่ได้ ไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมใดๆ ที่จะเข่นฆ่า ทำร้าย และข่มขวัญผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งผู้หญิง ผู้สูงอายุ และเด็ก ในยามวิกาล

แถลงการณ์ของ KNU ระบุว่า แม้จะมีข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) แต่กองทัพพม่าได้ขยายกำลังทหารในดินแดนกะเหรี่ยงหลายแห่ง เป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งก่อให้เกิดความหวาดกลัวและการพลัดถิ่น ทหารพม่ายังเดินหน้าด้วยการสร้างถนนทางทหาร ส่งกองกำลังเพิ่มขึ้น สาดกระสุนเข้าไปในหมู่บ้าน และบินโดรนตรวจการณ์ มีการสังหารพลเรือนหลายครั้งโดยทหารพม่า รวมถึงการสังหารสตรี คือ หน่อมูนอ อันน่าสยดสยอง ที่ถูกยิงในบ้านตนเองเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563

แถลงการณ์ระบุว่า เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่กองกำลัง KNLA (หน่วยทหารของ KNU) ออกประกาศเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ว่าหากกองทัพพม่าไม่ให้คำมั่นที่จะดำเนินการตามข้อตกลงหยุดยิง NCA อย่างจริงใจ กองกำลัง KNLA ย่อมมีความชอบธรรมในการปกป้องดินแดนการปกครองและการปกป้องประชาชนชาวกะเหรี่ยง ผลของการผิดข้อตกลงดังกล่าว เราได้ระบุไว้อย่างชัดเจนรวมถึงการตัดเส้นทางส่งเสบียงของทหารพม่า ชุมชนชาวกะเหรี่ยงได้จัดการชุมนุมหลายครั้งเพื่อเรียกร้องสิทธิในการดำรงชีพอย่างสงบสุข และเรียกร้องให้ทหารพม่าถอนกำลังออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การรุกทางทหารยังคงดำเนินต่อไปในพื้นที่พลเรือน

“ความลึกลับล่าสุดของการส่งข้าวให้ทหารพม่าผ่านประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งในแผนที่เจตนาที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างกะเหรี่ยงกับไทย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของเรา” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุอีกว่า ช่วงหลายสัปดาห์ก่อนวันที่ 27 มี.ค. หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ฐานทหารพม่าที่สิมือท่า ถูกยิงด้วยปืนใหญ่ ทำให้ชาวบ้านต้องซ่อนตัวด้วยความหวาดกลัว กองกำลังของเราจึงจำเป็นต้องเข้ายึดฐานทหารดังกล่าว เพื่อยุติการสร้างความหวาดกลัวแก่ชาวบ้าน และเพื่อให้ผู้คนสามารถกลับคืนสู่ชุมชนได้อย่างปลอดภัย ทหารพม่าล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิง และไม่ปฏิบัติตามการแจ้งเตือนของเรา และข้อเรียกร้องของประชาชนของเราให้ถอนกำลังทหารออกไป

เรามองเห็นการรุกรานทางทหารมานานแล้วว่าต้องนำไปสู่ทางตันของของกระบวนการสันติภาพ เราแจ้งให้กองกำลังรักษาความปลอดภัยตื่นตัวและเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่ทหารพม่าเฉลิมฉลองวันกองทัพ แม้ว่าทหารพม่าจะมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน ว่าจะทำการโจมตีทางอากาศเมื่อใด ไม่ว่าจะฐานทหารพม่าที่สิมือท่า จะถูกยึดคืนหรือไม่ ทหารพม่าก็ยังคงกล่าวโทษว่ากองกำลังกะเหรี่ยงละเมิดข้อตกลงหยุดยิง เป็นข้ออ้างของการโจมตีทางอากาศที่ร้ายแรงในพื้นที่พลเรือนกะเหรี่ยง ซึ่งนี่เป็นเพียงหนึ่งในฐานทหารพม่ากว่า 80 แห่งที่เข้ามาขยายในดินแดนบรรพบุรุษของเรา กลยุทธ์นี้ไม่มีอะไรใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของทางทหารของทหารพม่า ซึ่งเคยใช้มาแล้วกับกองทัพคะฉิ่น (KIA) และกองทัพอาระกัน (AA)

“ในเวลานี้กองกำลังทหารภาคพื้นดินของพม่าหลายพันคนกำลังรุกคืบเข้ามาในดินแดนของเราจากทุกด้าน เรากังวลอย่างมากเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงของพลเรือน เราไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่ร้ายแรงเหล่านี้ที่เกิดขึ้นโดยกองทัพของรัฐบาลทหารนอกกฎหมาย เพื่อปกป้องดินแดนของเรา ชาวกะเหรี่ยงของเรา และสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเองของพวกเขา

"เราขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือและความคุ้มครองด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นแก่ประชาชนของเรา ที่หลบหนีจากการโจมตีของทหารพม่าในเวลานี้ เราขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศอย่าให้การยอมรับรัฐบาลทหารนอกกฎหมายนี้ และตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับพวกเขารวมถึงความสัมพันธ์ทางทหารและเศรษฐกิจ ประชาคมระหว่างประเทศควรกดดันให้ทหารพม่าฟาสซิสต์ยุติการใช้อาวุธทางทหารต่อพลเรือนโดยทันที ซึ่งถือเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

แฟ้มภาพ การสวนสนามของกองกำลังเคเอ็นยู
  • แฟ้มภาพ การสวนสนามของกองกำลังเคเอ็นยู

ในวันเดียวกันที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายผู้หญิงกะเหรี่ยงลุ่มน้ำสาละวิน ได้เขียนหนังสือด้วยรายมือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาระบุว่า จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัฐบาลมทหารพม่า และกลุ่มกองกำลังชนกลุ่มน้อย ได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่ในรัฐกะเหรี่ยงของกองพล 5 เคเอ็นยู (กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) ที่ทหารพม่าได้ใช้เครื่องบินโจมตี ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนเสียหาย และเกิดการบาดเจ็บล้มตายทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งต้องหนีภัยความตายข้ามแม่น้ำสาละวินมาขอพักพิงในประเทศไทยจำนวนหลายพันคน

“ดังนั้นเพื่อขอความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม 1 ขอให้จัดหาสถานที่พักอาศัยเป็นการชั่วคราว ที่ให้ความปลอดภัยสำหรับพวกเรา 2 ขอความช่วยเหลือด้านอาหาร ยารักษาโรค เครื่องอุปโภคบริโภค เท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้หญิง 3 ขอให้ประสานและอนุญาตให้องค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณะ สภากาชาด องค์กรด้านการกุศล ได้เข้ามาช่วยเหลือพวกเรา”


ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอนยันไม่ได้ผลักดัน แต่สมัครใจกลับ

ขณะที่ สิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ที่หนีภัยความไม่สงบในประเทศพม่าในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

1.สถานการณ์ปัจจุบันผู้หนีภัยความไม่สงบในพม่าได้ข้ามฝั่งแม่น้ำสาละวินมาตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. ถึงปัจจุบันจำนวน 2 พันคนเศษ กระจายตัวตามแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งทางปฎิบัติกองกำลังนเรศวรได้ดูแลความปลอดภัยและเจรจาทำความเข้าใจให้ผู้หนีภัยได้เดินทางกลับโดยสมัครใจซึ่งปัจจุบันได้เดินทางกลับไปแล้ว เหลืออยู่ไม่มากซึ่งคาดว่าจะเดินทางกลับภายใน 1-2 วัน

2.หากแนวโน้มสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นและมีผู้หนีภัยบางส่วนยังไม่สมัครใจกลับ หรืออาจมีผู้หนีภัยเพิ่มเติมทางจังหวัดจะได้ปฎิบัติตามแนวทางของรัฐบาลซึ่งจะได้กำหนดในขั้นตอนต่อไป และหากสถานการณ์ยกระดับความรุนแรงขึ้น ทางจังหวัดจะได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยโดยบูรณาการทุกภาคส่วน หากเกินกำลังก็จะขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย 3.กรณีผู้ที่หนีภัยความไม่สงบชาวพม่าที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 7 คนนั้น ได้เข้ามารักษาพยาบาลในไทย เมื่อรักษาเสร็จก็จะส่งกลับพื้นที่ปลอดภัยตามหลักมนุษยธรรมของสากล ที่ผู้บาดเจ็บต้องเข้าสู่ขบวนการทางการแพทย์

“อยากขอความร่วมมือสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้องด้วย อย่างน้อยมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน” ผู้ว่าราชการฯกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีชาวกะเหรี่ยงถูกส่งกลับโดยไม่สมัครใจ สิธิชัยกล่าวว่าหลักการ ทางทหารบอกว่าสมัครใจ เป็นการเจรจา

เมื่อถามอีกว่าจะเข้าไปช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำ กับผู้หนีภัยอย่างไร สิธิชัยกล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในการดูแลของกองกำลังนเรศวรซึ่งไม่ได้รายงานให้ทางจังหวัดทราบ คงรายงานไปยังหน่วยเหนือโดยตรง

เมื่อถามว่าอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพในพื้นที่หรือไม่ ผวจ.แม่ฮ่องสอนกล่าวว่า “ต้องขออนุญาตกองกำลังนเรศวรเพราะอยู่ในความดูแลของฝ่ายทหาร แต่โดยภาพรวมเข้าใจว่าในพื้นที่ไม่มีใครรับรองด้านความปลอดภัยจึงอาจเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีผู้หนีภัยเข้ามาอยู่ยาวนานเท่าไร ทหารถึงมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาดูแล

สิธิชัยกล่าวว่าขึ้นอยู่กับการประเมินและการร้องขอจากฝ่ายทหาร

เมื่อถามว่าหากภายใน 1-2 วันเกิดการสู้รบรุนแรงและมีการหนีภัยเข้ามาอีกจะทำอย่างไร ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอนกล่าวว่า ก็ดำเนินการตามกระบวนการเดิม ขั้นตอนแรกคือต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย และสร้างความเข้าใจ ลดความกังวลให้คนเหล่านั้น หากเขาพร้อมกลับไป เราก็พร้อมสนับสนุนให้กลับ

เมื่อถามอีกว่ามีคลิปวิดีโอออกมายืนยันว่ามีการบังคับให้ผู้หนีภัยกลับประเทศ

สิธิชัยกล่าวว่า “คำพูดบางทีพูดเร็วๆ เพื่อเข้าใจง่ายๆ แต่ไม่ได้เป็นการผลักดัน เป็นการสมัครใจให้กลับโดยสวัสดิภาพ”

ด้านความเคลื่อนไหวในพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวิน ชาวบ้านที่อพยพข้ามฝั่งจากรัฐกะเหรี่ยงจำนวน 76 คน มายังพักพิงอยู่ก่อนถึงบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ยังคงพักค้างคืน แต่ตลอดทั้งวันทหารพรานได้ห้ามสื่อมวลชนและบุคคลภายนอกเข้าไป

เวลา 12.30 น.มีเรือพยาบาลนำผู้บากเจ็บจากรัฐกะเหรี่ยง 7 คนมาที่บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยทีมแพทย์โรงพยาบาลสบเมย มาทำการรักษาพยาบาลเบื้องต้นก่อนนส่ง รพ.สบเมย ทั้งหมดบาดเจ็บจาการระเบิด จากการโจมตีทางอากาศของทหารพม่า ที่บ้านเดปุนุ กองพล 5 รัฐกะเหรี่ยง KNU เมื่อวันที่ 27 มี.ค. เป็น ชาย 4 คน หญิง 4 คน มีผู้ป่วยอาการหนัก 3 คน ถูกสะเก็ดระเบิดที่ขา และมีบาดแผลไฟไหม้ตามร่างกาย โดยทีมแพทย์ และพยาบาลโรงพยาบาลสบเมย ใส่ชุด PPE ป้องกันโควิด-19 ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อมนุษยธรรม โดยการประสานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบล แม่สามแลบ