ไม่พบผลการค้นหา
Voice ชวนอ่านอุมดมการณ์และคำมั่นสัญญาที่ 8 พรรคการเมืองใหญ่ประกาศไว้บนเวทีเสวนา ‘ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง’ ถึงแนวคิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และแนวทางที่ไม่ชายฝันประชาชน

‘การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น’  เป็นกระแสที่ได้รับความสนใจและพูดถึงกันในวงกว้าง เพราะแนวคิดนี้จะสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาหรือข้อบกพร่องของการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) ที่ให้ความสำคัญกับราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งในเชิงโครงสร้างและการตัดสินใจ ซึ่งการปกครองแบบรวมศูนย์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กลับไม่สามารถดูแลและตอบสนองความต้องการ รวมถึงข้อเรียกร้องของประชาชนได้อย่างทั่วถึง 

ภายใต้การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ยังส่งผลให้ประเทศขาดความเป็นประชาธิปไตย กีดกันหรือเพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมจากประชาชน ทั้งด้านการแสดงความคิดเห็น เสนอแนะนโยบาย หรือการบริหารร่วมกับฝ่ายรัฐ อีกทั้งความอ่อนแอของหน่วยการปกครองท้องถิ่น ที่ขาดพัฒนาการต่อเนื่อง ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม และขาดความเป็นอิสระในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถูกพรรคการเมืองหยิบมาหาเสียงแทบจะทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่มียุคใดเลย ที่การกระจายอำนาจจะบรรลุเป้าหมายที่แท้จริง ทั้งที่เราต่างเห็นตรงกันว่า การปกครองส่วนท้องถิ่น ฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้นในวันนี้ Voice จึงหยิบอุมดมการณ์และคำมั่นสัญญาที่ 8 พรรคการเมืองใหญ่ประกาศไว้บนเวทีเสวนา ‘ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง’ ถึงแนวคิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และแนวทางที่อ้างว่าไม่ขายฝันประชาชน

ในฤดูใกล้เลือกตั้งที่ร้อนแรง เชิญทุกท่านกดเซฟถ้อยคำของพวกเขาไว้ในมือถือ วันใดที่พรรคการเมืองเหล่านี้ปรากฏตัวในสภา จะได้ไม่ลืมกัน…

พรรคเพื่อไทย: แก้รัฐธรรมนูญ ยกเครื่องกนะจายอำนาจท้องถิ่น 

จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย บอกว่า โลกนี้มีเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลทำไม่ทัน ทำไม่ดี รัฐบาลไม่ควรแย่งงานท้องถิ่น โลกต้องการบทบาทท้องถิ่น  9 ปีมานี้การกระจายอำนาจถอยหลังที่สุดในรอบ 25 ปี โดยปัญหาต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยรวบรวทไว้ มีดังนี้ 

  1. กำกับควบคุม จากส่วนกลางเต็มไปหมด ครอบ อปท. 
  2. การทำแผนต้องสอดคล้งกับแผนจังหวัด
  3. โครงการจำนวนมากต้องผ่านอนุมัติของอำเภอและผู้ว่า
  4. คำสั่งคสช.เรื่องงานบริหารบุคคลครอบเอาไว้ คือ 8/60 เขาอยากจะได้พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ทำได้ช้า 
  5. การถ่ายโอนภารกิจที่ชะงักทำไม่สำเร็จ หลายอย่างดึงกลับไปส่วนกลาง
  6. การแบ่งงานไม่ชัดเจน ทำงานซ้ำซ้อน คณะกรรมการกระจายอำนาจแบ่งไม่ชัดเจน ต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นำร่อง 4-5 จังหวัด
  7. แบ่งรายได้ไม่สอดคล้องกับภารกิจ งานที่จะทำโดยความต้องการท้องถิ่นไม่เกิดทำแต่งานที่รัฐบาลสั่งมา

เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจ จาตุรนต์ ชี้ถึงบทบาทของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นว่า ในการวางบทบาทให้เหมาะสมชัดเจน เพราะในโลกปัจจุบัน มีเรื่องใหญ่มากเลยที่รัฐบาลต้องทำ แต่ทำไม่ทันและทำไม่ได้ดี ดังนั้น รัฐบาลในส่วนกลางจึงไม่ควรแย่งงานท้องถิ่น ไม่ควรทำแทนท้องถิ่น นี่คือหลักการใหญ่

“ในช่วงที่ คสช. ยึดอำนาจ การกระจายอำนาจก็ถอยหลัง ท้องถิ่นอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ก็เลยไม่มีท้องถิ่นพูดอะไรเท่าไหร่ มาวันนี้พ้นสภาพนั้นไปแล้ว กำลังเข้าสู่การเลือกรัฐบาลใหม่” 

จาตุรนต์มองว่า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังต้องการกระจายอำนาจอย่างมาก เราจะพบว่า 9 ปีมานี้ จนถึงปัจจุบัน การกระจายอำนาจของไทย ถอยหลังที่สุดในรอบ 25 ปี เช่น การกำกับควบคุมจากส่วนกลางมีเต็มไปหมด คำสั่งครอบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ หรือกระทั้งการทำแผนต้องสอดคล้องกับแผนจังหวัด นี่คือเรื่องที่ผิด เพราะเป็นงานคนละส่วนกัน ท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องขึ้นกับจังหวัด นอกจากนี้โครงการจำนวนมากต้องผ่านการอนุมัติของอำเภอ และผู้ว่าฯ ทั้งที่ควรให้สภาฯท้องถิ่นอนุมัติได้

ขณะเดียวกัน คำสั่ง คสช. เรื่องการบริหารงานบุคคลหรือแต่งตั้งโยกย้าย ก็เป็นคำสั่งที่กดทับท้องถิ่น ทำให้ขาดอิสระในการคัดสรรบุคลากร ดังนั้น กฎหมายต้องเอื้อให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการคัดสรรคบุคลาการ และให้เส้นทางความก้าวหน้าของข้าราชการท้องถิ่นเขาไปได้ทั่วประเทศ อีกเรื่องคือการถ่ายโอนภารกิจที่ชะงักไปมาก มีการดึงกลับไปส่วนกลาง การแบ่งงานไม่ชัดเจน เกิดความซ้ำซ้อน เช่น ท้องถิ่นจัดงานประเพณี จัดกีฬา ท้องถิ่นก็ไม่สามารถทำได้ เป็นต้น 

“ปัญหาใหญ่อยู่ที่คณะกรรมการกระจายอำนาจ ไม่ได้จัดแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน เราต้องการให้ท้องถิ่นรีสกิล อัพสกิล ส่งเสริมนวัตกรรม ฝึกอาชีพ แต่ สตง.อ้างว่าทำไม่ได้ เมืองสมัยใหม่ต้องการพัฒนา พรรคเพื่อไทยคิดว่า จังหวัดจัดการตนเอง ต้องการทำเรื่องนี้จริงจัง เราส่งเสริม จังหวัดไหนมีความพร้อม มีเงื่อนไขเหมาะสม เลือกตั้งผู้ว่าฯจังหวัดนำร่อง ประมาณ 4-5 จังหวัด นโยบายพรรคเพื่อไทย” 

ตลอด 9 ปีนี้ ไม่มีการจัดแบ่งรายได้ให้สอดคล้องกับภารกิจของท้องถิ่น แต่ส่วนกลางออกคำสั่งให้ท้องถิ่นทำงานมากมาย ทั้งเรื่องเบี้ยยังชีพ นมโรงเรียน อาหารกลางวัน ฯลฯ  ทำให้งานที่ท้องถิ่นต้องการจะทำโดยความต้องการของท้องถิ่งและประชาชนในพื้นที่  เพราะส่วนใหญ่ต้องทำงานที่รัฐบาลสั่งมา

“หลังสุดแย่มากคือสภาผู้แทนราษฎรพิจารณางบ อปท. ผิดอย่างที่สุด สิ่งที่ต้องทำ ยกเครื่องคณะกรรมการกระจายอำนาจ จัดแบ่งหน้าที่ เงินงบประมาณกันใหม่ บุคลากรดูแลใหม่ ขั้นต่อไปแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่กดทับท้องถิ่น สุดท้ายคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญเอาท้องถิ่นกลับมาในรัฐธรรมนูญเพื่อให้สถานะกลับมาเหมือนเดิม”

จาตุรนต์ ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ว่า 

  1. โดยรวมท้องถิ่นควรมีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับรายได้ของรัฐ สัดส่วนคือ 35% 
  2. ควรเปลี่ยนเป็นอุดหนุนทั่วไปมากกว่าอุดหนุนเฉพาะกิจ 
  3. ภาษีออกแบบได้หลายแบบ รวมทั้งการเพิ่มภาษีใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับท้องถิ่น ภาษีเดิมของท้องถิ่น ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเพียงตัวอย่าง จะมูลค่าเพิ่มก็ได้ หรือภาษีอื่นก็ได้กับท้องถิ่น แต่ต้องไม่ใช่ว่า ต้องเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น
  4. ควรโอนงาน-คนให้ท้องถิ่น เน้นส่งเสริมนวัตกรรม
  5. สนับสนุน EEC โดยพรรคเพื่อไทยจะเสนอเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4-5 จังหวัด ภาคละ 1 แห่ง มีการยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทั้งหลาย กฎระเบียบ การบังคับใช้กฎหมาย ระบบแรงงานข้ามชาติเป็นต้น ต้องมีการแก้ไข 

“เมื่อคำนวณทั้งหมดทั้งระบบ ควรเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม สัดส่วนให้แก่ท้องถิ่นเพิ่ม แต่มันจะไม่พอ จริง ๆ แล้วเรื่องรายได้ท้องถิ่น ต้องวางระบบใหม่ ภาษีตัวไหนเหมาะให้ใครกันแน่ หรือภาษีตัวไหนยกให้ใครไปเลย ให้ประชาชนรู้ว่า การเก็บภาษีนี้ องค์กรไหนใช้ เขาจะได้ตรวจสอบได้ การแบ่งอำนาจเกินไป คนไปใช้มีหลายฝ่าย ชาวบ้านไม่รู้ตรวจสอบกับใคร” นายจาตุรนต์ กล่าว


พรรคภูมิใจไทย: ดันภาษี ‘รักบ้านเกิด’

ทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าภูมิใจไทย กล่าวถึงแนวความคิดของพรรคภูมิใจไทยกับการกระจายอำนาจนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางพรรคให้ความสำคัญและมีมานานแล้ว โดยเฉพาะการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น หลายเรื่องพบว่า ถ้าให้คนในชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจเองเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อถึงเวลาการบริหารจัดการบทบาทการตัดสินใจก็ยังไม่ 100 % มีหลายเรื่องที่ยังต้องแก้ไขกันอยู่มีหลายเรื่องที่ยังติดขัดอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะตามกฎหมายซึ่งเป็นหน้าที่โดยหลักการ เหล่านี้ต้องมีเครื่องมือ 

ทรงศักดิ์ได้คลี่แนวคิดเรื่องกระจายอำนาจผ่าน 2 ประเด็นหลักคือ 

  1. เรื่องของอำนาจหน้าที่ เนื่องจากที่ผ่านมา การกระจายอำนาจหน้าที่สู่ท้องถิ่น เป็นการกระจายในลักษณะไม่เต็ม 100 % และมีข้อติดขัดในเรื่องของกฎหมาย เช่น เรื่องของบุคลากร ทีท้องถิ่นยังไม่สามารถกำหนดเองได้ ขณะเดียวกัน การจัดสรรของส่วนกลางก็อาจไม่ตรงกับความต้องการของพื้่นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีความเฉพาะตัวแตกต่างกัน ดังนั้น บุคลากรที่จะมาทำงานร่วมกันกับผู้นำท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องเป็นคนที่เข้าใจบริบทของสังคมและชุมชนนั้นๆ ด้วย
  2. เรื่องของงบประมาณ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องขับเคลื่อน ไม่สามารถจัดสรรได้ด้วยวิธีการเดียว ทางพรรคภูมิใจไทย จึงอยากให้ท้องถิ่นมีงบประมาณเป็นของตัวเองมากขึ้น มีกรอบแนวความคิดที่จะจัดสรรภาษี ‘รักบ้านเกิด’ ให้กับท้องถิ่น นั่นแปลว่า ใครอยู่ที่ไหนก็สามารถกำหนดภาษีของบ้านตัวเองประมาณ 30% ลงไป หรือประมาณแสนกว่าล้านบาท และหากพรรคภูมิใจได้เป็นรัฐบาล แนวคิดนี้จะเป็นแนวทางที่พรรคจะขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดขึ้นจริง 

ทรงศักดิ์ยกตัวอย่าง กรณีการถ่ายโอนสถานีรถโดยสารที่ให้ท้องถิ่นคอยดูแล แต่กลัยไม่ให้อำนาจในการดูแลระบบการให้บริการสายทาง  หรือกรณีล่าสุด คือการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แต่ก็มีปัญหาเรื่องของการรักษา เพราะท้องถิ่นไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ กล่าวได้ว่า เป็นเพียงการให้โครงสร้าง ให้ภารกิจ ไปไม่ให้ทรัพยากรและบุคลากรในการทำงาน รวมถึงประเด็นด้านกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักการเมืองทุกพรรคที่จะต้องไปดำเนินการแก้ไขต่อไป 

"ผมอยากให้ 2 เรื่อง 100% ได้ไหม คือเรื่องอำนาจการบริหารจัดการเป็นของท้องถิ่น 100% ได้ไหม โดยไม่อิงส่วนกลาง ดังนั้น กฎหมายอะไรที่เป็นอุปสรรคการกระจายอำนาจต้องแก้ไขให้รองรับการกระจายอำนาจ 100% ให้ได้" 

พรรคพลังประชารัฐ: บันได 4 ขั้น ปลดล็อกท้องถิ่น 

ท้องถิ่นคือกลไกสำคัญในการอุ้มชูความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ที่ผ่านมา การวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตกอันดับไปมาก โดยเฉพาะความสามารถของภาครัฐ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ จึงนำเสนอนโยบายโมเดล ‘บันได 4 ขั้น’  ในการบริการจัดการท้องถิ่น ดังนี้ 

  1. การะจายอำนาจให้กับ อปท. 7,850 แห่ง ซึ่งการกระจายอำนาจที่แท้จริง คือการกระจายอำนาจการตัดสินใจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ท้องถิ่นสามารถตัดสินใจได้เองมากขึ้น และลดการกำกับจากส่วนกลางลง เพราะท้องถิ่นใกล้ชิดและเข้าใจความต้องการประชาชน นโยบายที่ดีต้องมาจากท้องถิ่น  ส่วนกลางทำหน้าที่เพียงการคิดระบบและวางยุทธศาสตร์ กำหนดมาตรฐาน ส่วนภูมิภาคทำหน้าที่เพียงประสานขอความร่วมมือ ดูแลกิจกรรม ไม่ใช่การสั่งงานให้ท้องถิ่นทำตามดังเช่นที่ผ่านมา 
  2. การจัดงบประมาณเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ทำให้งบประมาณท้องถิ่นไม่เพียงพอในการจัดบริการสาธารณะ โดยเพราะงบปี 2566 ที่จัดการงบให้ท้องถิ่นเพียง 29.6% ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐ จึงจะผลักดันสัดส่วนงบประมาณท้องถิ่นให้ได้ 35% เพื่อให้ท้องถิ่นต้องได้รับงบประมาณมากขึ้นและเร็วขึ้น โดยให้ท้องถิ่นทุกแห่งเป็นหน่วยรับงบประมาณโดยตรงจากสำนักงานประมาณ หรือในกรณีถ่ายโอนภารกิจ จะต้องได้รับการจัดสรรงบไปพร้อมกับภารกิจด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีอิสระในการออกแบบงบประมาณด้วยตนเอง โดยเฉพาะงบอุดหนุนเฉพาะกิจ ไม่ให้กระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง แต่ต้องถูกบริหารจัดการโดยท้องถิ่นซึ่งเข้าใจความต้องการของพื้นที่ได้ดีที่สุด
  3. จัดตั้งองค์กรส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เนื่องจากที่ผ่านมา ท้องถิ่นจัดเก็บงบประมาณด้วยตัวเองได้น้อยมาก เฉลี่ยเพียง 10 % เท่านั้น ขณะเดียวกัน ท้องถิ่นบางแห่งมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจใหญ่มาก เช่น ภูเก็ต แม่สอด เกาะสมุย ฯลฯ  ดังนั้นจึงต้องปรับรูปแบบให้พิเศษมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อโจทย์ใหม่ๆ ในพื้นที่ หรือนำท้องถิ่นมารวมกัน เพื่อให้มีงบประมาณสนับสนุนมากขึ้นกว่าการเป็นท้องถิ่นเดี่ยวๆ ซึ่งจะช่วยให้ท้องถิ่นจัดบริการสาธารณะได้มากขึ้น สร้างความมั่งคั่งได้มากขึ้น
  4. หนุนเก็บภาษีท้องถิ่นใช้ในท้องถิ่น  คือการส่งเสริมให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีท้องถิ่นจากการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นมีเงินมาใช้ประโยชน์ภายในท้องถิ่นของตน เช่น ภาษีด้านอสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่อยู่อาศัย ภาษีกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการ เพิ่มอำนาจในการเก็บภาษีประเภทใหม่ๆ ใหม่โดยไม่รอส่วนแบ่งรายได้ และไม่แย่งส่วนแบ่งรายได้ของส่วนกลาง  อาทิ ภาษีการพักอาศัย ภาษีท่องเที่ยว และส่งเสริมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ หรือภาษีพัฒนาพื้นที่พิเศษเฉพาะ มากกว่านั้น คือการส่งเสริมนโยบายใหม่ๆ เช่น แปรรูปการไฟฟ้าของท้องถิ่นเหมือนท้องเหมือนในประเทศเยอรมัน และปลดแอดระบบไฟฟ้าที่ครอบงำจากนายทุนส่วนกลาง
พรรคประชาธิปัตย์: ธนาคารเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น 

นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การกระจายอำนาจ ถือเป็นดีเอ็นเอของประชาธิปัตย์ วันที่คิดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ6เม.ย.2489 วันนั้นประกาศอุดมการณ์ 10 ข้อโดยเฉพาะข้อ5 คือพรรคจะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากกว่าส่วนกลาง โดยเฉพาะอุดมการข้อ 5 จึงไม่ต้องแปลกใจว่าไม่ว่ายุคใดที่ประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลเราเป็นคนเสนอกฎหมายกระจายอำนาจ โดยเฉพาะกฏหมายเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ตั้งแต่ปี 2528   รวมทั้งในยุคที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี2537 เราได้ยกร่างกฏหมายในการยกฐานะสภาตำบลให้เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลจนถึงทุกวันนี้

รองหัวหน้าพรรค ปชป.   กล่าวว่า ในปี 2542 เราได้มีการจัดทำกฎหมายแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจซึ่งจนถึงขนาดนี้เรากระจายอำนาจไปแล้วสองแผนแผนแรกคือการกระจายภารกิจให้ท้องถิ่น 245 ภารกิจแต่มีการถ่ายโอนไปแล้วกว่า 180 ภารกิจ ขณะที่แผนที่สองมีกว่า 100 ภารกิจกระจายไปแล้วกระจายไปแล้ว 77 ภารกิจขณะที่แผนที่สามกำลังจะตามมานี่คือนี่คือสิ่งที่ประชาธิปัตย์ทำเรื่องการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจเป็นหนทางที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทเมื่อปี 2523 ในยุคที่พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาชนบท เราเห็นความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทแต่ทันทีที่เราใช้การกระจายอำนาจมาแก้ปัญหาวันนี้เราไม่มีชนบทในประเทศไทย ไม่มีตำบลไหนที่ไม่มีถนนราดยาง การกระจายอำนาจจึงมีความสำคัญต่อประเทศ และเป็นการยืนยันว่าวันนี้เรามีการกระจายอำนาจได้แล้ววันนี้เรามีแต่เมืองขนาดเล็กขนาดกลางและขนาดใหญ่ นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ จะขับเคลื่อนเดินหน้าเมืองขนาดใหญ่ไปสู่เมืองมหานคร โดยเฉพาะเทศบาลนคร วันนี้หากเทศบาลนครใดมีความพร้อม พรรคมีความพร้อมที่จะยกฐานะให้เป็นเทศบาลมหานคร หรือหากจังหวัดไหนมีความพร้อมพรรคประชาธิปัตย์เรายืนยันที่จะให้เดินหน้าไปสู่จังหวัดจัดการตนเองอย่างแน่นอน "นี่คือสิ่งที่เรากล้าบอกกับพี่น้องประชาชนนี่คือแนวทางการกระจายอำนาจและลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด"

อดีต รมช.มหาดไทย กล่าวว่า มักจะมีคำครหาบอกว่ากระจายอำนาจไปมากเท่าไหร่การทุจริตมากขึ้นนั้น ขอยืนยันว่า ไม่จริง ตนในฐานะเคยเป็นนายกอบจ.มาก่อน

"ผมสู้เรื่องนี้มายาวนานมากเวลาใครพูดเรื่องท้องถิ่นโกง  ตนจะอ้างตัวเลขปี 2552-2559 ที่มีการประกาศว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทย 400,000 กว่าล้าน  เชื่อหรือไม่ 200,000 กว่าล้าน กลับอยู่ที่ส่วนกลาง 100,000 กว่าล้านอยู่ที่รัฐวิสาหกิจ ขณะที่ท้องถิ่น164 ล้านเท่านั้น ที่กล่าวหาท้องถิ่นทุจริตจึงเป็นไม่เป็นความจริง"

วันนี้ประชาธิปัตย์คิดว่ามันถึงเวลาที่เราต้องไม่ตัดเสื้อโหลแล้วแต่เราจะบังคับท้องถิ่นให้ทำเหมือนกันทุกอย่างเป็นไปไม่ได้เพราะปัญหาท้องถิ่น" 

สิ่งที่ประชาธิปัตย์จะทำต่อเราจะต้องไปดูในเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นภาษีตัวใหม่ใหม่ต้องกล้าที่จะคิดภาษีสิ่งแวดล้อมถึงเวลาที่ต้องคิดภาษีภัยพิบัติต้องคิดสิ่งเหล่านี้ให้เป็นฐานของท้องถิ่นได้หรือไม่แม้แม้กระทั่ง การให้ท้องถิ่นมีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กล้าจะแบ่งให้ท้องถิ่น

สิ่งสำคัญที่ประชาธิปัตย์จะทำคือ มีธนาคารเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเราประชาธิปัตย์ส่งสัญญาณชัดเจนต่อไปนี้ท้องถิ่นท้องถิ่นไหนมีโครงการดีดีแล้วไม่มีงบประมาณ จะต้องไม่มีเรื่องนี้เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาเมือง เราจะให้มีสถาบันพัฒนาเมืองมาตรวจสอบ ถ้าโครงการไหนดี เขามีงบประมาณแน่นอน 

  1. การพัฒนาการเมือง โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
  2. การขจัดคอร์รัปชั่น โดยการสร้างระบบธรรมาภิบาล
  3. การส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เสรี และเป็นธรรม ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ และพลังงาน
  4. การปฏิรูประบบราชการ โดยลดอำนาจรัฐ ลดขนาดภาครัฐ 
พรรคก้าวไกล: เลือกตั้งผู้ว่า ปลดล็อกระเบียบท้องถิ่น 

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ รองเลขาธิการฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูล และดิจิทัล พรรคก้าวไกล ยกตัวอย่างว่า หลังจากคณะก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอาดสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด  ซึ่งกำลังประสบปัญหาน้ำประปาไม่สะอาด สิ่งที่คณะก้าวหน้าได้ทำคือ การนำอุตสาหกรรมแห่งอนาคตไปแก้ไขปัญหา โดยสิ่งที่ผลิตน้ำประปาสะอาดเป็นอุปกรณ์ในแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ผลิตได้แล้วในไทย ดังนั้น หนึ่งในนโยบายของพรรคก้าวไกลคือ ทำน้ำประปาสะอาดทั่วประเทศ ซึ่งจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2.8 แสนล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์การตั้งโรงงานผลิตสมาร์ทมิเตอร์ เซนเซอร์ในไทย สร้างคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในต่างจังหวัด

นโยบายของพรรคก้าวไกลในเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยังมีอีกหลายประการ ประกอบด้วย 

  1.  การเลือกตั้งนายกฯ ทุกจังหวัด การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ผู้บริหารสูงสุดในจังหวัดต้องมาจากประชาชน
  2. จัดทำประชามติ เพื่อยุบ ควบรวมส่วนภูมิภาคเข้ากับท้องถิ่น โดยใช้อำนาจของประชาชนผ่านการจัดทำประชามติ 
  3. ปลดล็อกระเบียบท้องถิ่น ด้วยนโยบายกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่น และเพิ่มงบให้ท้องถิ่นถึง 2 แสนล้านบาท สัดส่วน 50:50 คิดเป็นมูลค่า 2 แสนล้านบาท ภายใน 4 ปี  คิดเป็นต่อแห่งคือ อบจ. จังหวัดละ 250 ล้านบาท/ปี หรือถ้าคิดเป็นเทศบาล เมืองละ 100 ล้านบาท/ปี คิดเป็น อบต. 20 ล้านบาท/ปี การกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่น 
  4. แก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น โดยการสถาปนาท้องถิ่นเป็นใหญ่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจท้องถิ่นทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นเรื่อง ศาล ทหาร เงินตรา และการต่างประเทศ ที่ต้องขึ้นต่อส่วนกลาง
  5. ให้อิสระ อปท.ลงทุนบริการสาธารณะ ผ่านหลักการในรัฐธรรมนูญ

“ท้องถิ่นมีอำนาจทำทุกอย่าง เว้นศาล ทหาร เงินตรา และการต่างประเทศ ก็ย้อนกลับสู่หลักการนี้ อยากสื่อสารออกไปว่า ช่วยกันลบล้างมายาคติเหล่านี้ว่า การกระจายอำนาจคือ การแบ่งแยกดินแดน ไม่จริง 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ตาม ในทางกลับกันหากท้องถิ่นมีอำนาจ งาน เงิน คน ปัญหาผู้ก่อการร้าย หรือความอ่อนไหวในพื้นที่น่าจะคลี่คลาย เพราะคนในพื้นที่ตัดสินใจได้เอง ไม่ต้องอาศัยส่วนกลางที่อาจไปกดทับเขาไว้อยู่” นายณัฐพงษ์ กล่าว

พรรคชาติพัฒนากล้า: รื้อโครงสร้างท้องถิ่น แบ่งภาษรเพิ่ม

อรัญ พันธุมจินดา ผู้อำนวยการ พรรคชาติพัฒนากล้า มองว่า หากพูดถึงการกระจายอำนาจไปสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ส่งผลต่อภาพรวมของประเทศ ซึ่งความคิดเช่นนั้นไม่ถูกต้อง 

ประเทศไทยมี อปท.ดูแลประชาชนในการดำเนินกิจการสาธารณะทั่วทั้งประเทศ จึงถือว่ามีความสำคัญมาก ในการที่จะดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับของประเทศไทยกำหนดให้ อปท. ต้องดำเนินการการปกครองตามหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนโดยมีหัวใจสำคัญ ในการกระจายอำนาจ 2 ประการ คือ 

  1. ความเป็นอิสระ ทั้งในเรื่องการบริหาร อิสระในการดำเนินนโยบาย และอิสระในการบริการการเงินและการคลัง
  2. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องได้รับอำนาจจากส่วนกลาง แต่ในกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ทำให้ความอิสระข้างต้นไม่มีอยู่จริง

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน  อปท. ไม่ได้มีอิสระและอำนาจเท่าที่ควร เนื่องจากถูกควบคุมจากส่วนกลางและภูมิภาค ที่ต้องปฏิบัติตามแผนนโยบายของจังหวัด และต้องมาบูรณาการกับกลุ่มจังหวัด ทำให้ความอิสระยิ่งห่างไกลจากประชาชน แม้ตัวกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญได้มีการพูดถึงการกำกับดูแล อปท. แต่กฎหมายกำหนดเอาไว้ว่า ‘ให้กำกับเท่าที่จำเป็น’ 

ปัจจุบันมีหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทยกำกับดูแล อปท. กว่า 6,000 แห่ง จึงทำให้เกิดคำถามว่า การบริหารที่ถูกปิดกั้นการให้อิสระ และอำนาจปกครองเป็นความตนเอง เพียงพอในการสนับสนุนให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็งหรือไม่ 

ดังนั้นการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ อปท. เป็นสิ่งที่จะต้องปรับปรุง และรื้อโครงสร้างการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น ทั้งการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตลอดไปจนถึงการบริหารราชการแผ่นดินหรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

นโยบายของพรรคชาติพัฒนากล้า มีดังนี้ 

  1. ปรับปรุงแนวทางการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยเพิ่มสัดส่วนให้กับท้องถิ่นเป็น 2 ใน 8 หรือ 3 ใน 8 
  2. จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมี 3 รูปแบบ คือ หนึ่ง - ส่วนกลางเก็บเองทั้งหมด สอง - ส่วนกลางเก็บ และแบ่งให้ส่วนท้องถิ่น สาม - กฎหมายให้ส่วนท้องถิ่นดำเนินการเอง 
  3. ส่งเสริมให้ อปท. ได้รับงบประมาณไม่ต่ำกว่า 35%  
  4. การโอนงบประมาณ  และโอนบคุลากรในการทำงาน ให้ อปท. จำเป็นต้องดูความพร้อมในแต่ละท้องถิ่นด้วยว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากไม่พิจารณาถึงส่วนนี้ก็จะดูเหมือนเป็นการผลักภาระให้ท้องถิ่น 

“สำหรับแนวคิดการยุบส่วนภูมิภาคหรือลดขนาดแล้วโอนงาน โอนเงิน ให้กับส่วนท้องถิ่นนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องขับเคลื่อนกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่ต้องให้เกิดความสอดคล้องทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น อะไรที่ทับซ้อน หรือไปควบคุม อปท.ก็ต้องทบทวน เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างบริหารราชการแผ่นดินทั้ง 3 ส่วน หากลดขนาด แต่ต้องคำนึงถึงภารกิจด้วย”

พรรคไทยสร้างไทย: ปฏิรูปมหาดไทย ต้องไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย เริ่มต้นด้วยการอธิบายคำว่า  

‘การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น’ ที่ผ่านมา เป็นนโยบายที่ทุกพรรคการเมืองในทุกยุคทุกสมัยนำมาหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ทว่าในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถดำเนินการได้จริง แม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหา ‘รัฐรวมศูนย์’ อยู่บ้าง ทว่าปัจจุบัน แต่ละส่วนราชการกลับไม่ขึ้นตรงต่อกัน ทำให้การกระจายอำนาจเป็เพียงคำพูดลมๆ แล้งๆ 

การกระจายทำอำนาจสู่ท้องถิ่นที่แท้จริง ต้องกรระจายทั้งเงิน ความเจริญ และกระจายการมีส่วนร่วมให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่น จะสังเกตว่าทุกการเลือกตั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักมีบทบาทต่อพรรคการเมืองเสมอ และพรรคการเมืองที่คุมกระทรวงด้านการปกครอง จะใช้ส่วนราชการต่างๆ ทำประโยชน์ทางการเมืองให้กับพรรคการเมือง ดังนั้น โอกาสที่จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแทบไม่เกิดขึ้น 

ประเทศไทยมีการการกระจุกตัวของรายได้มวลรวมในแต่ละจังหวัด ในประเทศไทย รวมที่กรุงเทพมหานครเยอะที่สุด สะท้อนภาพ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ดังนั้น จึงต้องจัดสรรงบประมาณ กำลังคน การมีส่วนร่วม โดยพรรคไทยสร้างไทย มีนโยบายแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้ 

  1. ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดลงให้ได้ลง 25% ให้ได้ในปี 2570 เพราะที่ผ่านมา ภาวะ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ทำให้ความเหลื่อมล้ำของไทยติดอันดับโลก ดังนั้น การลดความเหลื่อมล้ำคือการทำให้ท้องถิ่นเติบโตได้ด้วยตัวเอง 
  2. สร้างคลัสเตอร์ทางเศรษฐกิจ ให้ท้องถิ่นมีอำนาจปกครองตนเอง ให้ประชาชนปกครองตนเองได้อย่างจริงจัง  ไม่เช่นนั้น ท้องถิ่นจะตกอยู่ในสภาพที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายก อบจ. ถ่วงดุลกันแบบที่ไม่สอดประสานกัน ดังนั้น จึงต้องปรับทั้งระบบให้สามารถทำงานกันได้ เพื่อลดความขัดแย้งในการกระจายอำนาจด้วยการตั้งโรดแมป จังหวัดไหนพร้อมมีการเลือกตั้งเอาให้ชัด เลือกสักอย่างระหว่างผู้ว่าฯ กับนายก อบจ. นอกจากนั้น จะต้องเชื่อมโยงคลัสเตอร์ทางเศรษฐกิจต่างๆ เข้าหากัน โดยแต่ละจังหวัดสามารถเเลกเปลี่ยนและผลิตบุคลากรให้ตรงกับตลาดโลก 
  3. สร้างเครือข่ายระหว่างหัวเมืองแต่ละภูมิภาคกับจังหวัดใกล้เคียง
  4. หยุดปัญหารัฐราชการรวมศูนย์ โดยไทยสร้างไทยได้เสนอระเบียบในการโอนหน้าที่ควบคู่กับงบประมาณ เพื่อดำรงการบริหารงานสาธารณะ และรักษาคุณภาพในการทำงาน
  5. สนับสนุนการแก้กฎหมายในรัฐธรรมนูญ หมวด14 ตั้งแต่มาตรา 249 - 254 ยืนยันการปฏิรูประบบราชการของส่วนราชการที่ชื่อกระทรวงมหาดไทยต้องทำทั้งหมดเพื่อให้กระทรวงมหาดไทย ตอบสนองประโยชน์ประชาชน

"ที่ผ่านมา การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เราพูดกันสวยหรู มีสภาท้องถิ่น สภาพลเมือง ประชาชนมีส่วนตัดสินใจได้ แต่ทางปฏิบัติทั้งหมดกลับไปรวมอำนาจอยู่ที่คนคนเดียวคือ นายกรัฐมนตรี”

พรรคชาติไทยพัฒนา: ผู้บริหารท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้ง

นิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา เริ่มต้นด้วยการชูมีอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค ว่าด้วยการสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ 

ในส่วนของนโยบายของพรรค จะว่าด้วยการกระจายอำนาจรัฐสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง  เพราะพรรคชาติไทยพัฒนาถือว่าการกระจายอำนาจการบริหาร การปกครอง และการคลังสู่ท้องถิ่น เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศ การกระจายอำนาจรัฐสู่ท้องถิ่น จะช่วยสร้างกระบวนการการเรียนรู้ กระบวนการตัดสินใจของกิจการในท้องถิ่น ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ตรวมถึงระบบสารสนเทศพื้นฐายในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง 

นอกจากนี้ พรรคชาติไทยพัฒนายังสนับสนุนจังหวัดที่มีความพร้อม ไปสู่กาสรเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยยึดความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก

ในส่วนของการเสริมสร้างโอกาสประชาชนให้มีส่วนร่วมทางการเมือง พรรคชาติไทยพัฒนา มีนโยบายในการสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะชุมชน หมู่บ้าย ท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองและการปกครองได้อย่างอิสระ เพื่อสร้างสำนึกประชาธิปไตยไประดับชุมชน และนำไปสู่การเกิดประชาสังคมอย่างแท้จริง 

โดยสิ่งที่พรรคชาติไทยพัฒนาจะทำหากได้เป้นรัฐบาล มีดังนี้ 

  1. ทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยใช้ บรรหารโมเดลปี 40
  2. แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะหมวด 14 ว่าด้วย ‘การปกคองท้องถิ่น’ ให้มีบทัญญัติการกระจายอำนาจการปกครอง ให้ย้อนกลับไปสู่ประชาชนเจ้าของอำนาจมากขึ้น เริ่มจากการแก้ชื่อหมวดเป็น ‘ว่าด้วยการกระจายอำนาจ’
  3. การบัญญัติกรอบและขั้นตอนการกระจายอำนาจที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  พรรคชาติไทยพัฒนาจะนำขั้นตอนการกระจายอำนาจกลับมา 
  4. ฝ่ายบริหารองค์การบริการปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมาจากการเลือกตั้ง
  5. แก้มาตรา 252 ว่าด้วยการตรวจสอบและใช้อำนาจของท้องถิ่น ที่ทับซ้อนกับ ปปช. แสดงถึงการไม่ไว้วางใจท้องถิ่น
  6. ให้งบประมาณท้องถิ่นละ 10 ล้านบาท เป็นเงินตั้งต้น เพื่อนำไปส่งเสริมการจ้างงาน สร้างรายได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย  ฯลฯ