ซึ่งการนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่นในอดีตคือ คำสั่ง 66/2523 สมัย ‘ป๋าเปรม’พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ผ่านคำว่า ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีการเสนอโมเดลนิรโทษกรรมขึ้นมา โดยเป็นข้อเสนอที่รวบรวมและรับฟังผ่านคณะกรรมการปรองดองชุดต่างๆ ยุค คสช.
โดยโมเดลที่มีการพูดถึงมาก คือ ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอหลักเกณฑ์ว่า นิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่รวมถึงการกระทำความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
อย่างไรก็ตามแต่ละกลุ่มทางการเมืองทั้ง นปช. และ พันธมิตร ก็ต่างได้รับสัญญาณนี้มานานแล้ว และเป็นที่ชัดเจนว่าทั้งกลุ่ม นปช. และ พันธมิตร ต่างถูกดำเนินคดีและรับโทษคดีทางการเมืองไปแล้ว
ในส่วนกลุ่ม กปปส. ก็อยู่ขั้นตอนการสู้คดี โดย ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ แกนนำ กปปส. ระบุว่า ตนไม่ขอรับการนิรโทษกรรม ขอสู้คดีตามกระบวนการตามกฎหมายต่อไป
ในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็สงวนท่าทีในการพูดเรื่องแนวคิดการออกฎหมายนิรโทษกรรม โดยย้ำถึงการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน ตามแนวทาง ‘รวมไทยสร้างชาติ’
แม้แต่ ‘วิษณุ เครืองาม’ มือกฎหมายของรัฐบาล ก็สงวนท่าทีในการพูดเรื่องนี้ โดยระบุว่า เคยมีการเสนอมาแล้วในอดีต แต่เปรยว่า เวลาผ่านไปก็อาจจะใช้ได้ หากมีการเสนอมาเป็นเรื่องเป็นราวก็จะต้องพิจารณา
อย่างไรก็ตาม เสียงใน ส.ว. ก็แตกในเรื่องนี้ หลัง ‘พีระศักดิ์ พอจิต’ ส.ว. ออกมาระบุว่า การนิรโทษกรรมคดีการเมือง ในการเดินสร้างความปรองดอง อย่าเจาะจงตัวบุคคล ไม่เช่นนั้นจะวงเเตก ต้องตั้งหลักพูดคุยถึงขอบเขตการนิรโทษ ควรครอบคลุมกลุ่มใดและช่วงเวลาใด
ด้าน ‘เสรี สุวรรณภานนท์’ ส.ว. มองว่า เมื่อมีการกระทำผิด แล้วมานิรโทษกรรม จะทำให้การเมืองไม่สงบ และเกรงว่าจะเสียหลักการทางกฎหมาย ดังนั้นควรมีวิธีการอื่นแทน
อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่า 250 ส.ว. มาจากการเลือกของ คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็น หัวหน้า คสช. ในขณะนั้น และตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญนั้น 250 ส.ว.ชุดนี้ มีวาระ 5 ปี ตอนนี้ผ่านไปแล้ว 1 ปีกว่า แน่นอนว่า 250 ส.ว. ย่อมอยู่ในการคอนโทรลได้ไม่ยาก
ในส่วนตำแหน่งที่ถูกจับตา มากที่สุดคือ ผบ.เหล่าทัพ-ปลัดกลาโหม ที่เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง ‘บิ๊กนัต’ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. ระบุ ถึงข้อเสนอดังกล่าวว่า ยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ ขอให้ดูเรื่องปากท้องประชาชนก่อน เรื่องการเมืองค่อยๆแก้ เพราะหมักหมมมานาน
“เรื่องนี้ยังไม่ถูกหยิบยกมาศึกษา หากให้มีการศึกษาจะมอบให้ทีมผู้เชี่ยวชาญดูในรายละเอียด และสรุปว่าเงื่อนไข กติกาเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมเข้ามา” พล.อ.อ.มานัต กล่าว
“แต่เรื่องปากท้องเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้น เอาความอยู่รอดก่อน ส่วนเรื่องการเมืองค่อยๆแก้กันไปเพราะเป็นปัญหาหมักหมมหลายปี” พล.อ.อ.มานัต กล่าว
แน่นอนว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการ ‘โยนหินถามทาง’ เพราะเรื่องการตรา กฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ฝ่ายความมั่นคงระบุสิ่งสำคัญคือ ‘เวลาที่เหมาสม’ เพราะมีเหตุการณ์ในอดีตมาแล้ว หากรีบเร่งจนเกินไป และอาจกลายเป็น ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ที่ทำให้รัฐบาลล้มไปทั้งขบวน
ในส่วนของ ‘ฝ่ายค้าน’ ก็ไม่ได้มีท่าทีต่อต้าน ‘สุทิน คลังแสง’ ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ ควรจะทำนานแล้ว ซึ่งการนิรโทษกรรมต้องยึดหลัก ‘เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร’ เพื่อไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ ไม่มีเลศนัย ต้องอภัยกันจริงๆ โดยให้รัฐบาลควรเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งฝ่ายค้านยินดีสนับสนุน
“จะสุดซอยหรือกลางซอยก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาต้นเหตุของปัญหา ว่ามากน้อยแค่ไหน ถ้าผมเห็นอยู่ที่กลางซอยก็จบที่กลางซอย แต่ถ้าต้นเหตุอยู่สุดซอยก็ต้องไปสุดซอย แต่วันนี้ยังไม่ได้สรุป ที่ผ่านมามีปัญหานิรโทษสุดซอย เพราะมีการเกี่ยวโยงไปเรื่องอื่น โดยใช้การนิรโทษสุดซอยเป็นสะพาน” นายสุทิน กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นที่แน่ชัดว่า การนิรโทษกรรมทางการเมือง มีโอกาสเกิดขึ้น เพราะต่างได้รับ ‘สัญญาณบวก’ จากหลายฝ่าย หากเกิดขึ้นได้จริง แนวทาง ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการทำการเมืองแบบ New Normal หลังเดินสายพบสื่อ ก็จะเกิดขึ้นจริงด้วย
ทั้งนี้มีการมองว่า แนวทางการ ‘นิรโทษกรรม’ เป็นอีกสัญญาณการปูทางสู่การ ‘ลงหลังเสือ’ ของทั้ง ‘3ป.’ ก็เป็นได้ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา เพื่อไม่ให้ ‘เสียของ’ เช่นในอดีต และล้างอาถรรพ์ ‘ผู้นำรัฐประหาร’ ในสนามการเมืองที่มักจบไม่สวย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เหลือเวลาอีก 3 ปี ก่อนครบวาระนายกฯ 4 ปี จึงเป็นช่วงเวลาที่จะต้องปูทางลงจากอำนาจ รวมทั้งหา ‘ทายาทการเมือง’ ขึ้นมาเป็นตัวแทนต่อไป
ทั้ง ‘3ป.’ ย้อนอ่านตำราการเมือง ไกลกว่าที่คิด !!