ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้รับทราบถึงรายงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 ในปี 2566 จากร้อยละ 2.8 ในปีนี้ พร้อมกับคาดว่าการว่างงานของไทยจะอยู่ในอัตราต่ำที่สุดในเอเชียแปซิฟิกที่ 1.0% โดยไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่ IMF มองว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ท่ามกลางการชะลอตัวของทั่วโลกที่เผชิญกับความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนการครองชีพที่สูงขึ้น
นายกรัฐมนตรี ยินดีกับผลการประเมินของ IMF และเห็นว่าความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขององค์กรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนับแต่สามารถจัดการกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่ภายใต้การควบคุมได้ รัฐบาลได้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเตรียมภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ แรงงานจำนวนมากให้พร้อมรับนักท่องเที่ยว การมีมาตรการดึงดูดนักลงทุน เปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ มาตรการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย
“ในภาคการท่องเที่ยวรัฐบาล ได้เตรียมตัวมาตั้งแต่กลางปี 2564 ด้วยการนำร่องภูเก็ตแซนด์บ็อก แล้วทยอยเปิดประเทศอย่างระมัดระวัง จนถึงขณะนี้สามารถเปิดประเทศได้เต็มที่ นักท่องเที่ยวทั่วโลกก็เดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากจีนที่เป็นตลาดท่องเที่ยวสำคัญของไทยผ่อนคลายนโยบายจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งความชัดเจนของนโยบายนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุน นักท่องเที่ยว และผู้ที่ทำการประเมินประเทศไทย” ไตรศุลี กล่าว
สำหรับข้อมูลประมาณการเศรษฐกิจโดย IMF ดังกล่าว ได้มีการเปิดเผยระหว่างที่ คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมเวทีการประชุมผู้นำเอเปค เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง IMF เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเอเปคส่วนใหญ่กำลังชะลอตัวลง และอย่างน้อย 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้จีดีพีทั่วโลกในปี 2566 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากร้อยละ 3.2 ในปี 2565
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในบางพื้นที่ยังคงมีความสดใส โดยอาเซียนเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งรายงานของ IMF แสดงให้เห็นว่าไทยและจีนเป็นเพียง 2 ประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ปีก่อนหน้า ไม่นับรวมฮ่องกงและมาเก๊า