กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยตัวเลขอัตราการส่งออกสินค้าประจำเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ติดลบ 7.94% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่าราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.35 แสนล้านบาท
แม้สัดส่วนอุตสาหกรรมส่งออกของไทยยังทรงตัวในแดนลบ แต่ ประธาน สรท.ชี้ว่า ตัวเลขในเดือนดังกล่าวปรับตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ และนับว่าประเทศไทยผ่านจุดต่ำที่สุดของการส่งออกไปแล้ว คือในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นระดับติดลบถึง 22.5% และ 23.17% ตามลำดับ
ด้วยเหตุนี้ สรท.จึงปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกทั้งปีจากเดิมที่ระดับติดลบ 10% เป็นช่วงระหว่างติดลบ 10% ถึงติดลบ 8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากอุปสงค์ระดับเริ่มที่ปรับตัวดีขึ้น อ้างอิงจากดัชนีทางเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มขยายกลับมาเป็นบวก
นอกจากนี้ สินค้าบางประเภทยังได้อานิสงส์จากโควิด-19 อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในแทบทุกจุดหมายของการส่งออก รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนประกอบ หรืออาหารทะเลกระป๋องและอาหารแปรรูปต่างๆ
อย่างไรก็ตาม กัณญภัค เสริมว่า อุตสาหกรรมส่งออกของประเทศยังต้องเผชิญปัจจัยลบอีกมาก ทั้งกำลังซื้อของประชากรทั่วโลกที่ทรงตัวต่ำจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง สอดผสานกับประเด็นความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการไทย ทั้งจากต้นทุนการผลิต
ประเด็นค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่ากว่าสกุลเงินของประเทศคู่แข่งอื่นๆ เป็นอีกปัจจัยบั่นทอนการส่งออกของไทย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสกุลเงินดงเวียดนาม ซึ่ง สรท.ย้ำว่า ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยปรับระดับอัตราแลกเปลี่ยน ให้อยู่ที่ราว 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
ตัวอย่างสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทของไทยได้แก่ ข้าว ซึ่ง สรท.พบว่า ตัวเลขการส่งออกตลอด 7 เดือนแรกของปีนี้ ติดลบไปกว่า 14.5%
เท่านั้นยังไม่พอ ประเทศไทยในปี 2563 ยังมีปัญหาภาวะภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าในภาคการเกษตร โดยส่วนหนึ่งสะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรในเดือน ส.ค.ที่หดตัวถึง 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า รวมไปถึงการขาดแคลนแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้จากวิกฤตโรคระบาด
กัณญภัค ปิดท้ายในประเด็นลบที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตของภาคส่งออกกระจุกตัวอยู่ในประเด็นกฎหมายทางการค้าซึ่งหลายฝ่ายมีความพยายามผลักดันให้ภาคเอกชนทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นมาตลอด แต่กลับไม่มีแผนหรือนโยบายที่ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม