ไม่พบผลการค้นหา
เส้นทางชีวิตที่พลิกผันของพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ต้องกลายมาเป็น "ศิลปินโมเดลจิ๋ว" เพราะหนี้สินและปัญหาครอบครัว

ส.ท.พงศ์กาณฑ์ โกมลกนก หรือ ลุงติ๊ก ไม่ใช่คนวัยเกษียณที่วิ่งหนีความเสี่ยง และกล้าเดิมพันชีวิตครั้งใหญ่ด้วยการลาออกจากงานประจำเพื่อนำเงินเก็บสะสมมาใช้หนี้ ก่อนเปิดเส้นทางเดินใหม่ของชีวิตในฐานะศิลปินที่เขาหลงใหลมาตั้งแต่วัยเด็ก 

“ตอนลาออกผมไม่กลัวนะ ชอบตายเอาดาบหน้า หลายคนบอกหนี้สินค่อยเคลียร์ก็ได้ ผ่อนเอา แต่ผมอยากให้มันกลายเป็นศูนย์เลย ตัวเองไม่มีสักสลึงไม่เป็นไร ไม่ยอมอดตายอยู่แล้ว ชีวิตเรามันเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ” อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัย ประจำธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวถึงการตัดสินใจ "เกษียณก่อนกำหนด" (Early Retirement) เมื่อปี 2559

จากทหารนายสิบ พนักงานรักษาความปลอดภัย ทำงานหาเลี้ยงชีพไปวันๆ ด้วยสถานการณ์บีบบังคับ มีปัญหาครอบครัวและภาระหนี้สินบานเบอะ เขาอาศัยความกล้า ความใฝ่รู้ จนทำให้วันนี้ “ลุงติ๊ก” มีที่ยืนในวงการศิลปะโมเดลจิ๋ว หรือ แบบจำลองเหตุการณ์สามมิติ (diorama) สร้างรายได้และกลายเป็นคุณครูของใครหลายคน


ลูกข้าราชการ-จบเพาะช่าง-ยามแบงค์ชาติ 

พงศ์กาณฑ์ เป็นคน จ.นนทบุรีตั้งแต่เกิด เติบโตในครอบครัวฐานะปานกลาง คุณพ่อรับราชการอยู่การรถไฟแห่งประเทศไทย คุณแม่เป็นกุ๊กประจำร้านอาหาร มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน เขาเลือกเรียนศิลปะเพราะความชอบส่วนตัว แม้จะขัดใจทางบ้านที่เห็นว่าอนาคตไม่สดใส

“สมัย มส.3 คุณครูฝึกสอนเป็นผู้จุดประกายให้ผมชอบศิลปะ ยุคนั้น 14 ตุลา เขาเปิดเพลงเพื่อชีวิต วาดรูป หยิบจับปากกาดินสอ ทำอะไรก็ดูดีไปเสียหมด รู้สึกประทับใจและอยากเรียนศิลปะตามเขา” 

ติ๊กสอบติดและเข้าเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง สาขาประติมากรรมสากล ระหว่างเรียนไม่ใช่คนที่มีความสามารถหรือผลงานโดดเด่นเป็นที่น่าจดจำ แถมยังเป็นคนเพื่อนน้อย สิ่งที่เขาให้คุณค่าคือประสบการณ์นอกห้องเรียน หลังได้โอกาสจากกลุ่มศิลปินวาดภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์

“เลิกเรียนไปล้างแปรงให้พวกเขา เขาก็เริ่มให้หยอดสีและให้โอกาสร่างแบบ ขีดๆ เขียนๆ” อดีตเด็กเพาะช่างย้อนความ

สัมภาษณ์ลุงติ๊ก โมเดลย่อส่วน

หลังเรียนจบติ๊กหาเลี้ยงชีพด้วยการเพ้นท์เสื้อยืดวางขายที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน แต่ไม่นานก็สู้ค่าเช่าที่ไม่ไหว กอปรกับจับได้ใบแดงถูกเกณฑ์เข้าไปรับใช้ชาติ 

หลังครบ 2 ปี ด้วยเพราะครอบครัวและต้องการความมั่นคงทางการเงิน เขาตัดสินใจสมัครเป็นนายสิบ รับราชการต่อเนื่องยาวถึง 9 ปีเต็ม

“เอาความมั่นคงไว้ก่อน” ลุงติ๊กพูดถึงอดีตสมัยเลือกรับราชการ ก่อนต่อมามาสมัครเป็น ‘ยาม’ ประจำธนาคารแห่งประเทศไทยในวัย 34 ปี  

“ความฝันกับความเป็นจริง บางทีมันก็สวนทางกัน ถามว่าอยากเป็นทหารไหม อยากเป็นยามไหม ไม่เลย มันไม่ใช่ตัวเรา พูดตรงๆ ไม่ได้มีความสุขกับการทำงานหรอก มันอยู่ในกรอบตลอดเวลา อึดอัดแต่ก็ต้องทนทำแลกกับเงินเลี้ยงดูครอบครัว”

วันเวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี ด้วยหนี้สินและปัญหาครอบครัว เขาตัดสินใจ "เกษียณก่อนกำหนด" นำเงินเก็บสะสมเคลียร์ภาระทั้งหมดของชีวิต เปิดฉากเส้นทางศิลปินรายได้นับแสนต่อเดือน  

สัมภาษณ์ลุงติ๊ก โมเดลย่อส่วน

ปลุกไฟศิลปิน 

“งานมันไม่ได้สะท้อนตัวตนที่แท้จริงของเรา เกษียณแล้วเนี่ยแหละคือตัวผม” เขาบอกอย่างจริงจัง 

หลังปลดเปลื้องภาระ ลุงติ๊กเหลือเงินอยู่แค่ 1,500 บาท และได้รับคำแนะนำจากลูกชายให้ปัดฝุ่นฝีมือในอดีตที่ห่างหายไปนาน 40 ปีกลับขึ้นมาอีกครั้ง 

“ลูกชายผมสะสมรถเหล็ก ในกลุ่มเขาจะมีประมูลขายฉากโมเดลกันอยู่แล้ว เขาก็นึกขึ้นได้ เฮ้ย..พ่อเคยเรียนศิลปะ พ่อน่าจะทำได้”

แม้ตอนแรกจะไม่มั่นใจ และไม่เชื่อมั่นในตลาดโมเดล แต่ลุงติ๊กก็ทดลอง พยายามศึกษาและสอบถามผู้รู้ กระทั่งสร้างผลงานชิ้นแรกสำเร็จ เป็นภาพฉากภูเขา โดยประมูลขายได้ในราคา 280 บาท 

“ตื่นเต้น ดีใจมาก คิดในใจถ้าเราทำออกมาสัก 10 ชิ้น ก็ได้เงินเกือบ 3,000 บาทเลยนะ” เขาบอกว่าสิ่งที่ได้จากสมัยเรียนเพาะช่างคือ จินตนาการ การจัดองค์ประกอบ และการลงสี 

หนุ่มใหญ่เจ้าของรอยสักสุดเท่พัฒนาฝีมือและสร้างสรรค์ผลงานอีก 4-5 ชิ้น ก่อนได้โอกาสแจ้งเกิดจากโมเดล“อนุสาวรีย์ วงเวียนบางแสน” มูลค่า 3,000 บาท 

“มันเป็นงานที่ใหญ่มาก สำหรับคนที่เพิ่งเข้าวงการ ก็รู้สึกกดดัน เพราะสิ่งที่กลัวที่สุดในการทำโมเดล คือจินตนาการของลูกค้าไม่ตรงกับจินตนาการของช่าง แต่พอทำออกมาแล้วได้เห็นของจริงก็อึ้ง เพราะมันเหมือนกันมาก ความมั่นใจเรากลับมาเลย ต่อไปนี้เราไม่กลัวอีกแล้ว” 

ลุงติ๊ก

ลุงติ๊กมีลูกค้าติดต่อเข้ามาไม่เว้นแต่ละวันตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยผลิตผลงานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,500 ชิ้น จุดเด่นของเขาคือ ความสมจริง 

“งานของผมห้ามสะอาด ไม่เนี๊ยบ ไม่เรียบร้อย แต่ดูมีเรื่องราว มีอารมณ์และมีชีวิต” เขาบอก “ความไม่เรียบร้อยคือความสมจริง เพราะของจริงไม่มีอะไรเรียบร้อย” 

โมเดลราคาแพงที่สุดของชายคนนี้คือ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ มูลค่า 40,000 บาท  

ลุงติ๊กสเกล & Diorama

ความยากในการสร้างสรรค์โมเดล คือการตีโจทย์ที่ได้รับมาจากลูกค้าให้แตกและตรงกับความต้องการ รวมถึงกำหนดสเกลและสัดส่วนให้แม่นยำ

“บางรายส่งภาพมาให้ผมแค่ใบเดียว มุมเดียว บางคนโทรมาสั่งปากเปล่า ยากนะที่จะทำให้เหมือนและได้อารมณ์แบบที่เขาต้องการ ลุงพยายามอาศัยประสบการณ์ชีวิต คาดการณ์ให้ออกมาใกล้เคียงมากที่สุด

“คุณค่าของงานคือการทำให้คนได้ทบทวนความทรงจำจากเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตที่สำคัญต่อเขา เช่น ชุมชนที่อยู่มาตั้งแต่ยังเด็ก ซอยบ้านที่เคยวิ่งเล่น เราเองก็ภาคภูมิใจที่ทำให้เขามีความสุข” 

การขายของลุงติ๊กแบ่งออกเป็นสามรูปแบบ ได้แก่ พรีออเดอร์ (Pre-Order) เปิดประมูลและตามสั่ง นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการเปิดคอร์สสอนโมเดล โดยทำมาแล้วถึง 12 รุ่น

สำหรับอุปกรณ์ในการทำ Diorama มีมากมาย แตกต่างไปตามประสบการณ์ ตัวอย่างเช่น กรวด ผงหญ้าเทียม แม่พิมพ์หินเทียม ไฟฟ้า พืชคลุมดิน กาว ซีเมนต์ เป็นต้น


ความฝันไม่มีวันหมดอายุ

ในวัย 61 ปี ประสบการณ์และบทเรียนชีวิตสอนให้เขารู้ว่า ความฝันไม่มีวันหมดอายุ และอย่าดูถูกอาชีพของใคร เพียงเพราะเขาไม่ประกอบอาชีพอย่างคุณ

“ทุกคนมีความฝัน แต่มีกี่คนที่ฝันแล้วเป็นจริง มนุษย์เงินเดือนหลายคนกำลังทำในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง หลายคนทำเพราะหน้าที่ หลายคนทำเพราะเงิน ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง แต่โทษเขาไม่ได้ เพราะสภาพแวดล้อม สถานการณ์และโอกาสมันบังคับ ผมโชคดีมีจังหวะและถูกบีบด้วยภาวะเศรษฐกิจ จนได้กลับมาทำในสิ่งที่ตัวเองรัก” 

สัมภาษณ์ลุงติ๊ก โมเดลย่อส่วน

ทุกวันนี้บางคนที่ไม่เคยเห็นเขาในสายตาเมื่อตอนมีอาชีพเป็น รปภ. กลับมาเรียกเขาว่า ‘เพื่อนรัก’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมองและการตัดสินคนจากเครื่องแบบหรืออาชีพได้เป็นอย่างดี 

“ทุกอาชีพมีความสำคัญในตัวมันเอง ถ้าไม่มีอาชีพเหล่านี้คุณอยู่อย่างสุขสบายไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นต้องเห็นศักดิ์ศรีและคุณค่าของกันและกัน” 

ศิลปินวัยเกษียณที่อาศัยอยู่ย่านบางใหญ่กับลูกชาย ลูกสะใภ้และหลานตัวน้อย ทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้มีความสุขมาก ไม่ต้องตื่นแต่เช้า ฝ่ารถติดไปอยู่ในระเบียบวินัยและกฎเกณฑ์ของคนอื่น ไม่มีภาระหนี้สินและมีเพื่อนฝูงลูกศิษย์มากมาย เป้าหมายต่อไปคือการสร้างสรรค์และสะสมผลงานที่แสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยในอดีต เช่น สลัม , ครัวไทย ที่มีรายละเอียดค่อนข้างมากในเนื้องานเพื่อสะสมในพิพิธภัณฑ์ หวังให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้สืบไป 

สัมภาษณ์ลุงติ๊ก โมเดลย่อส่วนสัมภาษณ์ลุงติ๊ก โมเดลย่อส่วนสัมภาษณ์ลุงติ๊ก โมเดลย่อส่วนลุงติ๊กสเกล & Dioramaลุงติ๊กสเกล & Dioramaลุงติ๊กสเกล & Dioramaสัมภาษณ์ลุงติ๊ก โมเดลย่อส่วน

ภาพ วิสัยยศ จันทร์แก้ว , ลุงติ๊กสเกล & Diorama

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog