ไม่พบผลการค้นหา
เปิดรายละเอียด MOU ตั้งรัฐบาลของประชาชน 23 วาระ 5 แนวทางปฏิบัติ เตรียมแถลงเย็นนี้ ถือฤกษ์เวลา 'ประยุทธ์' ทำรัฐประหาร เมื่อ 9 ปีที่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 พ.ค. เวลา 16.30 น. พรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคก้าวไกล จะนำพรรคร่วมรัฐบาล ร่วมกันแถลงข่าวและลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน ในเวลา 16.30 น. ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โดยก่อนแถลง จะมีการนัดประชุมภายในระหว่างแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ในเวลา 15.30 น. ก่อนการลงนาม 1 ชั่วโมง เพื่อเป็นการหารือถึงการแก้ไขเนื้อหาครั้งสุดท้าย

สำหรับพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลปัจจุบันกับพรรคก้าวไกลนั้น มีทั้งหมด 8 พรรคการเมือง (รวมทั้งหมด 313 ส.ส.) ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคเพื่อไทรวมพลัง 

สำหรับเนื้อหาของ MOU นั้น ได้รับการเปิดเผยเป็นที่แรก ผ่านรายการเรื่องเล่าเช่านี้ ทีมีสรยุทธ สุทัศนจินดา เป็นพิธีข่าว โดยเนื้อหาทั้งหมดของ MOU ในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล มีดังนี้

(ร่าง) บันทึกข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาล (MOU)

บันทึกข้อตกลงนี้ทำขึ้นเพื่อสร้างบรรทัดฐานในการจัดตั้งรัฐบาล ระหว่าง พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคเพื่อไทรวมพลัง 

ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะร่วมผลักดันประกอบไปด้วยวาระร่วมดังต่อไปนี้

1. ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

2. เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ทุกพรรคการเมืองจะร่วมกันผลักดันการอำนวยความยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง ผ่านกลไกของรัฐสภา

3. ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิ์สมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการศาสนาที่ตนเองนับถือ

4. ผลักดันการปฏิรูประบบราชการตำรวจกองทัพและกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดหลัก ความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

5. เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ

6. ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง

7. ผลักดันการกระจายอำนาจ ทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต

8. แก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น โดยการสร้างระบบวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน

9. ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยยึดหลัก เพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และ สร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม

10. ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากินและการดำรงชีวิตของประชาชนเช่นตัดลดหรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งใบอนุญาตอนุมัติที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือหรือสภาพคล่องทางด้านการเงิน และ การสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และ สินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

11. ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

12. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้ และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดี ที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

13. ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า คำนวณราคา และ การผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน และสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

14. จัดทำงบประมาณแบบใหม่โดยเน้นใช้วิธีจัดการงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budgeting) 

15. สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังในระยะยาว

16. แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน

17. นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา

18. ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัยคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมการผลิตส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งน้ำส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

19. แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยาฟื้นฟู และ พัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน

20. ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

21. ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพลดความเหลื่อมล้ำ และ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

22. สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษรวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็น (Net Zero) โดยเร็วที่สุด

23. ดำเนินการนโยบายต่างประเทศ โดยฟื้นฟูบทบาทผู้นำไทยในอาเซียน และ รักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ

ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันว่าจะร่วมกันบริหารประเทศด้วยแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. ทุกพรรคจะต้องคุ้มครองสิทธิพลเมือง และ สิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน

2. ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใด มีพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่น ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆทันที

3. ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง

4. ทุกพรรคมีสิทธิ์ในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง

5. ทุกพรรคมีสิทธิ์ในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง

สำหรับวันแถลงข่าวเปิดเผยข้อตกลงเอ็มโอยู ในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ตรงกับวันที่ 22 พ.ค. ซึ่ง เป็นวันครบรอบ 9 ปีของการรัฐประหาร โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช.ที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศด้วยการรัฐประหารรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557