วานนี้ ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง "ว่าด้วยอุดมการณ์ผู้พิพากษาตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการกับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวในคดีการเมือง" ระบุถึงกรณีการไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองที่เกิดขึ้นอีกระลอกนับตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. 2565
ในแถลงการณ์ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์สังคมที่รัฐใช้อำนาจและกฎหมายตามอำเภอใจนั้น ประธานศาลฎีกาคนที่ 47 ได้กำหนดนโยบายเข้ารับตำแหน่ง คือ ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย และได้กำหนดนโยบายข้อ 1 คือ ส่งเสริมบทบาทศาลยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้หลักนิติธรรม โดยปรับปรุงกระบวนการในชั้นฝากขังและการปล่อยชั่วคราวให้เกิดการบูรณาการเพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น พัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวและส่งเสริมการใช้มาตรการตามกฎหมายเพื่อลดการเรียกหลักประกันควบคู่กับการสร้างความปลอดภัยให้สังคม
ภายใต้นโยบายส่งเสริมบทบาทศาลยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้หลักนิติธรรมนั้น ปรากฏว่ามีประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลหลายคนไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราว แม้จะยังอยู่ในฐานะผู้ต้องหาเท่านั้น ได้แก่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) , โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง (เก็ท) , พรพจน์ แจ้งกระจ่าง (เพชร พระอุมา), เวหา แสนชนชนะศึก, ปฏิมา ฝากทอง , ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ (ใบปอ), เนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง) ฯลฯ และคดีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน , สมบัติ ทองย้อย ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและไม่เป็นไปตามนโยบายของประธานศาลฎีกา
บางคดีแม้ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยสวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ติดตามตัวเพื่อป้องกันการหลบหนีแล้ว แต่กลับปรากฏว่ามีการกำหนดระยะเวลาห้ามออกจากเคหสถาน เช่น กรณีของบุ้ง ใบปอ และเมนู(สุพิชฌาย์ ชัยลอม) กลุ่มทะลุวัง ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากเคหสถานในช่วงเวลา 16.00 – 06.00 น. และในคดีของไผ่ , จิตริน , ต๋ง และทรงพล กลุ่มทะลุฟ้า ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากเคหสถานในช่วงเวลา 18.00 – 06.00 น. ซึ่งกระทบต่อการดำรงชีวิตและขัดต่อหลักการปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 112 วรรคท้ายที่บัญญัติว่า “ในสัญญาประกันจะกำหนดภาระหน้าที่หรือเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราว หรือผู้ประกันต้องปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณีมิได้”
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำสั่งถอนประกันใบปอและบุ้ง กลุ่มทะลุวัง โดยให้เหตุผลทำนองว่า จากการที่กลุ่มผู้ต้องหาโพสต์ข้อความชักชวนให้เข้าร่วมเหตุชุมนุม จนเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีลักษณะและวิธีการในทำนองเดียวกันกับการกระทำของผู้ต้องหากับพวกตามที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังมาแล้ว และการโพสต์ดังกล่าว ย่อมเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้มีความคิดเห็นแตกต่างไปจากกลุ่มของผู้ต้องหาเข้าร่วมชุมนุมหรือสังเกตการณ์การชุมนุมของผู้ต้องหากับพวกด้วย อันอาจทำให้มีผู้ร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองได้ และได้ปรากฏข้อเท็จจริงตามภาพถ่ายท้ายคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวว่า นอกจากกลุ่มของผู้ต้องหากับพวกแล้ว ยังมีกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าร่วมชุมนุมในบริเวณใกล้เคียงกับที่ผู้ต้องหากับพวก ร่วมกันทำกิจกรรมอยู่ด้วย และในระหว่างทำกิจกรรมมีเหตุชุลมุนเนื่องจากมวลชนกลุ่มทะลุวัง ได้เดินเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม ศปปส. การกระทำของผู้ต้องหาจึงถือได้ว่า เป็นการเข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอันเป็นการละเมิดเงื่อนไขข้อห้ามตามที่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา
คำสั่งศาลที่ให้เหตุผลในการเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาดังกล่าว ก่อให้เกิดคำถามจาก
นักกฎหมาย ทนายความและสาธารณชนเป็นอย่างมากว่า อาจเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ
ประการแรก ข้อเท็จจริงในเหตุการณ์วันที่ 13 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นเหตุที่นำมาอ้างเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวนั้น เป็นเพียงเหตุการณ์โต้เถียง ชุลมุนกันเล็กน้อยในระยะเวลาไม่นาน และเป็นปกติธรรมดาของการชุมนุม ไม่ถึงขนาดเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง การที่ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงรากฐานแนวคิดและความรู้ความเข้าใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต่อเสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการชุมนุมที่คับแคบและผิวเผิน ผิดไปจากเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่
ประการที่สอง เงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ทั้งในคดีของกลุ่มทะลุวัง และในคดีที่ประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอื่นๆ ทั้งที่ “การกระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา” นั้น ยังไม่ถูกฟ้องเป็นคดีหรือยังไม่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นความผิดแต่อย่างใด คำสั่งในลักษณะดังกล่าวอาจถูกตั้งคำถามว่าไม่ชอบด้วยหลักการใช้และการตีความกฎหมาย นอกจากนี้อาจถูกตั้งคำถามว่าเป็นการใช้กฎหมายที่เกินกว่าขอบเขตอำนาจของศาลและมุ่งหมายเพื่อปิดปากประชาชนหรือไม่
แม้การพิจารณาอรรถคดีจะเป็นดุลพินิจอิสระของศาล แต่ดุลพินิจที่ขัดหรือแย้งต่อหลักกฎหมายโดยชัดแจ้ง พึงได้รับการตรวจสอบ ไม่เช่นนั้น การใช้ดุลพินิจอิสระของศาลอาจเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ และมุ่งหมายผลในทางการเมือง ภายใต้อคติความชอบ ความชัง ความกลัว ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมาก
ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ หมวด 1 อุดมการณ์ของผู้พิพากษาถูกกำหนดไว้ในข้อ 1 ว่า
“หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี ซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และนิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนและเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ”
ข้อ 33 กำหนดไว้ว่า
“ผู้พิพากษาจักต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ”
ศาลคือผู้รักษากฎกติกาสูงสุดที่สังคมยอมรับร่วมกัน สังคมได้มอบความเชื่อถือไว้วางใจให้สถาบันศาลเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างรัฐและประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองให้ยังคงมีพื้นที่ที่เป็นธรรมในการแลกเปลี่ยน ถกเถียง ยืนยันหลักการ แนวคิด ความเชื่อของตนเอง เพื่อสร้างสังคมที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน ที่สุดแล้วอาจกล่าวได้ว่า สถาบันศาลหรือสถาบันตุลาการท่ามกลางปัญหาความขัดแย้ง ควรเป็นสถาบันที่พิจารณาอรรถคดีไปในทางส่งเสริมความเป็นมนุษย์ให้ดำรงอยู่ พัฒนา และงอกงามขึ้นในสังคม ไม่ใช่สถาบันที่พรากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปจากประชาชน หรือกดความเป็นคนให้ต่ำลงเพื่อให้ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม
ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และผู้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์นี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันศาลจะพิจารณาทบทวนบทบาทในปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ คำนึงถึงอุดมการณ์ของผู้พิพากษาตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ในการประสาทความยุติธรรมให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนอย่างไม่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความคิดเห็นทางการเมืองต่อไป
ทั้งนี้แถลงการณ์นี้ มี 11 องค์กรร่วมลงชื่อประกอบด้วย