ไม่พบผลการค้นหา
"ปิยบุตร" นำ กมธ.กฎหมาย ตรวจเยี่ยมสถานที่กักตัวคนต่างด้าว พบสภาพแออัดไม่ได้มาตรฐานสากล ขณะที่กระบวนการส่งตัวกลับมีปัญหา เนื่องจากนโยบายระหว่างประเทศ

คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน นำโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุลประธานกรรมาธิการ นายสุทัศน์ เงินหมื่น รองประธานกรรมาธิการ นางสาวพรรณิการ์ วานิช รองประธานกรรมาธิการ นายนิรมิต สุจารี โฆษกกรรมาธิการ นายกมลศักดิ์ลีวาเมาะ เลขานุการคณะกรรมาธิการ และนายอาดีลัน อาลีอิสเฮาะกรรมาธิการ ร่วมภารกิจตรวจเยี่ยม ด่านตรวจคนเข้าเมือง สุวรรณภูมิและสวนพลู ซึ่งถูกจัดให้เป็นสถานที่กักตัวบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมาย 

พร้อมกันนี้ในช่วงเช้าส่วนปฏิบัติการ กองบังคับการ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 2 พล.ต.ต.พฤทธิพงษ์ ประยูรศิริ พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รอง ผบก.ตม.2 ได้บรรยายสรุป ขั้นตอนการตรวจคนเข้าออก ซึ่งจะใช้เวลาในกระบวนการคัดกรองประมาณ 50 วินาทีต่อคน สำหรับการปฏิเสธบุคคลเข้าประเทศเจ้าหน้าที่จะพิจารณาตามมาตรา 12 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ซึ่งพบผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฏหมายจากหลายประเทศเช่นจาก อินเดีย จีน หรือการใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อเข้าเมืองเช่นจาก อิหร่าน อินเดีย จีน ศรีลังกา และเวียดนาม 

ทั้งหมดถือเป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายในแง่ของการอำนวยความสะดวก ซึ่งการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ทางสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง พยายามเพิ่มอัตรากำลัง จากบุคลากรภายนอกและข้าราชการตำรวจที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 617 นาย จัดกำลังพล นั่งเต็มทุกช่องตรวจในช่วงเที่ยวบินหนาแน่น รวมถึงการเปรียบเทียบปริมาณความหนาแน่นของผู้โดยสารระหว่างโซน การใช้อาสาสมัครช่วยจัดเรียง เอกสารแนะนำการกรอกข้อมูล และการทำ information operation ขณะเดียวกันยังเสริมมาตรการการแก้ไขปัญหาในระยะกลาง โดยเฉพาะการปรับปรุงช่องบริการหนังสือเดินทางขาเข้าเพิ่มเป็น 23 ช่องตรวจ

สำหรับมิติความท้าทายด้านความมั่นคง พบปัญหาการปลอมแปลงหนังสือเดินทาง กลุ่มภัยคุกคาม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงด้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านและปลายทาง ซึ่งพบว่ายังมีมาตรฐาน และข้อกำหนด ในการกักตัวหรือส่งกลับ ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งในหลายกรณี ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องขอความชัดเจน และแนวทางการทำงาน จากองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรณีการขอลี้ภัย กรณีของบุคคลที่เข้าข่ายจะเป็นผู้ก่อการร้าย

จากนั้นคณะกรรมาธิการกฎหมายๆ เดินทางต่อมายังศูนย์กักตัวคนต่างด้าวสวนพลู ซึ่งพบข้อเท็จจริงว่า บุคคลต่างด้าวที่ถูกกักตัวมีสภาพแออัด เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ สามารถรับคนได้ ประมาณ 425 คน แต่ปัจจุบันมีผู้ที่ถูกกักตัว อยู่ที่ศูนย์แห่งนี้ 925 คน ซึ่งในช่วงที่มีปริมาณสูงสุด สถานที่แห่งนี้มีบุคคลต่างด้าวถูกกักตัวกว่า 1,600 คน หนึ่งในนั้นมีแม่และเด็กรวมอยู่ด้วยกว่า 20 คน ทางศูนย์ พยายามปรับปรุง และย้ายแม่กับเด็กไปไว้ยังสถานที่ ที่มีความเหมาะสมมากกว่า

นอกจากนี้ยังพบว่า บุคคลที่ถูกกักตัวบางรายอยู่นานนับสิบปี เนื่องจากสถานะทางกฎหมายไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในแง่ที่ถูกปฏิเสธจากประเทศต้นทาง และประเทศที่สามก็ไม่ยินดีรับตัวกลับ ซึ่งหากประเทศไทยตัดสินใจส่งไปชาติใดชาติหนึ่งก็อาจสร้างความไม่สบายใจให้กับอีกประเทศ นี่จึงกลายเป็นปัญหาในเชิงนโยบาย