คณะกรรมการมาตรการสื่อสารสนเทศแห่งเกาหลี หรือ เคซีเอสซี (KCSC) แต่งตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อกำกับดูแลและป้องกันการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารในโลกไซเบอร์ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และมีเจ้าหน้าที่ถูกคัดเลือกจากหน่วยงานต่างๆ มาทำงานร่วมกัน รวมทั้งหมด 16 คน โดยมีหน้าที่ตรวจสอบและสอดส่องสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อหาทางกำจัดสื่อลามกอนาจารที่เกิดจากการแอบถ่าย หรือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกล้องแอบถ่ายจำนวนมากได้รับผลกระทบทางจิตใจ เพราะการบันทึกภาพของกลุ่มผู้ก่อเหตุเกิดจากการลักลอบติดตั้งกล้องขนาดเล็กในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องน้ำในห้างหรือห้องลองเสื้อผ้า ผู้ที่ถูกถ่ายภาพจึงไม่รู้ว่าตนเองตกเป็นเหยื่อการแอบถ่าย หรือบางกรณี ผู้แอบถ่ายภาพมีความสัมพันธ์ในฐานะคนรักของผู้หญิงที่ถูกแอบถ่าย เมื่อเลิกกันแล้วก็มีการนำภาพหรือวิดีโอเหล่านี้มาข่มขู่ เข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในหลายกรณี
อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อเหตุเหล่านี้ไม่ได้รับบทลงโทษที่รุนแรงมากนัก บางรายถูกตัดสินจำคุกเพียงไม่กี่เดือน และบางรายก็ได้รอลงอาญา ในขณะที่ผู้หญิงที่ถูกละเมิดไม่ได้รับการเยียวยาทางจิตใจมากนัก ทั้งยังต้องรับมือกับผู้ก่อเหตุที่ไม่ได้รับบทลงโทษอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลสื่อออนไลน์ต้องหาทางป้องกันไม่ให้ภาพหรือวิดีโอของผู้ถูกละเมิดเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อเป็นการควบคุมความเสียหายไม่ให้ขยายวงกว้าง
เจ้าหน้าที่ KSCS ยอมรับว่างานที่ทำส่งผลกระทบทางจิตใจของพวกเขาไม่น้อยเลย เพราะเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องใช้เวลาทั้งวันในการค้นหาแฮชแท็กหรือข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้เผยแพร่เป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน เพื่อค้นหาเบาะแสของกลุ่มผู้ลักลอบถ่ายภาพ และเผยแพร่ภาพอนาจารละเมิดสิทธิผู้อื่น เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีเครือข่ายและรหัสลับในการสื่อสารระหว่างกัน
เมื่อเจ้าหน้าที่พบเบาะแส ก็จะติดตามไปดูวิดีโอหรือภาพที่เกิดจากการแอบถ่ายเหล่านั้น เพื่อตรวจสอบข้อมูลและสืบสาวไปให้ถึงตัวผู้ก่อเหตุ เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องดูวิดีโอหรือภาพของผู้ถูกละเมิด ซึ่งเจ้าหน้าที่บางคนเขาต้องเจอกับภาพและวิดีโอลามกอนาจาร "มากกว่าที่เคยเจอมาทั้งชีวิตก่อนหน้านี้" และบางคนบอกว่า เขาไม่กล้าสบตาผู้หญิงที่เจอในที่สาธารณะ เพราะเกรงว่าจะเกิดภาพทับซ้อนกับสิ่งที่เขาเคยดูในระหว่างสอบสวนเก็บข้อมูล
เจ้าหน้าที่ KCSC จะสับเปลี่ยนกันเข้าเวรเพื่อให้ครอบคลุมการปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้เหตุผลว่าการยับยั้งคลิปโป๊ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่นได้ภายใน 24 ชั่วโมงแรกที่มีผู้นำเข้าระบบออนไลน์ จะช่วยชะลอหรือป้องกันการนำไปเผยแพร่ต่อได้มากขึ้น และเวลาเพียงแค่ 'เสี้ยววินาที' ก็ถือว่าสำคัญมากสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ
กรณีล่าสุดที่ทำให้เจ้าหน้าที่กำกับดูแลสื่อออนไลน์เหล่านี้กลับมาอยู่ในความสนใจของชาวเกาหลีใต้และสื่อทั่วโลกอีกครั้ง เกิดจากการเสียชีวิตของ 'คูฮารา' นักร้องนำวงคาร่าของเกาหลีใต้ ซึ่งถูกพบเป็นศพที่บ้านพักของตัวเองเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ก่อนจะเสียชีวิตไม่นาน คูฮาราฟ้องร้องอดีตคนรักของเธอในข้อหาลักลอบถ่ายวิดีโอขณะทั้งคู่มีเพศสัมพันธ์ และนำวิดีโอไปเผยแพร่ สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ศาลสั่งลงโทษจำคุกคนรักของคูฮารา 18 เดือน และให้รอลงอาญา ขณะที่ 'คูฮารา' ถูกผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากโจมตีว่าประพฤติตัวไม่เหมาะสมเอง แฟนคลับของคูฮาราจึงมองว่า ความไม่เป็นธรรมในการตัดสินคดี คือ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คูฮาราตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เช่นเดียวกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเกินพอดีของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เข้าข่ายการกลั่นแกล้งคุกคามทางไซเบอร๋
ทั้งนี้ สถิติผู้ถูกจับกุมในคดีเกี่ยวกับการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารที่เกิดจากการแอบถ่ายหรือล่วงละเมิดผู้อื่นทั่วประเทศเกาหลีใต้ มีจำนวนเกือบ 5,500 คนเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา เป็นสถิติที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2016 ราว 22 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ 97 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถูกจับกุมทั้งหมดเป็นผู้ชาย
ภาพ: @vilimanovicnevena by Unsplas
ที่มา: CNA/ Strait Times
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: