เมื่อวันที่ 30 ม.ค. อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รับทราบที่ประเทศไทยมีคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ประจำปี 2020 อยู่ในอันดับ 104 ของโลกจาก 180 ประเทศ ตามประกาศขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อันดับของไทยถูกปรับขึ้นลงตามปัจจัยที่ผันแปรในแต่ละปี เช่น แหล่งข้อมูลที่สำรวจ หรือจำนวนประเทศ เป็นต้น
อนุชา บอกว่า แม้ว่าปีนี้ไทยจะขยับลงไป 3 อันดับ แต่ไทยยังคงรักษาคะแนนรวมไว้ได้ตลอด 3 ปี ตั้งแต่ปี 2018-2020 ที่ 36 คะแนน นอกจากนี้ อันดับของไทยในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 19 จาก 31 ประเทศ ส่วนอันดับในอาเซียนดีขึ้นจากอันดับ 6 เป็นอันดับ 5
โฆษกรัฐบาล เผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียด และทบทวนการปฏิบัติงานใหม่ โดยสิ่งใดที่เป็นข้อแนะนำของ TI เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานตรวจสอบ การสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการเปิดเผยและความโปร่งใสในการได้รับสัญญา นั้น จะต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำ ๆ อีกต่อไป
เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2020 (พ.ศ. 2563) จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก
โดยประเทศเดนมาร์กและประเทศนิวซีแลนด์ ยังครองตำแหน่งอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนนสูงสุด 88 คะแนน
ในขณะที่ประเทศไทยได้ 36 คะแนน เท่ากับปี 2019 (พ.ศ. 2562) จัดอยู่ในอันดับที่ 104 ของโลก ลดอันดับลงมาจากปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 101 ของโลก ส่วนอันดับในประเทศอาเซียน อยู่ในอันดับที่ 5 ขยับขึ้นมาจากปี 2019 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 6 ซึ่งสิงคโปร์ ได้คะแนนสูงสุด คือ 85 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก
เมื่อเทียบคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ที่ประเมินโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา พบว่ามีคะแนนและลำดับขึ้น-ลง ดังนี้
ปี 2557 ได้ 38 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 85 ของโลก ที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ปี 2558 ได้ 38 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 76 ของโลก ที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ปี 2559 ได้ 35 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 101 ของโลก ที่ 6 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ปี 2560 ได้ 37 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 96 ของโลก ที่ 4 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ปี 2561 ได้ 36 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 99 ของโลก ที่ 5 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ปี 2562 ได้ 36 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 101 ของโลก ที่ 6 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ล่าสุด ปี 2563 ได้ 36 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 104 ของโลก ที่ 5 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
สำหรับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2020 (พ.ศ. 2563) ประเทศที่ได้คะแนนและจัดอยู่ในลำดับต้นๆ มีดังนี้
ลำดับที่ 1 จำนวน 2 ประเทศ เดนมาร์ก 88 คะแนน นิวซีแลนด์ 88 คะแนน
ลำดับ 3 จำนวน 4 ประเทศ ฟินแลนด์ 85 คะแนน สิงคโปร์ 85 คะแนน สวีเดน 85 คะแนน สวิสเซอร์แลนด์ 85 คะแนน
ลำดับ 7 นอร์เวย์ 84 คะแนน
ลำดับ 8 เนเธอร์แลนด์ 82 คะแนน
ลำดับ 9 จำนวน 2 ประเทศ เยอรมนี 80 คะแนน ลักเซมเบิร์ก 80 คะแนน
ส่วนคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2020 (พ.ศ. 2563) ในกลุ่มประเทศอาเซียน
อันดับ 1 สิงคโปร์ 85 คะแนน
อันดับ 2 บรูไน 60 คะแนน
อันดับ 3 มาเลเซีย 51 คะแนน
อันดับ 4 อินโดนีเซีย 37 คะแนน
อันดับ 5 ไทยและเวียดนาม 36 คะแนน
สำหรับ ปี 2563 ประเทศไทยมีคะแนนลดลง 1 แหล่งข้อมูล คือ แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ได้ 41 คะแนน (ปี 2562 ได้ 45 คะแนน)
โดยมีประเด็น ที่องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตจากแบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทย คือ “มีการติดสินบนและคอร์รัปชันหรือไม่”
คะแนนลดลง 4 คะแนน เนื่องจากผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า ยังมีปัญหาการให้และรับสินบน และการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับสินบนในการลักลอบเปิดบ่อนการพนัน ปัญหาสินบน จากลักลอบเข้าประเทศของแรงงานผิดกฎหมาย ถึงแม้ภาครัฐจะมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการประชาชน แต่ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ยังมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ จึงเกิดปัญหาสินบนและการทุจริต ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศ โดยมีสาเหตุมาจากการที่ผู้เข้ารับบริการต้องความสะดวกรวดเร็ว ในการรับบริการ จึงยอมที่จะจ่ายสินบน
ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริตยังไม่มีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด แต่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับล่าง นอกจากนี้ กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต เช่น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างอย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง