นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ MRR (Minimum Retail Rate หรือ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ลงร้อยละ 0.25 และอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ MOR (Minimum Overdraft Rate หรือ อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี) ลงร้อยละ 0.125 มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2563
โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เพื่อตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบายและให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
4 แบงก์ใหญ่ลดดอกเบี้ยกู้ ฟาก 'กรุงไทย-ธอส.-กรุงเทพ' โชว์เก๋าไม่ลดดอกเบี้ยเงินฝาก
อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ให้ปัจจุบันมาอยู่ที่ร้อยละ 1 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ดำเนินนโยบายการเงินโดยมีเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย หรือต่ำสุดในรอบ 20 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา และนับเป็นครั้งแรกๆ หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ประกาศปรับตัวลดลงในแทบจะทันที
เริ่มจาก ธนาคารกสิกรไทยในเย็นวันเดียวกันปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามมาด้วยธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และล่าสุดคือ ธนาคารกรุงเทพ โดยในจำนวนนี้มี 3 ธนาคารที่ยังไม่ลดดอกเบี้ยขาเงินฝาก ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารกรุงเทพ
อีกด้านหนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง 'ลดดอกเบี้ยกู้...ช่วยลูกค้าสู้ไวรัสโคโรนา ท้าทายผลประกอบการแบงก์ไตรมาส 1/63' ระบุว่า หลัง กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่นำร่องปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งทิศทางดอกเบี้ยที่ลดลง น่าจะช่วยเสริมทัพมาตรการผ่อนคลายทางการคลังด้านต่างๆ ที่ทยอยออกมาบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในระดับประชาชนรายย่อย ภาคธุรกิจต่างๆ ที่ถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา
อย่างไรก็ตาม การปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการตอกย้ำภาพสถานการณ์ผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ของธุรกิจแบงก์ให้อยู่ภายใต้หลายแรงกดดัน โดยเฉพาะเมื่อธนาคารพาณิชย์ที่เหลือทยอยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม แม้ในรอบนี้ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ (ลดลงร้อยละ 0.10-0.25) และประจำ (ลดลงร้อยละ 0.05-0.25) สำหรับนิติบุคคลและลูกค้าสถาบันต่างๆ แต่เนื่องจากยังไม่สามารถรับรู้ต้นทุนที่ลดลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำดังกล่าวได้ทันที ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์สำหรับนิติบุคคลและสถาบันต่างๆ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของเงินฝากทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น จึงช่วยลดทอนผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในขนาดที่มากกว่า (ลดลงร้อยละ 0.25) และกระทบพอร์ตสินเชื่อในสัดส่วนที่มากกว่า ได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น
ดังนั้น จึงคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1/2563 ประมาณร้อยละ 0.03-0.07 ต่อปี หรือคิดเป็นผลกระทบต่อกำไรสุทธิปี 2563 ประมาณร้อยละ 2-5
ส่วนสถานการณ์สินเชื่อใหม่ที่ยังอ่อนแอตามภาวะการใช้จ่าย แม้ว่าสินเชื่อเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวกว่าที่คาดตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2562 ที่ผ่านมา ทำให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยปิดปี 2562 ที่ประมาณร้อยละ 2.2 ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิมคาดว่าจะขายตัวร้อยละ 3 แต่เพียงเดือนแรกของปี 2563 โมเมนตัมของสินเชื่อใหม่ก็ได้รับผลกระทบ
โดยเฉพาะสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วนถึงราวร้อยละ 40 ของสินเชื่อทั้งหมด ยังคงอ่อนแอต่อเนื่องตามภาวะการใช้จ่ายในประเทศและการชะลอตัวของการส่งออก อันทำให้คาดว่าสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1/2563 จะขยายตัวมาอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 2.0-2.2 ซึ่งทรงตัวถึงชะลอลงจากสิ้นปี 2562
สินเชื่อเอสเอ็มอีชะลอตัว-สินเชื่อบ้านกลุ่มไฮเอนด์เติบโต
ขณะที่ ประเภทสินเชื่อที่ยังพอเติบโตได้ จะเป็นสินเชื่อรายย่อย อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่ยังมีอำนาจซื้อ ส่วนสินเชื่อที่ให้กับลูกค้ารายใหญ่นั้น แม้จะได้รับอานิสงส์จากความต้องการสินเชื่อของลูกค้ารายใหญ่บางกลุ่ม เพื่อรองรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ผ่านการประมูลไปแล้วในปีก่อนหน้า เช่น การลงทุนใน 5G หรือขยาย/ควบรวมกิจการ แต่ก็มีโอกาสที่จะเผชิญการชำระคืนหนี้ อันจำกัดการเติบโตของยอดสินเชื่อของลูกค้ากลุ่มนี้ได้
ประกอบกับการผลักดันมาตรการช่วยเหลือลูกค้า เพื่อประคองให้ก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลำบาก ในจังหวะที่ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถคาดหวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ (New Booking) ได้มากนักนั้น น้ำหนักของงานจึงไปอยู่ที่การดูแลลูกค้าปัจจุบันให้สามารถรับมือกับภาวะที่ยอดขายลดและรายได้ชะลอ ด้วยการ
อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้ว ก็คงกลับมามีผลลบบางส่วนต่อรายได้ดอกเบี้ยรับของธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1/2563 เช่นกัน แม้ว่าผลกระทบจากการปรับปรุงวิธีคิดค่าธรรมเนียมการชำระหนี้ก่อนกำหนด ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับบัตรเดบิตและเอทีเอ็มที่ ธปท.ประกาศไว้ช่วงต้นปี 2563 อาจลดลงกว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากประเด็นการปรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่มีผลกระทบมากสุดนั้น ได้ถูกเลื่อนออกไป เพื่อรอความพร้อมของการปรับปรุงตัวระบบ ให้สามารถคำนวณการคิด/ตัดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว ให้สอดคล้องกับรายละเอียดของแนวปฏิบัติของ ธปท.ได้
'ไวรัสโคโรนา' บ่ม 'เอ็นพีแอล' พุ่งแตะร้อยละ 3.10 ภายในไตรมาสแรกปี 63
ดังนั้น จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาต่อการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้คาดว่าเอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ (ไทยและสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) มีโอกาสขยับขึ้นในไตรมาส 1/2563 เข้าหาระดับร้อยละ 3.05-3.10 จากร้อยละ 2.98 ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งจะมีผลให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอาจยังเลือกคงระดับการตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพในระดับสูงต่อเนื่อง
กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไตรมาสแรกของปี 2563 ธนาคารพาณิชย์คงต้องเผชิญโจทย์หินหลายประการ ทั้งการลดดอกเบี้ย การชะลอตัวของสินเชื่อ ปัญหาคุณภาพหนี้ และการช่วยเหลือลูกค้าที่เผชิญปัญหาเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ด้วยบทบาทการเป็นตัวกลางทางการเงินหลักของระบบเศรษฐกิจไทย จึงถือเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของทางการ รวมถึงมีบทบาทในการช่วยเหลือลูกค้าในยามที่ประสบปัญหา เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถก้าวข้ามช่วงของภาวะที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :