ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึวทิศทางการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค. นี้ว่า ตนคิดว่าหลังจากการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่วันที่ 9 ก.ค. ก็จะเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ประชุมร่วมกันกับ ส.ส. 25 คนของพรรคว่าจะมีทิศทางในการเลือกนายกฯอย่างไร ซึ่งการเลือกนายกรัฐมนตรีก็เปรียบเสมือนการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล แต่ในส่วนของพรรค ยืนยันว่า ไม่มีฟรีโหวต ยืนยันว่าจะต้องเป็นไปตามมติพรรค ในการกำหนดทิศทางการเมืองถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าไม่ชัดเจนสังคมจะตั้งคำถามได้ เพราะฉะนั้นจะพูดได้ต้องเป็นมติออกมา ตนจะไปชี้นำว่า จะมีการเลือกไปในทิศทางไหนไม่ได้ เพราะตนเป็นแค่ 1 เสียงในกรรมการบริหารพรรค
ต่อการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ราเมศ ให้ความเห็นส่วนตัวว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก หากคำนึงถึงเอกภาพของการเมือง และการสร้างความเชื่อมั่น เสียงในสภาฯ จะต้องเกินกึ่งหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาลอุ่นใจได้ว่า การบริหารราชการแผ่นดินจะไม่เกิดอุปสรรค หากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย การดำเนินงานจะเดินได้ยาก โดยเฉพาะการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งยังเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะต้องมีเสียงข้างมากในสภาฯ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ
ทั้งนี้ หากมีความพยายามจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่มีจำนวน ส.ส.ใกล้เคียงกับฝั่งเสียงข้างมาก จนทำให้เกิดการซื้อตัว ส.ส. ขึ้น มองว่า จะทำให้การเมืองกลับไปแบบย้อนยุค ซึ่งไม่สามารถรับประกันได้เลยว่า เราจะกลับมาตั้งต้นในระบอบประชาธิปไตยได้ แต่ยอมรับว่า ในกลุ่ม ส.ส. มีการพูดถึงประเด็นนี้ นักการเมืองทุกคนให้ความสนใจว่า ทิศทางการเมืองจะไปทางใด
ทั้งนี้ ในการโหวตนายกฯ ราเมศ ระบุว่า การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ จะมาบีบบังคับให้พรรคการเมืองคิดตามเสียงข้างมากทั้งหมดคงไม่ได้ หากพรรคการเมืองในระบบประชาธิปไตย ที่อ้างว่าตนเป็นประชาธิปไตยมาบอกว่า เสียงของพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคเสียงข้างมากถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น แสดงว่า พรรคนั้นไม่เข้าใจหลักประชาธิปไตยเสียเอง
เพราะการเมืองระบบรัฐสภามี 2 ฝั่ง คือฝั่งรัฐบาลและฝั่งฝ่ายค้าน ถ้าหากทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกันหมด จับมือเป็นรัฐบาลร่วมกันให้หมดไม่ดีกว่าเหรอ แต่นี่คือรัฐสภา หากพรรคการเมืองฝ่ายค้านหรือพรรคใดบอกว่าไม่เห็นด้วย คุณต้องรับฟัง
พร้อมยกตัวอย่างการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงคะแนนเสียงสนับสนุน ปดิพันธ์ สันติภาดา จากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 เพราะว่ามีแนวคิดแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ถือเป็นแนวคิดและจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคก็มีหลักคิดชัดเจน การที่พรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิดไม่ตรงกับพรรคก้าวไกล แล้วมาบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาทางการเมืองไม่ได้ เลือกตั้งครั้งหน้าก็จะเสียที่นั่งส.ส. มีเสียงน้อยลงนั้น จะคิดแบบนั้นไม่ได้ มันไม่ใช่ทั้งหมด
ราเมศ กล่าวต่อไปว่า เวลานี้ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯทั้ง 2 คน ไม่ใช่คนที่จะมารับใช้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่จะต้องวางตัวเป็นกลาง ซึ่งเชื่อมั่นว่า วันมูหะมัดนอร์ มะทาร์ จากพรรคประชาชาติ จะทำหน้าที่ประธานสภาฯได้ดีอยู่แล้ว
ส่วนประเด็นการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ที่จะต้องมีการยื่นต่อสภาฯนั้น ราเมศ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฎหมายของสภาฯ ถือว่าเป็นสิ่งที่มั่นคงที่สุดว่า การแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ขัดและแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” ดังนั้น หากมีการยื่นร่างกฎหมายนี้ เชื่อว่า ส.ส. ทั้ง 25 คนของพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมมีการถกเถียงต่อสู้ด้วยเหตุและผลในสภาฯ และเชื่อว่า การแก้ไขม.112 จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ส.ส. ทุกคนพิจารณาว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คิดเห็นอย่างไรกับการที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ หยุดนำเรื่องการแก้ไข ม. 112 มาเป็นข้ออ้างในการไม่เคารพหลักการโหวตนายกฯ ที่มาจากพรรคอันดับ 1 ราเมศ ถามกลับว่า หากทุกคะแนนเสียงหรือมีประเพณีปฏิบัติว่า ใครจะเป็นนายกฯ ไม่ต้องมีฝ่ายค้าน ไม่ต้องมีฝ่ายรัฐบาล 8 พรรคแกนนำก็ไม่ต้องไปจัดตั้งรัฐบาล แต่ให้รวมทุกพรรคเป็นรัฐบาลเลย เพื่อที่จะบอกว่าโหวตให้ พิธา เป็นนายกฯ แต่นี่เป็นสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่า ส.ส. สามารถใช้สิทธิ ใช้ดุลยพินิจของเขาได้ ดังนั้น เรื่องม.112 ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เหล่า ส.ส. จะนำมาประกอบการพิจารณาโหวตเลือกนายกฯ ของเขา
“ถ้าจะบอกว่า เสียงข้างมากชนะการเลือกตั้งแล้ว มาบังคับให้พรรคประชาธิปัตย์เลือก พิธา เป็นนายกฯ เราจะตั้งพรรคการเมืองไปทำไม ยุบไปรวมกับพรรคก้าวไกลเลยดีไหม ตนถึงบอกว่า หลักประชาธิปไตยก็ต้องรับฟังเสียงข้างน้อย ไม่ใช่ว่าเสียงข้างมากได้มา 14 ล้านเสียงแล้ว พรรคนี้ไม่ยกมือให้เป็นนายกฯ ก็ใช้ขบวนการสังคมประชาชนมากดดันเขาว่าไม่ยกมือให้ไม่ได้” ราเมศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ราเมศ ยืนยันด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้านได้เสมอ เราสามารถทำหน้าที่ได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ว่า ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ จะมีการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค โดยจะมีองค์ประชุม 19 กลุ่ม หรือจำนวน 367 คน ซึ่งจะมีการเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค 11 ตำแหน่ง จำนวน 41 คน
สำหรับคุณสมบัติผู้สมัครระบุชัดเจนในข้อบังคับที่ 31 ว่า ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี จนถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่สมาชิกที่มีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ หากเป็นสมาชิกไม่ครบตามกำหนดจะต้องเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกกรรมการบริหารพรรค กรรมการสาขาพรรค สมาชิกผ่านผู้แทนราษฎรในนามพรรค รัฐมนตรีในนามพรรค ,สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่พรรคส่งสมัครในนามพรรค ทั้งนี้ หากไม่เคยดำรงตำแหน่งเหล่านี้ แต่ได้รับมติจากสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมใหญ่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคได้
ส่วนข้อบังคับที่ 32 ระบุว่า ตำแหน่งหัวหน้าพรรค คนที่จะเป็นได้ ต้องมีลักษณะเป็นหรือเคยเป็น ส.ส.ในนามพรรค แต่หากไม่เคยเป็น ให้ใช้หลักเกณฑ์ได้รับมติจากสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ขององค์ประชุม และหากจะมีใครใช้สิทธิเสนอชื่อลงแข่งขัน จะต้องได้รับการรับรองกึ่งหนึ่งในองค์ประชุม
ส่วนที่มีข่าวสมาชิกพรรคกลุ่มหนึ่งจะใช้สิทธิยกเว้นข้อบังคับตามข้อ 137 ไม่ใช้น้ำหนักคะแนน 30 : 70 แต่ให้ใช้ 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน ตนในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้งของพรรค มองว่าทำได้ ไม่ได้พูดเพื่อเอาใจ แต่พูดเพื่อหลักเกณฑ์ของพรรคที่ระบุไว้ แต่ต้องมีเสียงในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ขององค์ประชุม เพื่อที่จะให้งดเว้นน้ำหนัก 30:70
อย่างไรก็ดี การเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้จะเปิดให้ผู้สมัครหัวหน้าพรรคแสดงวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตรฺ์พรรคเพื่อฟื้นฟูพรรค ภายในกรอบเวลา 7 นาที ด้วย ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อแคนดิเดตหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการ ซึ่งต้องติดตามอีกครั้งในวันที่ 9 ก.ค. และเมื่อได้หัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แล้ว เชื่อว่า จะมีการเรียกประชุมทิศทางเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว ก่อนวันที่ 13 ก.ค. นี้ แน่นอน
นอกจากนี้ ต่อกระแสข่าวว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค จะกลับมาอีกครั้งนั้น ราเมศ ระบุว่า แม้เป็นอดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นอีกคนที่มีศักยภาพมาก และมีความเป็นประชาธิปัตย์มาก และสมาชิกบางส่วนคาดหวังให้ท่านกลับมา ซึ่งก็ต้องเข้าสู่กระบวนการแข่งขัน