ไม่พบผลการค้นหา
สภาฯ ผู้บริโภค หนุน 'พิรงรอง' ปกป้องผู้บริโภค เปิดปมพิพาท 'ทรูไอดี' ทำไมมีโฆษณาจึงผิดกฎ กสทช.

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค ที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสทช. ซึ่งมี พิรงรอง รามสูต เป็นประธานฯ ทำให้ถูกทางบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป ฟ้องเป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น

ในนามของสภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ คณะอนุกรรมการ ที่พิจารณาข้อร้องเรียนของผู้บริโภคที่ประสบปัญหาการรับชมรายการของช่องทีวิดิจิทัลผ่าน Internet TV Box และการที่แอป True Id มีโฆษณาคั่นเวลาเปลี่ยนช่องรายการ รวมถึงพิจารณาเรื่องการนำเอาเนื้อหาของรายการทีวีดิจิทัล ของผู้รับใบอนุญาตทั้งช่อง ไปเผยแพร่เป็นสิ่งที่ขัดต่อประกาศ กสทช.และขัดต่อประกาศ Must Carry นั้น เป็นการทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ที่ต้องปกป้องผู้บริโภคและผลประโยชน์ของสาธารณะ และยังตั้งคำถามถึงเหตุใดการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ที่เป็นความลับจึงหลุดรอดออกไปจึงนำมาสู่การฟ้องร้องคดี

โดยที่มาของการฟ้องร้องในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป ฟ้อง ศาสตราจารย์ พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ( ม 157 ประมวลกฎหมายอาญา) เจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย

ทรู ดิจิทัล ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ทรู ไอดี กล่าวหาว่า พิรงรอง สั่งให้รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาต ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์จำนวน 127 ราย ( ทีวีดิจิทัล, เคเบิลทีวี, ไอพีทีวี และทีวีดาวเทียม) โดยมีข้อความว่า ทรู ไอดี ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ทำให้เข้าใจว่า ทรู ไอดี ทำผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้ทรู ไอดี เกิดความเสียหาย

กรณีนี้มีจุดเริ่มต้นจากมีผู้บริโภคซึ่งยอมเสียเงินค่าสมาชิก ดูรายการผ่าน ทรู ไอดี ร้องเรียนมายัง กสทช. ว่า ถูกบังคับให้ดูโฆษณา ทุกครั้งที่กดรีโมทเปลี่ยนช่องรายการรู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิจ่ายเงินเพื่อดูรายการ ไม่ต้องการดูโฆษณา

คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งพิรงรองเป็นประธานจึงทำการตรวจสอบ แล้วแนะนำให้สำนักงาน กสทช ทำหนังสือแจงไปยังผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลให้ทราบว่า มีผู้นำเนื้อหารายการไปออกอากาศและมีโฆษณา ขอให้ผู้ประกอบการระมัดระวังเรื่องนี้เพราะผิดกฎกสทช. 

แต่ทรู ไอดี กลับนำเรื่องนี้ไปฟ้องพิรงรอง กลายเป็นว่า การพิจารณาข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคของพิรงรอง กับถูกทรู ไอดีกล่าวหาว่า สร้างความเสียหายให้กับตน ทำให้ศาลอาญาฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งทางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ได้กล่าวว่าอย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ปกติเป็นความลับเหตุใดจึงหลุดรอดออกไปและเป็นที่รับรู้จนนำมาสู่การฟ้องคดี 

ทรูไอดีไม่มีใบอนุญาตทำผิดกฎ Must Carry หรือไม่ 

ทรู ดิจิทัล อ้างว่า ทรูไอดี เป็นการให้บริการประเภท OTT (over the top) ซึ่งเป็นบริการที่ กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศหรือออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล กสทช. ทราบดีอยู่แล้วว่า ทรู ไอดี เป็น OTT ที่ไม่ต้องขออนุญาต

กิจการ OTT เป็นกิจการที่เกิดใหม่ เป็นลูกผสมระหว่างโทรทัศน์กับโทรคมนาคม ใน พรบ.กสทช ไม่มีคำว่า OTT เพราะเกิดขึ้นหลังจากมีกฎหมายแล้ว แต่บอร์ด กสทช. ชุดก่อน เคยมีมติว่า OTT ต้องอยู่ในการกำกับดูแล ของ กสทช.      

มติ กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 2/ 2560 วันที่ 20 เมษายน 2560 กำหนดให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ผ่านโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือ โทรทัศน์ (OVER THE TOP หรือ OTT) เป็นกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์

มติ กสทช.ครั้งที่ 7/2560 วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ให้กิจการ OTT ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.เพราะกิจการ OTT เป็นการดำเนินธุรกิจที่เปิดให้บริการในประเทศไทย จึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายไทย โดยเฉพาะ พรบ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2563 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 

อำนาจของ กสทช. ในการกำกับดูแล OTT ถูกตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งจากบอร์ด กสทช. ชุดปัจจุบัน 

กสทช.พยายามทำกติกาขึ้นมาดูแล OTT โดยจัดทำ(ร่าง)ประกาศเพื่อใช้กำกับดูแลแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง OTT เสร็จแล้ว รับฟังความคิดเห็นแล้ว เสนอเข้าบอร์ดตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 แต่ได้รับแจ้งว่า ต้องชี้แจงนิยามให้มความหมายของคำว่าOTT เพราะเป็นคำใหม่ยังไม่ถูกบัญญัติเป็นภาษาไทย จึงไม่ทันช่วงเดือนพฤศจิกายน ทำให้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็น OTT จำนวนหนึ่งยังไม่ไปจดแจ้งเพื่อเข้าสู่กลไกการควบคุม     

ทรู ไอดี จึงมีสถานะเป็นผู้ที่ให้บริการบริการแพร่ภาพ ที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.การเอาเนื้อหาจากช่องทีวีดิจิทัล ไอพีทีวี เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม ไปแพร่ภาพบนแพลตฟอร์ม ทรู ไอดี แบบนี้เท่ากับผิดกฎ Must Carry ของ กสทช. ใช่หรือไม่

ตามประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 (กฎ Must Carry )กำหนดว่าผู้ที่จะนำเอาเนื้อหาไปเผยแพร่ต้องเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช. ทั้งระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดินและโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่ให้บริการผ่านระบบดาวเทียม ระบบเคเบิล ระบบโครงข่ายไอพีทางสายและไร้สาย ตามประกาศนี้ไม่มี OTT 

ดังนั้น เมื่อ True ID เรียกตัวเองเป็น OTT จึงไม่เข้าตามกฎ Must Carry ไม่มีสิทธิเอาเนื้อหาไปออกอากาศ 

แทรกโฆษณา ละเมิดสิทธิผู้บริโภค 

เรื่องที่ว่า OTT ไม่สามารถแทรกโฆษณาได้นั้นจริงอยู่ ปัญหาการโฆษณาที่เกิดขึ้น ผู้ให้บริการ ไม่ได้แทรกโฆษณาเข้าไปอยู่ในเนื้อหาที่นำไปออกอากาศ แต่เป็นการแทรกโฆษณาเมื่อมีการกดรีโมทเปลี่ยนช่อง เท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิในการรับชมเนื้อหาของผู้บริโภค

การแทรกโฆษณาจะอ้างว่าไม่ได้แทรกในเนื้อหารายการไม่ได้ผิดกฎก็จริง แต่การแทรกทุกครั้งที่กดรีโมทเปลี่ยนช่องทำให้ผู้บริโภคเสียสิทธิในการชมรายการที่ควรจะได้ชมรายการครบถ้วนผู้บริโภคไม่ได้อยากดูโฆษณา แต่ต้องดูทุกครั้งที่เปลี่ยนช่อง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคให้ไม่ได้รับชมรายการเต็มตามกฎ Must Carry     

เมื่อผู้บริโภคต้องทนดูโฆษณาทำให้ผู้บริโภคที่จ่ายเงินร้องเรียนมาที่ กสทช. โดยคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จึงทำการตรวจสอบ แล้วทำหนังสือแจงไปยังผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลให้ทราบว่า มีผู้นำเนื้อหารายการไปออกอากาศและมีโฆษณา ขอให้ผู้ประกอบการระมัดระวังเรื่องนี้เพราะผิดกฎ กสทช.