ไม่พบผลการค้นหา
นพ.ธีระวัฒน์ เสนอปิดเมือง 14-21 วัน เพื่อสกัดการระบาดไวรัส ชี้เป็นเรื่องจำเป็น แค่เลื่อนสงกรานต์-ปิดสนามมวย ไม่พอ

วันที่ 16 มี.ค. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เสนอวิธีป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการปิดเมือง 14-21 วัน 

เนื้อหาทั้งหมดระบุดังนี้

"การเลื่อนวันสงกรานต์ไปเป็นเดือนอื่นช่วยจริงหรือไม่

ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ถ้าไม่มีมาตรการควบคู่กันไปอย่างเข้มข้น เนื่องจากจะมีการแพร่ไปเรื่อยๆ ถึงแม้ดูจะไม่โฉ่งฉ่างมากเมื่อมีการปิดสถานบันเทิง สนามมวยไปชั่วระยะหนึ่ง ทำให้ดูตายใจ

แต่แล้วเมื่อฉลองสงกรานต์ในเดือนอื่นๆ ที่ถัดมาก็จะเป็นการนำเชื้อที่เพาะบ่มกันมาเป็นเดือนปะทุขึ้นใหม่อีก

การปิดแต่ละเมืองทุกเมือง ปิดบ้าน 14 ถึง 21 วัน จึงเป็นการจำเป็น ถ้าคิดว่าจะมีการฉลองสงกรานต์และเป็นการทำให้ประเทศสะอาดจริงแบบประเทศจีน"

ก่อนหน้านี้ นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายเรื่องการปิดเมือง 14-21 วัน ไว้ดังนี้

  • การปิดสนามมวยสถานเริงรมย์ 14 วันช่วยได้จริงหรือ ?

การปิดดังกล่าว เป็นเพียงการชะลอตัวเลข แต่จะสัมฤทธิ์ผลได้นั้นต้องมีกระบวนการอย่างอื่นทำควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้โดยที่มาตรการสูงสุดที่แท้จริงคือปิดเมือง ปิดบ้าน อย่างน้อย 14-21 วัน

  • ทำไม 14 ถึง 21 วัน?

อย่างน้อยในช่วง 14 วันนี้ คนที่อยู่ในระยะฟักตัวและมีอาการชัดเจนสามารถเก็บกักตัวได้เลย และรักษาช่วยชีวิต และในกลุ่มที่อาการน้อยมากจะแพร่เชื้อออกมาได้เฉลี่ย 20 วัน และหายเอง

  • ในเมืองหนึ่งๆ ที่ปิด มีมาตรการอะไร?

ประชาชนทุกคนออกจากบ้านน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นโดยใส่หน้ากาก รักษาระยะห่างหนึ่งถึง 2 เมตร ทำธุระตามต้องการเสร็จกลับเข้าบ้าน

หยุดสถานศึกษา ไม่มีการประชุมใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้โดยผ่านระบบออนไลน์

คนที่ยังทำงานอยู่ออกจากบ้านคือคนที่ทำงานในระบบสาธารณะสำหรับเมืองๆ นั้น และไม่ให้ทำงานทุกคน เพราะถ้าติดเชื้อทุกคน ในองค์กรนี้จะไม่เหลือใครมาทำงานสาธารณะ สาธารณูปโภค

  • ระบบจะพินาศ

ยกตัวอย่างเช่นถ้าคณะรัฐมนตรีติดเชื้อหมดทุกคนเป็นตัน จะดีหรือ?

รถโดยสารสาธารณะจะต้องว่างที่สุดโดยให้ผู้โดยสารห่างกันหนึ่งถึงสองเมตร

  • การเลื่อนวันสงกรานต์ไปเป็นเดือนอื่นช่วยจริงหรือไม่ ?

ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักถ้าไม่มีมาตรการปิดแต่ละเมือง ปิดบ้าน 14 ถึง 21 วันมาก่อน เพราะกิจกรรมอื่นยังคงดำเนินอยู่มีคนทำงานเช่นเดิม รถโดยสารยังเต็มเหมือนเดิม ทนทำงานในออฟฟิศ

  • ปิดแต่กรุงเทพเมืองเดียวช่วยได้จริงหรือ ?

ถ้าคิดจะปิดกรุงเทพเมืองเดียวโดยดูจากจำนวนผู้ติดเชื้อว่าส่วนมากอยู่ที่กรุงเทพอาจยืนอยู่บนสมมติฐานที่เจอคนติดเชื้อใน กทม. เยอะที่สุด

แต่ทั้งนี้เป็นไปได้หรือที่เมืองอื่นไม่มีผู้ติดเชื้อและกำลังแพร่เชื้ออยู่

บุรีรัมย์ปิดเมืองแรก

ทั้งนี้ช่วงบ่ายที่ผ่านมาของวันที่ 16 มี.ค. จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ประกาศปิดเมืองเพื่อหวังระงับการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ไปแล้ว 

นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์มีผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค (PUI) สะสมแล้ว 46 ราย เฝ้าระวังครบ 14 วันแล้ว 15 ราย ยังเหลือที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษอีก 31 ราย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังกลุ่มผู้ติดตามเฝ้าระวังอยู่ที่บ้านสะสมรวม 567 ราย เฝ้าระวังครบ 14 วัน จำนวน 194 ราย ยังติดตามเฝ้าระวังที่ยังไม่ครบ 14 วัน อีก 373 ราย

สถานการณ์ที่ปรากฏ จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่นิ่งนอนใจเพื่อให้คนบุรีรัมย์ และผู้ที่จะเข้ามาท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นจึงมีมาตรการดังต่อไปนี้

1. ปิดเมืองด้วยมาตรการสาธารณสุข มีการคัดกรองไข้ผู้ที่เข้ามาในจังหวัดบุรีรัมย์ ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ ผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศ ต่างจังหวัด ทั้งการคัดกรองที่สนามบิน สถานีรถไฟ โรงแรมที่พัก และหมู่บ้าน กิจกรรมนายกฯ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ด้วยการเคาะประตูบ้าน

นอกจากนี้ ยังมีระบบการลงทะเบียนติดตามเฝ้าระวังไข้ตลอด 14 วัน เริ่มตั้งแต่การเข้ามาในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยการเชื่อมโยงระบบเฝ้าระวังสาธารณสุขต่อไป

2. หยุดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค สั่งให้ยกเลิกหรือเลื่อนกิจกรรมการชุมนุมคนจำนวนมาก ตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป เช่น การจัดประชุมสัมนา กิจกรรมบันเทิง สันทนาการ การจัดงานประเพณี การเรียนภาคฤดูร้อน การเรียนพิเศษ การกวดวิชา การบวชเณรภาคฤดูร้อน รวมถึงตลาดนัดคลองถม และตลาดเซราะกราว

3. การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ ให้มีการจัดหอผู้ป่วย ยืนยันการวินิจฉัย โดยมีห้องแยก ห้องความดันลบ ในทุกโรงพยาบาลในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยหากการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 จะต้องมีความพร้อมได้แก่ ห้องแยก นอกจากนี้ด้านการสอบสวนป้องกันควบคุมโรค ได้มีทีมหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ (CDCU) ระดับอำเภอครบทั้ง 23 อำเภอ ซึ่งจะสามารถให้ความมั่นใจกับประชาชน