กล่าวเฉพาะ Food Delivery ปัจจุบันบริษัทที่เปิดบริการอยู่ในประเทศไทยมีอยู่ 7 แพลตฟอร์ม 1.Foodpanda 2.GET-Gojek 3.Grab 4.Lalamove 5.LINE MAN 6.SKOOTAR 7.Robinhood ตัวแทนกลุ่มสหภาพไรเดอร์รวบรวมข้อมูลพบว่า จำนวนไรเดอร์ทั่วประเทศในช่วงต้นปี 2564 มีอยู่ประมาณ 300,000 – 400,000 คน แรงงานกลุ่มนี้แม้จะมีอัตราการหมุนเวียนสูง แต่ก็นับได้ว่าไม่ใช่กลุ่มเล็กๆ
‘วอยซ์’ จะพาไปสำรวจตลาดแรงงานของกลุ่มไรเดอร์ว่าสภาพการทำงาน และค่าตอบแทนที่ได้รับสมเหตุสมผลเพียงไหน สวัสดิการเป็นเช่นไร ต้นทุนที่มองไม่เห็นที่ไรเดอร์ต้องแบกรับ รวมถึงช่องว่างทางกฎหมายของไทย ซึ่งไม่มีฉบับไหนคุ้มครองแรงงานจำนวนมากนี้
ค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม
เรย์-อนุกูล ราชกุณา ผู้ประสานงานสหภาพไรเดอร์ อายุ 31 ปี ทำอาชีพไรเดอร์ประมาณ 3 ปีแล้ว เขาเล่าถึงรายได้ว่า ในช่วงแรกหากขยันออกเช้าหน่อย รายได้จะตกอยู่ที่ราว 1,000-2,000 บาทต่อวัน แต่ปัจจุบันนี้กว่าจะได้สักพันก็หืดขึ้นคอ
“ทุกวันนี้ไรเดอร์ต้องออกมาขับรถเพื่อมารองานอยู่ในตัวเมือง เพราะว่าถ้าจะไปรออยู่บริเวณชานเมือง ก็คงจะไม่มีออเดอร์ให้ไปรับ แต่ออเดอร์ที่ต้องไปส่ง บางครั้งออกจากชานเมืองไปไกลเป็น 10 กิโล ไรเดอร์ไม่สามารถปฏิเสธออร์เดอร์ได้ไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ ต้องรับงานสถานเดียว ไม่งั้นทางแอปจะระงับสัญญาณเรา 1 วันหรือเป็นสัปดาห์ก็ว่าไป โดยที่การอุทธรณ์มีกระบวนการที่ยุ่งยาก ส่วนใหญ่ไรเดอร์จะไม่ค่อยเสียเวลายื่นอุทธรณ์ ก็จะยอมๆ ทางบริษัทไป” เรย์กล่าว
เรย์บอกด้วยว่าที่ผ่านมา การแข่งขันกันระหว่างบริษัทสูงมาก แต่ละแห่งจะออกโปรโมชั่น ส่วนลดต่างๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภครวมถึงร้านค้าให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริหาร แต่ในความเป็นจริงแล้วคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ไรเดอร์ ที่ถูกกดราคาลงเรื่อยๆ
“สมมติว่า ค่ารอบปกติของเราอยู่ที่ประมาณ 50 บาท แต่มาวันหนึ่งบริษัทปรับลดให้เหลือสัก 30 บาท โดยอ้างว่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบค่ารอบเป็นรูปแบบอินเทนทีฟเข้ามา ถ้าคุณอยากได้เงินเพิ่ม คุณก็ต้องเร่งทำรอบในช่วงเวลาที่เขากำหนด เช่นกำหนดเวลาที่ 2 ชม. ไรเดอร์ก็จำเป็นต้องวิ่งเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ทันภายในเวลานั้น ถ้าทำรอบไม่ทันก็ไม่สามารถได้เงินเพิ่ม นี่แหละคือปัญหาที่ไรเดอร์ต้องเผชิญโดยที่ทางบริษัทเขาไม่เคยคำนึงถึงความเป็นจริงและความอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับไรเดอร์”
“ยกตัวอย่างวันที่ 26 มีนา (2564) เรารวมตัวประท้วงเรียกร้องกรณีที่บริษัทปรับลดค่ารอบ จาก 62 บาทเหลือประมาณ 50 บาท เมื่อหักภาษีแล้วเหลืออยู่ประมาณ 40 กว่าบาท” เรย์กล่าว
ดี - ฮัมดี สาแม็ง แกนนำสหภาพไรเดอร์จังหวัดปัตตานีให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันปัญหาค่ารอบของไรเดอร์ยี่ห้อหนึ่งในจังหวัดปัตตานีอยู่ที่ประมาณ 18 บาทกว่าหลังจากหักค่าภาษี แต่สำหรับกรุงเทพฯ หักค่าภาษีแล้วตกอยู่ที่ประมาณ 45 บาท หาดใหญ่อยู่ที่ 35 บาท นครศรีธรรมราชอยู่ที่ 27 บาท
“ความแตกต่างของค่ารอบตรงนี้ พวกเราเห็นว่าไม่ยุติธรรมต่อไรเดอร์อย่างมาก เพราะเราทำงานบริษัทเดียวกันแต่ใช้มาตฐานการหักภาษีแตกต่างกัน ไรเดอร์ก็ทำงานเหมือนกัน จ่ายค่าน้ำมันก็ราคาเท่ากันกับจังหวัดอื่น ๆ ดังนั้นค่ารอบควรจะเท่าเทียมกัน” ฮัมดี กล่าว
อาจารย์อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิชาการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคลุกคลีและทำวิจัยในประเด็นสิทธิแรงงานไรเดอร์มาอย่างต่อเนื่อง อธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า ค่าตอบแทนหรือค่าตอบแทนแบบแรงจูงใจ หรือนโยบาย intensive ทั้งหลายของบริษัทจะเป็นตัวกระตุ้นให้ไรเดอร์ทำงานมากขึ้น ในอดีตช่วงที่ธุรกิจเริ่มเปิดใหม่ๆ บริษัทแพลตฟอร์มจะให้ค่าตอบที่แทนสูงมากเพราะต้องการสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาทำงาน แต่พอมีคนเข้าสู่อาชีพนี้มากขึ้น มีการแข่งขันกันระหว่างแพลตฟอร์มกันเอง ทางบริษัทก็คอยๆ ปรับลดค่าตอบแทนน้อยลงเรื่อยๆ
ประเด็นที่น่าสังเกตคือ การที่บริษัทต่างทยอยกันปรับลดค่าตอบแทนลง ล้วนเป็นการตัดสินใจของตัวบริษัทแต่เพียงผู้เดียว โดยที่ไม่มีการสำรวจหรือถามไถ่คนที่ทำงานว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่ กับค่าตอบแทนหรือค่ารอบที่จะมีการปรับลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม
“คนที่ต้องการสมัครมาเป็นไรเดอร์ คุณก็ต้องยอมรับเงื่อนไขหรือทำตามขอกำหนดตามที่บริษัทได้ระบุไว้ก่อน จากการสำรวจความคิดเห็นของไรเดอร์ที่ผมทำในงานวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เขาไม่คอยให้ความสนใจเงื่อนไขหรือข้อกำหนดตามที่บริษัทระบุไว้มากเท่าไหร่ เพราะตัวเนื้อหาที่มีความยาวหลายหน้า ส่วนใหญ่เขาจะเลื่อนๆไปข้างล่าง แล้วกดตกลง สัญญาการจ้างงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ไม่มี” อรรคณัฐกล่าว
ขณะที่เรย์บอกว่า เคยคัดค้านการปรับลดค่ารอบรวมถึงค่ารอบที่ห่างกันค่อนข้างมากระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด บริษัทอธิบายประเด็นเหล่านี้ว่า เพราะแต่ละที่ค่าครองชีพแตกต่างกัน
“ผมมองว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ ทุกวันนี้ค่าครองชีพทุกพื้นที่เท่ากันหมดแล้ว ค่าน้ำมันต่างจังหวัดเผลอ ๆ แพงกว่ากรุงเทพฯ ด้วยซ้ำไป ผมมองว่าบริษัทกดค่าแรงจากไรเดอร์ต่างจังหวัดเพื่อมาถมที่กรุงเทพฯ เพราะว่ากรุงเทพฯ เป็นไข่แดงของบริษัทเหล่านี้ ค่าตอบแทนที่ไรเดอร์ได้รับต่อรอบในวันนี้มันถูกมาก แพลตฟอร์มเหล่านี้มีกลไกการถ่ายโอนต้นทุนความเสี่ยงอยู่เสมอ สังเกตไหมว่าทางบริษัทจะมีการประกาศรับคนใหม่อยู่ตลอดเวลา ตามหลักแล้ว บริษัทไม่ได้ต้องการคนขับที่ซื่อสัตย์หรือคนขับเก่าๆ เพื่อเก็บไว้ใช้งานระยะยาว ซึ่งจะส่งผลเสียต่อบริษัทและคนขับด้วย เพราะว่าคนใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะออกรถคันใหม่เพื่อมาวิ่ง รวมถึงอุปกรณ์ก็จะใหม่ด้วย”
ทั้งนี้ จากรายงานวิจัย ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน แจกแจงค่าใช้จ่ายแรกเข้าทำงานกับบริษัทแพลตฟอร์มต่างๆ ดังนี้
แผนที่ในมือถือใกล้ เส้นทางจริงไกล
ไม่เพียงแต่ค่าตอบแทนจะได้อย่างจำกัดจำเขี่ยและไม่เท่าเทียมกันเท่านั้น ประเด็นเรื่องแผนที่ของแพลตฟอร์มก็ดูจะสร้างปัญหาให้ไรเดอร์ เรย์เล่าว่า แผนที่ในระบบแอปพลิเคชันของบริษัทวัดระยะทางเป็นเส้นตรง แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไรเดอร์ไม่สามารถขับทะลุตึกหรือข้ามคลองตามเส้นทางที่แอปพลิเคชันชี้ให้ไปได้ การที่แอปพลิเคชันวัดระยะทางเป็นเส้นตรงแบบนี้ ทำให้ไรเดอร์ขาดทุนเพราะค่าจ้างได้ตามระยะทาง
“บริษัทเคยมาชี้แจงประเด็นเหล่านี้กับไรเดอร์ว่า จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้แมพของ google เพื่อลดภาระทางการเงิน ทั้งๆ ที่บริษัทเองก็ทำกำไรอย่างมหาศาล จากร้านค้าและผู้บริโภค ถ้าพูดถึงในเรื่องกำไรบริษัทเหล่านี้ อาจจะขาดทุน แต่ถ้าพูดถึงเรื่องมูลค่าของบริษัทแล้วเขาไม่ได้ขาดทุน มูลค่าในตลาดกลับสูงขึ้นส่วนทางกับกระแสเศรษฐกิจปัจจุบัน ข้อสังเกตก็คือ ทางบริษัทใช้ช่องทางเหล่านี้สร้างกำไรให้กับตัวเองแล้วทิ้งภาระให้กับไรเดอร์ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ” เรย์กล่าว
เสี่ยงอุบัติเหตุสูง แต่ดูแลแบบมีเงื่อนไข
จากผลการสำรวจของ Rocket Media Lab ในกลุ่มแรงงานไรเดอร์ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวม 1,136 คน พบว่า ไรเดอร์ทำงานส่งอาหารต่อวันทำรอบได้ดังนี้
11-16 รอบ มีจำนวนมากที่สุด คิดเป็น 34.51%
มากกว่า 16 รอบ คิดเป็น 31.33%
5-10 รอบ คิดเป็น 30.71%
4 รอบหรือน้อยกว่า 2.74%
อื่นๆ 0.71%
เมื่อการทำรอบสูง ความเร็วในการเคลื่อนที่ย่อมมีมาก ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุไม่ว่าระดับเล็กน้อยหรือหนักหนาย่อมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เมื่อถามถึงประสบการณ์การประสบอุบัติเหตุของไรเดอร์ พบว่า
เคยประสบอุบัติเหตุ 1-4 ครั้ง จำนวนมากที่สุด คิดเป็น 65.96%
เคยประสบอุบัติเหตุ 5-10 ครั้ง คิดเป็น 17.72%
เคยประสบอุบัติเหตุ 11-16 ครั้ง คิดเป็น 6.79%
เคยประสบอุบัติเหตุมากกว่า 16 ครั้ง คิดเป็น 3.62%
ไม่เคยประสบอุบัติเหตุเลย 2.47%
ไม่ระบุ 3.44%
เมื่อพิจารณาเงื่อนไขไรเดอร์ที่จะได้รับสิทธิประกันอุบัติเหตุ (LINE MAN) จะพบว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับแต่ต้องผ่านเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
1. รับและสำเร็จงานส่งอาหารระหว่างวันที่ 1 ถึงวันสุดท้ายของทุกเดือน 350 งานตามจำนวนขั้นต่ำที่กำหนดในแต่ละพื้นที่
2. ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิพิเศษระหว่างวันที่ 1-5 ของเดือนถัดไปผ่านข้อความ 'ข่าวประกาศ' บนแอปฯ LINE MAN RIDER หรือภายในวันที่บริษัทฯ กำหนด โดยต้องระบุข้อมูลถูกต้องและครบถ้วนภายในวันและเวลาที่กำหนดเท่านั้น
3.ไม่มีพฤติกรรมไม่โปร่งใสหรือทุจริต รวมถึงไม่ถูกระงับสัญญาณทั้งชั่วคราวและถาวร ณ วันที่เปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์
4. เงื่อนไขและสิทธิพิเศษทั้งหมดเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด
เรย์ระบุว่า ความเป็นไปได้ที่จะได้รับประกันอุบัติเหตุมีจำนวนน้อยมากเปรียบเทียบกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยและการแย่งชิงกันรับออเดอร์ระหว่างไรเดอร์ด้วยกันเอง ดังนั้น การที่จะได้สิทธิ์ประกันหรือสวัสดิการอะไรต่าง ๆ ก็เหมือนเป็นการบังคับไรเดอร์ภายในตัว เพื่อให้ได้ค่ารอบตามที่บริษัทกำหนดไว้ การกระทำเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าทางบริษัทให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของแรงงานไรเดอร์น้อยเกินไป
“ปัจจัยสำคัญที่เราไม่เคยพูดถึงเลยก็คือรัฐบาล ถ้ารัฐบาลยังไม่ยอมมาควบคุมแพลตฟอมร์เหล่านี้ รวมถึงกฏหมายที่มันล้าหลังเกินไป สิ่งเหล่านี้มันจะเป็นการชี้ทางให้กลุ่มทุนที่มีทรัพยากรทางการเงินเข้ามาขูดรีดประชาชนไทยได้ไม่ขาดสาย” เรย์กล่าว
ถูกแบน ถูกเลิกจ้างโดยง่าย
ปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดจากการทำการสำรวจของสมาชิกสหภาพไรเดอร์จากทุกภูมิภาค คือ การถูกแบนหรือการเลิกจ้าง
กรณีการถูกเลิกจ้าง จะต่างกันกับการถูกเลิกจ้างบริษัททั่วไป โดยจะไม่มีหนังสือเชิญลาออก ไม่มีการเรียกมากล่าวตักเตือนก่อน แต่จะเป็นรูปแบบการแบน ระงับสัญญานจากบริษัทแพลตฟอร์มโดยตรง ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มจะมีกฏที่ไม่เหมือนกัน เช่น โดนร้องเรียนจากผู้บริโภคเกิน 3 ครั้งจะโดนแบน , ตรวจสอบพบว่าไรเดอร์ใช้แอปพลิเคชั่นโกง, ตรวจพบประวัติอาชญากรรม , ไรเดอร์ปฏิเสธรับออเดอร์ เป็นต้น
เรย์ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมามีไรเดอร์ถูกระงับสัญญานเป็นจำนวนมากที่เข้ามาร้องเรียนกับสหภาพไรเดอร์ ข้อสังเกตที่พบคือ ทางบริษัทไม่เคยมีการพิสูจน์ว่ากรณีดังกล่าวว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ตัวอย่างเคสที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 27 สิงหาคม 2564 เกิดจากทางบริษัทกล่าวหาว่ามีไรเดอร์ใช้แอปพลิเคชั่นโกงในการเอื้อประโยชน์กดรับเดอร์ กรณีนี้สร้างความสะเทือนใจต่อกลุ่มไรเดอร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ที่ถูกลงโทษเป็นบุคคลที่พี่น้องไรเดอร์ด้วยกันให้ความนับถือและรู้จักนิสัยใจคอกันเป็นอย่างดี
กฎหมายตามไม่ทัน มีช่องโหว่ ‘ไม่’ คุ้มครองไรเดอร์
ปัญหาสภาพการทำงานของไรเดอร์มีหลากหลายประเด็น แต่ไรเดอร์นั้นรวมกันเรียกร้องได้ยากมากเพราะสถานะทางกฎหมายังกำกวม ไม่เหมือนแรงงานในระบบที่เป็น ‘ลูกจ้าง’ ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน และสามารถก่อตั้ง ‘สหภาพแรงงาน’ เพื่อต่อรองสภาพการจ้าง-การทำงานกับบริษัทได้โดยตรง
อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิชาการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคลุกคลีและทำวิจัยในประเด็นสิทธิแรงงานไรเดอร์มาอย่างต่อเนื่อง อธิบายว่า ดูเหมือนไรเดอร์จะไม่อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายไหนเลย แม้ปี 2564 มีการยกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลออกมา แต่ก็มุ่งส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สร้างความโปร่งใสในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเป็นหลัก เรียกว่าให้ความสำคัญกับกลุ่มที่เป็นการค้าปลีกออนไลน์ digital marketplace ทั้งหลาย และไม่ได้ครอบคลุมพูดถึงไรเดอร์แต่ประการใด
อรรคณัฐระบุว่า ถ้าร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ถูกนำมาบังคับใช้ จะส่งผลแน่นอนในแง่ของการตีความว่าแรงงานไรเดอร์เป็น ‘ผู้ประกอบการ’ (เหมือนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์) จะทำให้แรงงานไรเดอร์ไม่ได้มีสถานะเป็นแรงงานในระบบ หรือแรงงานนอกระบบ ซึ่งจะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน
“สถานะของบริษัทแพลตฟอร์มรับส่งอาหารตอนนี้ยังมีความคลุมเครืออยู่ว่า เขาเป็นนายจ้างหรือผู้ว่าจ้างหรือเปล่า หน้าที่เขาควรจะรับผิดชอบต่อสิทธิแรงงานเปล่า อันนี้ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ สหภาพไรเดอร์ก็พยายามเรียกร้องสิทธิแรงงาน แต่ถ้ามีการเอาพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้แล้วไปตีความเอาว่าไรเดอร์เป็นผู้ประกอบการ หมายความว่าภาระในการรับผิดชอบหรือการดูแลแรงงานเหล่านี้ของบริษัทก็จะไม่ต้องมีเลย ส่วนตัวคิดว่าไม่ควรที่จะยิบเอาพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มาใช้ในการตีความแบบนั้น เพราะจะเป็นการแบบใช้ผิดฝาผิดตัว” อรรณัฐกล่าว
อรรคณัฐขยายความว่า ถ้าเรายกเอากฎหมายแรงงานมาเป็นฐานในการตีความไรเดอร์ ก็จะมีขอถกเถียงว่าตกลงแล้วไรเดอร์มีสถานะลูกจ้างหรือเปล่า หรือว่าเป็นแรงงานอิสระ เรื่องนี้ดุเหมือนจะยังไม่มีความชัดเจน เพราะแม้ลูกจ้างจะมีกฎหมายแรงงานคุ้มครองอยู่ แต่หากบริษัทแพลตฟอร์มไม่ได้มองไรเดอร์เป็นลูกจ้าง แต่มองเป็นผู้รับจ้าง รูปแบบงานเป็นชิ้นงาน รายวัน งานเสริม ก็จะเป็นแรงงานอิสระคล้ายแบบงานฟรีแลนซ์ ซึ่งบริษัทจะไม่มีหน้าที่ต้องดูแลในเรื่องของสิทธิต่างๆ ต่อพนักงานไรเดอร์
ขณะที่ในต่างประเทศจะให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิ ไม่ว่าคุณจะเป็นแรงงานประเภทไหนก็ต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานหลักประกันทางสังคม เช่นเดียวกับการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน สิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิของการว่างงาน รวมไปถึงการพัฒนาทักศะฝีมือแรงงาน สิ่งเหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นหลักประกันทางสังคม ซึ่งต่างประเทศให้น้ำหนักเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเกิดการจ้างงานรูปแบบใหม่ๆ อย่างการบริการที่มีตัวกลางแพลตฟอร์มดิจิตอลขึ้นจึตระหนักต่อปัญหาและแก้ปัญหาได้ไวกว่าประเทศไทย บางประเทศใช้วิธีการแก้กฎหมาย บางประเทศใช้กฎหมายเดิมแต่ตีความให้มันเข้ากันในบริบทแบบใหม่
“ประเทศไทยยังไม่มียังคงมีความล่าช้าอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเมืองภายในประเทศด้วย ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจความคิดเห็น ออกงานวิจัยกันอยู่เลย กว่าจะตกตะกอน กว่าจะมีกฎหมายใช้คุ้มครองดูแลคนงาน สร้างสภาพการแข่งขันในเชิงธุรกิจที่เป็นธรรมมากขึ้น ปัญหาต่าง ๆ ก็อาจจะมีพลวัตไปเป็นเรื่องอื่นไปแล้ว” อรรคณัฐแสดงความกังวล
นอกจากนี้ในงานวิจัยของอรรคณัฐยังชี้ให้เห็นว่า แรงงานไรเดอร์ต้องเผชิญกับสภาพความเสี่ยงหลายอย่าง ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เช่น ความเสี่ยงในการประสบอุบัติเหตุ ความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพในระยะยาว ความเสี่ยงเรื่องสภาพจิตใจ บางครั้งไรเดอร์เองก็ไม่ได้รับรู้ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางร่างกายที่จับต้องไม่ได้ อาการที่ไม่แสดงผลเลยในทันที แต่เกิดจากการสะสมความอ่อนล้า หรือความเครียดที่จะต้องเผชิญกับร้านค้าผู้บริโภค คอลเซ็นเตอร์ ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพจิตใจในระยะยาวด้วย
การรวมตัวต่อรอง การสไตรค์หยุดงานได้ผลเพียงไหน
ในส่วนของการรวามตัวของไรเดอร์นั้น เราจะเห็นว่ามี ‘สหภาพไรเดอร์’ ที่ออกมาเรียกร้องต่อบริษัทต่างๆ อยู่เป็นระยะ แต่อรรคณัฐอธิบายว่า ตามกฎหมายแรงงานของประเทศไทย ‘สหภาพไรเดอร์’ ยังไม่ถือว่าเป็นสหภาพแรงงาน ถ้าเป็นสหภาพแรงงาน กลุ่มเหล่านี้ก็จะมีอำนาจการต่อรองได้ตามกฎหมาย สามารถที่จะมีกระบวนการในการเจรจากับนายจ้างได้ แต่ว่าในลักษณะงานที่อยู่นอกระบบ เป็นลักษณะการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่อยู่นอกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์จึงไม่ได้มีการรองรับการรวมตัวของไรเดอร์ในฐานะ ‘สหภาพแรงงาน’ หากมีการยื่นหนังสือจัดตั้งก็จะเป็นในรูปแบบ ‘สมาคมวิชาชีพ’ ไม่ได้เป็นสหภาพแรงงาน สังเกตว่าพวกเขาจึงจำเป็นที่ต้องใช้คำว่า ‘สหภาพไรเดอร์’ เพราะไม่สามารถใช้คำว่า ‘สหภาพแรงงานไรเดอร์’ ได้ตามกฎหมาย
อรรคณัฐระบุว่า ในทางปฏิบัติแล้ว ภาครัฐควรที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวเพื่อให้เกิดอำนาจการต่อรองระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง เพราะที่ผ่านมาการรวมตัวของพวกเขาก็พอที่จะได้รับผลการตอบรับจากบริษัท ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างอย่างได้ ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นไปแบบที่เขาต้องการ แสดงให้เห็นว่าการรวมตัวแบบไม่เป็นทางการก็สามารถที่กดดันให้ผู้ประกอบการต้องยอมทำตามเงื่อนไขบางอย่างที่พวกเขาเรียกร้อง
“การกดดันที่ประสบความสำเร็จนี้เอง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิของความเป็นมนุษย์อันพึงมี ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นไปตามข้อเรียกร้องทั้งหมด การทำตามเงื่อนไขข้อเรียกร้องที่สร้างความเป็นธรรมมากขึ้น ก็เป็นความสำเร็จอีกขั้นของกลุ่มแรงานกลุ่มนี้” อรรคณัฐกล่าว
เรย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เครื่องมืออย่างการสไตรค์ หรือหยุดงานพร้อมกันจำนวนมากคือการสื่อสารต่อทางบริษัทแพลตฟอร์มโดยตรง เป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ผลกระทบต่อบริษัทจากการนัดรวมตัวกันสไตร์คทำให้งานคาอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก บริษัทก็จะขาดกำไรไปในวันนั้น เพราะไรเดอร์ไม่มาวิ่งงาน เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ต่อทางบริษัทว่าเราต้องการความเป็นธรรมในการทำงาน
“เป้าหมายของสหภาพไรเดอร์ ต้องการรวบรวมคนขับทุกแอปพลิเคชันแล้วสไตรค์หยุดงานกันทั้งประเทศ เพื่อนำไปสู่การผลักดันทางกฎหมาย รัฐบาลควรจะมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองไรเดอร์ มากกว่าการควบคุมไรเดอร์ ปัจจุบันส่วนใหญ่รัฐจะออกกฎหมายไปในเชิงคุ้มครองทางบริษัทแพลตฟอร์มซะมากกว่า” เรย์กล่าว
“ปัญหาเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเฉพราะประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพราะประเทศที่บริษัทแพลตฟอร์มเหล่านี้เปิดให้บริการอยู่ เช่น ประเทศจีน เยอรมนี ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เพราะโดยหลักการแล้วกลุ่มชนชั้นนายทุนย่อมต้องการที่จะหลบเลี่ยงสถานการณ์การจ้างงาน ค่าใช้จ่ายอันมหาศาลที่บริษัทต้องแบกรับต่อพนักงาน ดังนั้น การเรียกร้องที่เราทำอยู่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่มันมีการเรียกร้องปัญหาเหล่านี้อยู่เกือบจะทั่วโลก ยิ่งปัจจุบันนี้โลกอาศัยเทคโนโลยีแบบนี้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่กลับกลายเป็นว่านายทุนผลักภาระให้ชนชั้นแรงงานอย่างเราๆ ได้โดยง่าย”
ฮัมดี แกนนำสหภาพไรเดอร์จังหวัดปัตตานี อายุ 32 ปี ทำงานไรเดอร์มา 1 ปีแล้ว ทำเกือบทุกวัน วันละ 12-13 ชม. โดยออกทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าจนถึง 2 ทุ่มครึ่งของทุกวัน
เขาขยายความว่า ปัจจุบันกลุ่มสหภาพไรเดอร์จังหวัดปัตตานีมีสมาชิกอยู่ประมาน 258 คน และคาดว่าปีหน้าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัญหาที่สหภาพส่วนกลางเคยเรียกร้องไปยังไม่ได้ถูกแก้ไข อีกทั้งทางบริษัทยังเปิดรับพนักงานใหม่อยู่ตลอด ซึ่งจะยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหาการทำงานระหว่างแพลตฟอร์มกับไรเดอร์ด้วย ดังนั้นในระยะยาว เราพยายามที่จะขยายฐานสหภาพให้ทั่วทุกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับแพลตฟอร์ม
ฮัมดีระบุว่า คลื่นลูกแรกในสร้างอำนาจการต่อรองคือการหยุดงาน ในวันที่ 25 สิงหาคม 2564 และวันที่ 19 ธันวาคม 2564 เป็นการนัดรวมตัวกันเพื่อหยุดงานทั้งวัน เพื่อสร้างผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทให้ได้มากที่สุด ทำให้ออเดอร์จะค้างอยู่สต๊อกเป็นจำนวนมาก
“ที่ผ่านมาเราพยายามเรียกร้องให้ตัวแทนบริษัทช่วยสื่อสารกับบริษัทต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องค่าแรงที่ถูกมากและห่างกันมากในแต่ละจังหวัด แต่ผลตอบรับคือ ความเงียบ”
“เราอยากให้บริษัทให้ความสำคัญต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะมันไม่ใช่แค่การช่วยเหลือไรเดอร์อย่างเดียว แต่เป็นการช่วยตัวบริษัทภายในระยะยาวด้วย เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันแหละกัน เติบโตกันไปด้วยกัน พึ่งพาอาศัยกัน สิ่งเหล่านี้เราอยากเห็นและอยากให้เกิดขึ้นกับทุกบริษัทในประเทศไทยด้วยในอนาคต”
ด้านอรรคณัฐเสนอว่า แต่ละฝ่ายก็ควรต้องทำงานของตัวเอง โดยอยู่บนพื้นฐานปกป้องผลประโยชน์ทุกฝ่ายเป็นหลัก มาตตราการของภาครัฐก็ควรจะโฟกัสในการกำกับดูแลตามความรับผิดชอบของตนเอง ทำความเข้าใจบริบทของผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น ยังมีเรื่องกฏหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกเยอะซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเจ้าภาพ
=============
ผู้เขียน: มุมิน รัตนชนานนท์