เพราะมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจของผู้นำหลายเรื่อง บางคราวก็มีอิทธิพลต่อนายกรัฐมนตรีเกือบทุกด้าน
ภายหลังรัฐประหาร กระทั่งจัดตั้งรัฐบาลเมื่อปี 2557 “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เลือกเอา “บิ๊กอ้อ” พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 ที่เกษียณอายุราชการไปก่อนตั้งแต่ปี 2556 มีตำแหน่งสุดท้ายคือ “ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก” มาเป็นเลขาคู่กาย และอยู่กันยาวนานถึง 5 ปี เพิ่งจะยื่นใบลาออกและมีผลไปเมื่อ 25 มิ.ย.นี้เอง
เมื่อจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ๆ “บิ๊กตู่” คิดไม่ออกจริงๆว่าจะดึงใครมาทำหน้าที่เลขานายกฯ กระทั่งเพื่อนรักร่วมรุ่น จปร.23 อย่าง “บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เสนอว่า “บิ๊กอ้อ” เหมาะสุดที่ทำหน้าที่เลขานายกฯ เพราะ 1. บิ๊กอ้อ เป็นคนเก่ง 2.ซื่อสัตย์ 3.มีความสนิทกับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งสามารถไว้ใจได้
พูดถึงเตรียมทหาร 12 “นักเรียนเตรียมทหารวิลาศ” เรียนเก่งที่สุดในบรรดาเพื่อนร่วมรุ่น ว่ากันว่า “นักเรียนเตรียมฯตู่” และเพื่อนคนอื่นๆ ต่างลอกการบ้านของเพื่อนคนนี้กันเป็นประจำ ด้วยความเก่งนี้เอง ทำให้ “บิ๊กอ้อ” ได้รับทุนไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ สหราชอาณาจักร
แต่นั่นก็ทำให้เขาถูกตัดโอกาสที่จะได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมรุ่นนายร้อย จปร. ซึ่งมีความสำคัญยิ่งสำหรับการเป็นนักเรียนนายร้อย อันจะมีผลอย่างมากต่อการรับราชการทหารสืบไป
และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะคนเก่งอย่าง “บิ๊กอ้อ” เกษียณในตำแหน่งสุดท้ายคือ “ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก”
อย่างไรก็ตาม “บิ๊กตู่” ไม่ค่อยใช้งาน “เลขาวิลาศ” มากเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะ “พล.อ.วิลาศ” นั้น ไม่ได้ร่วมเป็นร่วมตาย ไม่ได้ร่วมก่อการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 มาด้วยกัน ไม่เหมือนเพื่อนพี่น้องหลายคนที่ร่วมรัฐบาล
(พล.อ.วิลาศ อรุณศรี ขณะเป็นเลขาธิการนายกฯ เตรียมออกกำลังกายพร้อมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2561)
ฉะนั้น “บิ๊กตู่” จึงวางบทบาทเลขาฯคนนี้ ไว้เพียงเพื่อให้คำปรึกษาบางประการ แต่เน้นหนักให้ “เพื่อนอ้อ” ดูแลงานด้านพิธีการ เช่น เตรียมงานการลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจร ลงพื้นที่พบปะประชาชนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เป็นต้น โดยนานวันเข้า “บิ๊กอ้อ” จึงเหมือนพ่อบ้านทำเนียบฯเข้าทุกวัน
ข้อดีของ “บิ๊กอ้อ” คือการเป็นคนตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ช่วย “บิ๊กตู่” ได้ดีทีเดียว เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งกุมผลประโยชน์ชาติไว้มากมายมหาศาล นั่นย่อมจะมีผู้คนจำนวนมากอยากเข้าหา
และที่ผ่านมา ก็ได้ “เพื่อนอ้อ” คนนี้ ที่กันท่าไว้ให้ โดยเป็นคนที่คอยสแกนผู้คนที่เข้าหา“บิ๊กตู่” เรียกว่าใครมาไม่ซื่อ ย่อมหมดสิทธิ์เข้าพบ
“บิ๊กอ้อ” เป็นคนเจ้าระเบียบ หรือที่เรียกว่า “เป๊ะ”
และด้วยความเป็นทหารเจ้าระเบียบนี้เอง ทำให้เขาต้องลงมาดูแลต้นไม้ใบหญ้า รวมถึงอาคารสถานในทำเนียบรัฐบาลด้วยตัวเอง และทำได้เป็นอย่างดีในเวลาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา “บิ๊กอ้อ” เป็นผู้ที่สั่งให้สร้างคอกล้อมตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยให้เป็นสถาปัตยกรรมเดียวกับตึกไทยคู่ฟ้า แม้ในระยะแรกสื่อมวลชนจะมองว่าไม่มีความจำเป็น แต่เมื่อสร้างเสร็จ ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “สวยกว่าเดิมมาก”
“บิ๊กอ้อ” จะไม่ยอมให้นักข่าวถ่ายรูป เขาจะสั่งลบทันทีที่เห็นช่างภาพหรือนักข่าวหยิบกล้องหรือโทรศัพท์ขึ้นมาบันทึกภาพของเขา ซึ่งเจ้าตัวมาเปิดเผยภายหลังว่า เพื่อความสะดวกต่อการทำงาน
โดยให้เหตุผลว่า ถ้าภาพของตัวเองไปปรากฏตามหน้าสื่ออยู่บ่อยๆ ชาวบ้านก็จะรู้ว่าตนคือใคร ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อการลงพื้นที่ เพราะเมื่อไปถามปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ชาวบ้านก็จะไม่กล้าบอกความจริงแก่ตน
แม้นายกรัฐมนตรีหลายคนจะเรียกใช้เลขาธิการนายกฯในฐานะกุนซือ แต่ไม่ใช่กับ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ มีภาวะผู้นำสูง อีกทั้งความเป็นทหารของ“บิ๊กตู่” ยังไม่ชอบอยู่ใต้อาณัติของใคร หรือไม่ชอบให้ใครมาสั่งการ นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ชื่อของ “เลขาวิลาศ” จึงไม่โดดเด่นเท่าที่ควร
(พล.อ.วิลาศ อรุณศรี ขณะเป็นเลขาธิการนายกฯ ข้างกาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
ผ่านไป 5 ปี เรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ประเทศไทยได้นายกฯคนเดิม คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
แต่ “เพื่อนอ้อ” เลือกที่จะไม่ไปต่อ เพราะถือว่าตัวเองมาช่วยงานรัฐบาลเพื่อนรักในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อหมดวาระลง จึงจะกลับบ้านไปเลี้ยงหลานและท่องเที่ยวกับครอบครัวอย่างหวังไว้ตั้งแต่หลังเกษียณเมื่อปี 2556
ในรัฐบาลใหม่ “บิ๊กตู่” เลือก “ดิสทัต โหตระกิตย์” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ปัจจุบันมีตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มาเป็นเลขาคู่กาย
“ดิสทัต” จบนิติศาสตร์(เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนปริญญาโท D.E.A. de Droit Public มหาวิทยาลัย Strasbourg III (Robert Schoman) ประเทศฝรั่งเศส เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง มีผลงานโดนเด่นจากการทำหน้าที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่ปี 2557 รวมทั้งผ่านการทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งแต่ปี 2557 และลาออกเมื่อต้นปี 2562
โดยภายหลังเกษียณอายุราชการ “บิ๊กตู่” ได้ตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯ และไว้ใจให้นั่งเป็นประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หรือบอร์ด กฟผ. ด้วย
อีกทั้งยังเป็นกรรมการใน บมจ.ธนาคารกรุงไทย ซึ่งล่าสุด ‘ดิสทัต’ ได้แจ้งลาออกจากบอร์ด ธนาคารกรุงไทย โดยมีผลวันที่ 15 ก.ค. เพื่อเตรียมตัวเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเวลาอันใกล้นี้
หลายปีที่นั่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา “ดิสทัต”ทำงานเข้าขากับ “เนติบริกร” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯมือกฎหมาย อย่างเข้าขา ร่วมพิจารณาและกลั่นกรองกฎหมายสำคัญๆในรัฐบาล คสช.มาแล้วหลายฉบับ
ด้วยความเป็นนักกฎหมาย ‘ดิสทัต’ ยังเคยผ่านการทำหน้าที่เลขานุการกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ด้วยโปรไฟล์มือกฎหมายชั้นแนวหน้าระดับประเทศ ทำให้เข้าใจสไตล์การทำงานของ “บิ๊กตู่” เป็นอย่างดี
(นายดิสทัต โหตระกิตย์ ที่ปรึกษานายกฯ ร่วมภารกิจข้างกายกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล)
เหตุผลที่ “บิ๊กตู่” เลือกนักกฎหมายมาเป็นเลขาคู่กาย แทนที่จะนายทหารคนสนิท ที่มีความใกล้ชิดมาช้านาน
ก็เพราะป้องกันความเสี่ยงอันจะเกิดขึ้นจากการบริหารงานในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
เพราะต้องไม่ลืมว่า หลังจากนี้ รัฐบาลของ “บิ๊กตู่” จะถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากฝ่ายค้าน ที่สำคัญรัฐบาลใหม่ยังปราศจากอำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44 คอยคุ้มกันเหมือนก่อนเก่าแล้ว เหตุนี้ จึงต้องมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นนักกฎหมายที่มีประสบการณ์สูง เพื่อคอยกลั่นกรอง ป้องกันภยันอันตรายอันจะเกิดกับตัวในภายภาคหน้าโดยเฉพาะการต่อสู้ในแง่มุมทางกฎหมายอย่างหนักภายใต้โหมดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลใหม่นั้น เป็นส่วนผสมของ 19 พรรคการเมือง
ซึ่ง “พล.อ.ประยุทธ์” ก็เข้าใจดีว่าทุกพรรคการเมืองต่างหิวกระหายเต็มทน เพราะประเทศไทยร้างจากรัฐบาลเลือกตั้งมาช้านาน ฉะนั้น การจะอนุมัติโครงการต่างๆ หาก“นายกรัฐมนตรี” ไม่พิจารณาให้ดี โอกาสติดคุกย่อมมีอยู่สูง
“เลขาธิการนายกฯคนใหม่” ซึ่งเป็นพลเรือนนี้ จะมีบทบาทมากกว่า “พล.อ.วิลาศ” แน่นอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีอิทธิพลต่อการบริหารงานของ“บิ๊กตู่” เพราะอย่างที่รู้ๆกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง นอกจากพี่ๆในแก๊ง 3 ป.แล้ว เห็นจะมีแค่นายวิษณุ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่ “บิ๊กตู่” รับฟัง
นั่นเพราะ “บิ๊กตู่” ได้เรียนรู้จากรัฐบาล “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ยอมปล่อยให้กุนซือมีบทบาทสูง กระทั่งสุดท้ายผู้นำกลับตกม้าตายไม่เป็นท่า ดังนั้น เพื่อความอุ่นใจ “บิ๊กตู่” จึงเลือกนักกฎหมายไว้ข้างกาย
แม้จะมีนักกฎหมายระดับปรมาจารย์อย่าง“วิษณุ” นั่งรองนายกฯในรัฐบาลใหม่ด้วยก็ตาม แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา การดำเนินการเรื่องต่างๆของรัฐบาล คสช.นั้นสุ่มเสี่ยงมาก หากเทียบกับรัฐบาลปกติ ที่ไม่มีอำนาจพิเศษคอยรับรอง
เอาแค่คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ต้องเป็นกลางทางการเมือง ทว่า “บิ๊กตู่” กลับตั้งเฉพาะคนในองคาพยพของตัวเองขึ้นมา และคณะกรรมการสรรหา ก็เลือกตัวเองและเครือญาติขึ้นมาเป็น ส.ว.ด้วย
แค่นี้ก็ตายแล้ว ถ้าเป็นรัฐบาลปกติ
สิ่งที่ “บิ๊กตู่” กลัวมากที่สุดไม่ใช่ถูกฝ่ายค้านเล่นงานจนรัฐบาลล้มไม่เป็นท่า
แต่กลัวว่า เมื่อลงจากหลังเสือแล้ว อันตรายจะเกิดแก่ตน เพราะตลอด 5 ปีของรัฐบาล คสช.ได้ดำเนินการหลายอย่างที่ฝืนกฎหมายปกติ ฉะนั้น ในรัฐบาลใหม่นี้ นอกจาก จะต้องระวังให้มากแล้ว
การเคลียร์ตัวเองในสง่างาม ยังเป็นอีกกระบวนการหนึ่ง ที่ “บิ๊กตู่” ต้องทำ โดยมีเลขาฯนักกฎหมายอยู่เบื้องหลัง!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง