วันนี้ 27 เมษายน 2566 เมื่อเวลา 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ได้จัดกิจกรรม “สืบชะตาลำน้ำเซบาย ครั้งที่ 6” ณ ศูนย์ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย บ้านเชียงเพ็ง หมู่ที่ 1 ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 80 คน และได้จัดเวทีเสวานา “วิพากษ์การเมือง:อุตสาหกรรมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” ทุกคนย้ำนโยบายพรรคการเมืองต้องไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมที่ทำลายวิถีชีวิตชุมชน สิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน หลังจากนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายและเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง
ได้เดินทางไปริมลำน้ำเซบายเพื่อปล่อยกระทงเป็นกิจกรรมสืบชะตาลำน้ำเซบาย ครั้งที่ 6” พร้อมอ่านแถลงการณ์ การเมือง:อุตสาหกรรมที่ทำลายวิถีชุมชนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และข้อเสนอคือ 1.เราจะไม่เลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล 2.เราจะยืนหยัดปกป้องบ้านเกิด ปกป้องสิทธิชุมชน ปกป้องทรัพยากร 3.เรายืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ก่อนแยกย้ายเดินทางกลับบ้าน
ด้าน สิริศักดิ์ สะดวก อายุ 43 ปี ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมสืบชะตาลำน้ำเซบายครั้งที่ 6 นี้ เป็นการจัดเวทีเสวนาที่ทุกคนสามารถวิพากษ์นโยบายพรรคการเมืองที่ไม่กล้าแตะเรื่องอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน และสิ่งแวดล้อม จนเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดโลกร้อน ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล
ตลอดจนเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ทั้ง ๆ ที่บทบาทพรรคการเมืองจะต้องผลิตนโยบายที่ต้องคำนึงถึงปัญหาใกล้ตัวที่เกิดขึ้นด้วย เพื่อให้พี่น้องได้ตระหนักถึงปัญหาและร่วมรักษาฐานทรัพยากรชุมชน และการจัดทำนโยบายจะต้องฟังเสียงของพี่น้องในแต่ละพื้นที่หรือเรียกว่าให้พี่น้องระดับล่างได้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายด้วย ไม่ใช่กำหนดจากบนลงล่างอย่างเดียว
ด้าน ภาณุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์ อายุ 28 ปี ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม กล่าวว่า ประชาธิปไตยมีทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งประชาธิปไตยทางอ้อมนี่ก็จะเป็นการเลือกตั้งเพื่อเอาผู้แทนไปเป็นปากเป็นเสียงให้กับพี่น้องชาวบ้านในรัฐสภาหรือก็คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. นั้นเอง ส่วนประชาธิปไตยทางตรง ก็คือการที่พี่น้องชาวบ้านรวมกลุ่มกันไม่ว่าจะเป็นในระดับพื้นที่หมู่บ้าน ตำบลหรือจังหวัด ในการที่จะเรียกร้องสิทธิอะไรบางอย่างซึ้งเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องเอง ซึ่งนี่เป็นประชาธิปไตยทางตรง
ด้าน นิมิต หาระพันธ์ อายุ 64 ปี เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร กล่าวว่า แต่เดิมทีวิถีชีวิตของพี่น้องชาวบ้านในพื้นทีนั้น พึ่งพาอาศัยฐานทรัพยากรในพื้นที่ของตนเองเป็นหลัก ยังไม่ได้มีเทคโนโลยี ที่ทันสมัย หรือความสะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้ ซึ่งในอีกประเด็นก็กล่าวว่า นโยบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจาก ระบบการเมือง นักการเมือง รวมถึงนโยบายที่สั่งการจากข้างบนลงมาข้างล่าง ซึ่งนโยบายเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ด้วยซ้ำ แต่ต้องมารับกรรมจากนโยบายที่เกิดขึ้นในพื้นที่
เมื่อเวลา 11.40 น. ทางกลุ่มฯ ได้เดินทางถึงริมลำน้ำเซบายบริเวณสถานีสูบน้ำประปาเชียงเพ็ง ได้ดำเนินกิจกรรมทางพราหมณ์ ในกิจกรรมสืบชะตาลำน้ำเซบาย ครั้งที่ 6 ปกป้องลำเซบาย ไม่เอามลพิษอุตสาหกรรม ก่อนปล่อยกระทง นางสาวจินต์จุฑา กอมะณี อายุ 21 ปี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง ได้อ่านแถลงการณ์ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ แถลงการณ์ “การเมือง:อุตสาหกรรมที่ทำลายวิถีชุมชนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม”
ลำน้ำเซบาย เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลในพื้นที่ภาคอีสาน มีความยาวตลอดลำน้ำ 223 กิโลเมตร ตลอดสองฝั่งลำน้ำชาวบ้านต่างมีวิถีความผูกพันจากการได้อาศัยหาอยู่หากิน “ลำเซบาย” จึงเป็นสายน้ำที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักของชุมชนที่ไหลผ่านในหลายจังหวัด ทั้ง มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมทั้งบ้านเชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาหลังจากการรัฐประหารของ คสช. ได้ดำเนินนโยบายของอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสานประมาณ 29 โรง ทั้ง ๆ ที่ประชาชนในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อน ทั้งที่กำลังดำเนินโครงการและบางพื้นที่ดำเนินโครงการเสร็จแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อผู้คน ความขัดแย้งภายในชุมชน ระบบนิเวศน์ ทรัพยากร มลพิษที่ทางเสียงที่เกิดจากการดำเนินกิจการของโรงงาน เป็นต้น
ปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองได้เดินทางเข้าสู่การหาเสียงและการประกาศนโยบายจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ก่อนจะมีการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ทางกลุ่มฯ คาดว่าประเทศชาติจะกลับมาเดินภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมกำหนดการพัฒนาในพื้นที่ของตนเอง แต่ก็ยังไร้วี่แววจากพรรคการเมืองที่จะกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหรือร่วมหาทางออกของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ
อาทิ โครงการอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาลเลือด ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ฐานทรัพยากร ตลอดจนปริมาณของฝุ่น P.M.2.5 และการเปลี่ยนแปลงสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันที่มีความทวีคูณเพิ่มมากยิ่งขึ้น ตลอดระยะเวลาการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2559 ทางกลุ่มได้ใช้เหตุผลหลักความเชื่อตามวัฒนธรรมชุมชน ตลอดไปจนถึงการทำข้อมูลด้านวิชาการ งานวิจัย การเก็บข้อมูล เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น
รวมถึงการใช้ข้อมูลทางวิชาการในการอ้างอิงข้อมูลในการคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวลมาตลอด ทางกลุ่มฯ ได้เน้นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในกลุ่ม หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมและได้ผนวกกับเอาวัฒนธรรมประเพณี วิถีในชุมชนและคิดค้นกิจกรรมที่ชาวบ้านได้ดำเนินวิถีชีวิตมาตลอดให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมและทำต่อเนื่องประจำทุก ๆ ปี เช่นการดำนารวม การเกี่ยวข้าวนารวม กิจกรรมปั่นจักรยานบอกรักลำเซบาย การบวชป่า กิจกรรมสืบชะตาลำน้ำเซบาย ฯลฯ
กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จึงได้ยืนหยัดคัดค้านโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 61 เมกะวัตต์ ด้วยจิตสำนึกแห่งการปกป้องบ้านเกิด ยืนหยัดปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ยืนหยัดปกป้องอากาศที่บริสุทธิ์เอาไว้ให้แก่ลูกหลายในอนาคต โดยลุกขึ้นมาสู้ด้วยความหวงแหน ลุกขึ้นมาสู้ด้วยแรงกายแรงใจ
ดังนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็ง ได้เห็นความสำคัญของลำน้ำเซบายที่ชาวบ้านได้ใช้ร่วมกันจึงจัดงาน “สืบชะตาลำน้ำเซบายครั้งที่ 6” และมีข้อเสนอดังนี้
1.เราจะไม่เลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล
2.เราจะยืนหยัดปกป้องบ้านเกิด ปกป้องสิทธิชุมชน ปกป้องทรัพยากร
3.เรายืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล