พรรคอนาคตใหม่ จัดเสวนา 'จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน' ครั้งที่ 2 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อเดินหน้ารณรงค์หา 'ฉันทามติ' แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ โดยมีภาคการเมือง ภาคประชาชน และภาควิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ถ้าจะนิยามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ การทำให้การรัฐประหารกลายเป็นสถาบัน ที่ผ่านมาการรัฐประหารจะมีลักษณะไม่ถาวร แต่ครั้งนี้มีความต้องการสืบทอดอำนาจ ทำให้สภาวะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ถาวร รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะทำให้สังคมตรึงเครียดมากขึ้น อำนาจจัดสรรทรัพยากรมันรวมศูนย์อยู่ มันจึงเป็นระเบิดเวลา ที่สุดเนื้อหาที่ไม่ให้ประชาชนเป็นมีส่วนร่วมจะระเบิดออกมา แล้วก็จะมีการสูญเสียจึงต้องแก้ไข
การสร้างฉันทามติต้องสร้างการมีส่วนร่วม ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าใส่เสื้อสีอะไร ต่างได้รับผลกระทบจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ตนกับนายพริษฐ์อาจเห็นไม่เหมือนกัน แต่ไม่เป็นอะไร เรามานั่งคุยกันได้ ถ้าตนชนะตนก็สร้างการศึกษาแบบที่สัญญาไว้กับประชาชน ถ้าพริษฐ์ชนะก็ไปสร้างโรงพยาบาลแบบที่สัญญาไว้กับประชาชน สิ่งที่ควรทำคู่กันไปด้วยคือการมองอดีต อย่างยอมรับความจริงจะพาเราไปสู่เส้นทางข้างหน้าได้ พูดอย่างเป็นจริงทุกฝักทุกฝ่ายทำให้สังคมไทยมาถึงทางตันตรงนี้
ประเทศไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะ มีการพัฒนาการเป็นของเราเอง คงไปนำรัฐธรรมนูญของใครมาใช้ไม่ได้ การออกแบบต้องเป็นบทเรียนของเราเอง ซึ่งการรัฐประหารทุกครั้งให้บทเรียนว่า แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ กรอบข้อแรกจึงต้องเป็นประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน ต้องมีพระมหากษัตริย์โดยมีสถานะอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ต้องมีระบบรัฐสภาที่เข้มแข็ง และต้องมีนิติรัฐ ให้ประชาชนสิทธิและเสรีภาพในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ
'พริษฐ์' ชงยุบทิ้ง ส.ว.เหลือส.ส.สภาเดียว ชี้อันตรายให้ท้ายรบ.เบ็ดเสร็จ
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมืองอิสระ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มองจากสถานะการเมือง ในหลายประเทศต้องพัฒนาประชาธิปไตย ที่กำลังเผชิญความท้าทายอย่างรุนแร จากภัยคุกคาม ในเรื่องกระบวนการและกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้อง 1 สิทธิ์ 1 เสียง และเนื้อหาสาระ ที่ถูกบริหารจัดการให้สอดคล้องกับหลักความเสมอภาค พอตัดภาพมายังประเทศไทย การเลือกตั้งต้นปี ก็ไม่แน่ใจว่ากล้าพูดว่าเป็นประชาธิปไตย เคารพหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงหรือไม่ จากการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 250 ส.ว.ที่ขัดกับประชาชน มีผลต่อการตัดสินใจของ 500 ส.ส.
ไม่ว่ากติกาหรือเนื้อหาในประชาธิปไตยไทยกำลังเผชิญความคุกคามมาก แต่ทุกคนไม่ได้คิดเหมือนเรา หลายคนยังไม่เชื่อมั่นประชาธิปไตย เมื่อเราแตกต่าง ก็ต้องหาฉันทามติร่วมกัน ซึ่งต้องต่อสู้ทางความคิด สังคมที่ก้าวหน้าไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องต้องกัน ฉันทามติทางนโยบายยังไม่จำเป็น แต่ที่จำเป็นคือกติกาฉันทามติของรัฐธรรมนูญนั้นสำคัญ หลักการเดียวที่ตนเห็นว่าจะเห็นพ้องต้องกันคือ รัฐธรรมนูญต้องมีกติกาที่เป็นกลาง ถ้าไม่ก็จะวนกลับมาเป็นต้นตอของความขัดแย้งให้ประเทศไม่มั่นคง ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งกระทบเศรษฐกิจอีก
ฉันทามติต้องใหม่และก้าวหน้า ต้องมีบรรยากาศของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ต้องพยายามพูดคุยกับคนเห็นต่างกับเรามาที่สุด ต้องหาจุดร่วมไม่ใช่จุดต่าง เพื่อนำมาเป็นตัวตั้งในการร่างกฎหมายใหม่ จึงอยากเสนอว่าหากถึงขั้นตอนต้องประชามติ ให้เปลี่ยนระบบจากการให้อ่านรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้บอกว่า เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่ให้แบ่งร่างออกมาเป็น ก. ข. ค. คุณอาจชอบ ก. ก็กา ก. หรือคุณชอบ ก. กับ ข. ก็กาสองข้อ หรือชอบทั้งหมดก็กาทุกข้อ ให้เป็นคำถามเพื่อเชิญชวนให้คนหาจุดร่วมไม่ใช่จุดต่าง
อย่างปัญหาของประเทศไทยเรื่อง 250 ส.ว.ที่อำนาจสูงมาก แต่ที่มาไม่ยึดโยงกับประชาชน ก็ถกเถียงกันว่าควรให้เลือกตั้งส.ว.แทน ลดอำนาจส.ว. แต่ตนคิดว่ายังมีทางเลือกที่สามคือไม่ต้องมีวุฒิสภาให้มีสภาเดียว ในโลกกำลังมีจำนวนประเทศมากขึ้นที่มีสภาเดียว ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา 31 ประเทศ มีเพียง 11 ประเทศที่มีวุฒิสภา อีก 21 ประเทศ ที่มี 2 สภา มีเพียง 2 ประเทศเท่าที่มีส.ว.มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งสภาเดียวนั้นไม่ใช่แค่ทรัพยากรแต่รวมถึงเรื่องของความคล่องตัวในการออกกฎหมายและแก้ไขกฎหมาย
"หลายคนอาจกังว่าจะไม่มีส.ว.มาตรวจสอบรัฐบาล แต่ผมเห็นว่าสิ่งเดียวที่อันตรายกว่า การไม่มีส.ว.มาถ่วงดุลฝ่ายบริหารคือ การมีส.ว.มาให้ท้ายอำนาจฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ บทเรียนที่ควรมาปรับแก้คือปัญหาเรื่องสีเสื้อที่รุนแรงมาก การที่ผมเคยบอกไม่ให้ร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็โดนวิจารณ์จากคนที่ยึดติด ซึ่งต้องก้าวข้ามให้ได้ โดยพิจารณาแต่ละประเด็นเป็นรายกรณีไป ยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยิ่งต้องแยกออกมาจากสีเสื้อให้ได้" นายพริษฐ์ ระบุ
'หมอสุภัทร' ขอภาคประชาชนแกนกลางผลักดัน ต้องหยุดรัฐรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์ชนบทนักกิจกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มองว่า รัฐราชการเข้มแข็ง สีเสื้อน้อยลง ทุกคนต่างเห็นว่า เอาคสช.ออกไป รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แทบไม่รู้เรื่อง จึงเห็นชัดว่า รธน.ควรแก้ไข สิ่งที่แย่มากคือทุกอย่างกำหนดมาจากส่วนกลาง เพราะการกระจายอำนาจไม่มี หัวใจการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ต้องเน้นการกระจายอำนาจ 2540 เน้นนายกฯมาจากการเลือกตั้ง แต่รอบนี้ลำพังการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ ต้องลดอำนาจรัฐลงให้ได้ แล้วสถาปนาอำนาจท้องถิ่นที่รวมถึงภาคประชาชนในการสร้างเมือง
ไม่อยากให้รัฐธรรมนูญถูกแก้เพียง 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่อยากให้เกิดมาจากคนข้างล่าง ให้ฉันทามตินั้นขึ้นมาจากฐาน มีการถกเถียงกันในสังคม จนรู้สึกเป็นของเรา ไม่ใช่ของคนชนะหรือคนแพ้ เพราะที่สุดแล้วเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็มักเป็นของคนข้างบน การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นไปได้แน่นอน เนื่องจากมีทั้งความชอบธรรมและความถูกต้อง บทเรียนที่ผ่านมาคือทุกอย่างผูกขาดไว้ที่ทำเนียบ ต้องกระจายอำนาจอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เลือกผู้ว่าฯ แต่ต้องส่งต่ออำนาจจากกรุงเทพฯมาให้ท้องถิ่นให้เราดูแลทรัพยากรของเราเอง
'ศรีสมภพ' แนะ หยุดอารมณ์กดทับ ถ่วงดุลความรู้สึก สร้างพื้นที่กลางถกความเห็นต่าง
ด้าน นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า ต้องมีความยินย้อมพร้อมใจกัน ซึ่งความกลัวในความไม่แน่นอน ความไม่เชื่อมั่นว่า สังคมจะอยู่รอดหรือไปได้ในสถานการณ์แบบนี้ ต้องไม่ใช่รัฐที่กำหนดให้ แต่ต้องมาจากประชาชนที่กำหนดร่วมกัน ร่วมกันร่างกติกาใหม่อย่างยุติธรรม ทุกคนเท่ากัน ดึงพลังสร้างสรรค์ออกมา ทำไมเราต้องฝากความหวังไว้กับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งที่เราไม่ได้ร่าง ส.ส.ก็แก้ไม่ได้ ในขณะที่อารมณ์คนเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน จึงกลายเป็นความกดทับ แล้วต้องสร้างจินตนาการใหม่ ซึ่งต้องพยายามถ่วงดุลความรู้สึกกัน เนื่องจากเป็นกระบวนการทางสังคม ที่ตัวแทนของแต่ละกลุ่มจะมาสร้างพื้นที่กลางร่วมกัน ให้ทุกฝ่ายพูดกันได้เพื่อหาทางออกแล้วแรงเหวี่ยงจะเกิดขึ้นจนเกิดความรู้สึกร่วมว่าต้องเปลี่ยน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง