ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกกรมศุลกากร ยัน ‘แอมโมเนียมไนเตรท’ นำเข้าต้องขออนุญาตกระทรวงกลาโหมเท่านั้น ชี้หน้าที่เก็บรักษาเป็นของผู้ประกอบการท่า แต่หากเป็นสินค้าอันตรายและไม่ดำเนินการขนสินค้าออกภายใน 7 วัน ให้อำนาจกรมศุลกากร ผลักดันออกนอกประเทศได้ เผยรอบ 5 ปี ยังไม่พบลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย

ชัยยุทธ คำคูณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า สินค้าประเภทแอมโมเนียมไนเตรท เป็นสินค้าควบคุม ไม่สามารถที่จะนำเข้ามาได้ตามปกติ ซึ่งต้องได้ใบรับอนุญาตจากทางกระทรวงกลาโหมก่อน โดยการดำเนินการจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนของการเก็บรักษา ไม่ได้เป็นอำนาจของกรมศุลกากร แต่เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการท่า ซึ่งเข้าใจว่าในส่วนของผู้ประกอบการท่าจะมีมาตรการ ในการควบคุมกำกับดูแลในการขนถ่าย ในการเก็บรักษา รวมไปถึงการดูแลให้สินค้าประเภทนี้อยู่ในที่ที่ปลอดภัย ป้องกันที่จะไม่ให้เกิดเหตุระเบิดขึ้นมาได้อยู่แล้ว

ส่วนหน้าที่ของกรมศุลกากรมีนโยบายในการผลักดัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสินค้าที่เป็นวัตถุระเบิด แต่รวมถึงสินค้าทุกประเภท ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่นำเข้ามาแล้ว หากเกิดกรณีไม่นำสินค้าออกไปภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น นำเข้ามาแล้วไม่ดำเนินการทำใบขนสินค้าเพื่อที่จะนำสินค้าออกไป กฎหมายศุลกากรกำหนดไว้ว่า หากเป็นสินค้าโดยทั่วไปไม่ทำการขนภายใน 2 เดือน 15 วัน จะกลายเป็นสินค้าตกค้าง ให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรในการดำเนินการ ทั้งนำออกขายทอดตลาด หรือสินค้าที่อาจจะเป็นอันตราย สร้างความไม่ปลอดภัย กรมศุลกากรมีอำนาจสั่งให้ผู้นำเข้า หรือตัวแทนสายเรือนำสินค้าทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักรได้

ส่วนในกรณีทำใบขนสินค้าแล้ว แต่ไม่เสียค่าภาษีอากร กรมศุลกากรสามารถดำเนินการให้เป็นสินค้าตกค้างได้เช่นเดียวกัน และกรณีที่สินค้าเป็นวัตถุอันตราย ตามรายชื่อที่อยู่ในพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายที่มีกว่า 500 รายการ ก็สามารถดำเนินการได้หากเก็บไว้กิน 5-7 วัน โดยที่ไม่ทำใบขนส่งค้าสินค้า

กรมศุลแถลง 5 G
  • ชัยยุทธ คำคูณ

อย่างไรก็ตามโฆษกกรมศุลกากร ยืนยันว่า ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ไม่พบการกระทำความผิด หรือลักลอบในการนำเข้าสารแอมโมเนียมไนเตรทเข้ามาในราชอาณาจักร

ทั้งนี้กรมศุลกากรได้มีการเปิดเผยว่าในเดือน ก.ค. 2563 ตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร จำนวน 1,747 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 156 ล้านบาท รวมการตรวจพบการกระทำความผิดในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2562 – ก.ค. 2563 ทั้งสิ้น 21,034 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,642 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบุหรี่ ยาเสพติดให้โทษประเภทเอ็กตาซี (Ecstasy) น้ำมันดีเซล และข้าวสารเหนียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :