นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวการเปิดเผยผลงานวิจัยพบสารปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในปลาดอรี่ที่นำเข้ามีค่าเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในคนนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าว ที่ได้รับจากข่าว ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน โดยทาง อย. จะได้ประสานกับผู้วิจัยเพื่อวิเคราะห์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะต่อไป
อย่างไรก็ตาม อย. มีการกำกับดูแลความปลอดภัยผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ (รวมถึงกุ้ง และปลา) ที่มีการผลิตและนำเข้าเพื่อจำหน่ายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยการสุ่มตัวอย่างเฝ้าระวังตามหลักการวิเคราะห์ความเสี่ยง โดยในแต่ละปี อย. ได้มีการสุ่มตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในประเทศ เช่น ตลาดสด จำพวกเนื้อสัตว์ (หมู/กุ้ง/ไก่/เครื่องใน/ปลา) โดยตรวจหายาปฏิชีวนะสัตว์ ซึ่งรวมทั้งยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracyclines และ กลุ่ม Sulfonamides ซึ่งไม่พบการปนเปื้อนแต่อย่างใด สำหรับในส่วนของปลาที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น มีการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์นำเข้า ณ ด่านนำเข้าทุกแห่ง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาโลหะหนัก ผลปรากฏว่า ไม่พบการปนเปื้อนเกินมาตรฐานความปลอดภัย
จากกรณีข่าวผลการวิจัยนี้ ขอให้ผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากยาปฏิชีวนะที่พบสามารถสูญสลายได้หากผ่านความร้อนจากการปรุงอาหาร และโดยปกติการรับประทานปลาดอรี่จะเป็นการรับประทานที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว หากมีสารหลงเหลืออยู่ ก็เป็นปริมาณน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย อย่างไรก็ดี อย. มีมาตรการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยจะทำการสุ่มตัวอย่างหายาปฏิชีวนะในปลาดอรี่ เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในปลาดอรี่ ทั้งนี้ ทาง อย. จะได้มีการประสานกับผู้วิจัยเพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ต่อไป