ความคืบหน้าการจ่ายเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ รอบการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการจ่ายเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ (โครงการฯ) ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายโครงการรวมประมาณ 14.55 ล้านคน ว่า กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้จ่ายเงิน 10,000 บาทต่อราย ให้แก่กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 ถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2567 โดยมียอดรวมที่จ่ายเงินสำเร็จแล้ว เป็นจำนวนทั้งสิ้น 14,450,168 ราย
ทั้งนี้ ในรอบการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 กรมบัญชีกลางได้สั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการที่มีสิทธิจำนวน 50,228 ราย โดยประกอบด้วยการจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิที่ยังจ่ายเงินไม่สำเร็จในรอบการจ่ายเงินที่ผ่านมา และการจ่ายเงินให้แก่คนพิการที่ได้ดำเนินการต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการหรือทำบัตรประจำตัวคนพิการหรือแก้ไขข้อมูลบัตรประจำตัวคนพิการเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี พบว่าในรอบการจ่ายเงินซ้ำดังกล่าว ยังมีการจ่ายเงินไม่สำเร็จจำนวน 37,685 ราย เนื่องจากสาเหตุดังนี้
1. ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จ่ายเงินไม่สำเร็จจำนวน 33,767 ราย มีสาเหตุหลักเนื่องจากยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนจำนวน 30,842 ราย รองลงมาคือ บัญชีเงินฝากธนาคารไม่มีการเคลื่อนไหว บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด ไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคาร และเลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้องรวมกัน 2,925 ราย
2. คนพิการ จ่ายเงินไม่สำเร็จจำนวน 3,918 ราย มีสาเหตุหลักเนื่องจากยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนจำนวน 3,834 ราย รองลงมาคือ บัญชีเงินฝากธนาคารไม่มีการเคลื่อนไหว บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง และไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคารรวมกัน 84 ราย
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า ภายหลังจากการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ถือได้ว่ากระทรวงการคลังได้ดำเนินการจ่ายเงินให้กลุ่มเป้าหมายเสร็จสิ้นแล้วตามเงื่อนไขของโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ กล่าวคือ “เมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการฯ”
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินโครงการฯ ภาครัฐได้จ่ายเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเป้าหมายแล้วรวมทั้งสิ้น 14,450,168 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.19 ของกลุ่มเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ ทำให้มีเม็ดเงินจากโครงการฯ หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 144,501.68 ล้านบาท
และจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับสิทธิในโครงการฯ จำนวนตัวอย่าง 31,500 ราย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีการแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายเงิน 10,000 บาท ไปกับการใช้จ่ายของครัวเรือนเป็นหลักกว่าร้อยละ 75 โดยมีการใช้จ่าย 3 อันดับแรก ได้แก่
1) ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม
2) ซื้อของใช้ในครัวเรือน
3) ชำระค่าสาธารณูปโภค
ในขณะที่สถานที่ที่นำเงิน 10,000 บาท ไปใช้จ่าย 3 อันดับแรก ได้แก่
1) ร้านค้าในชุมชน/ร้านขายของชำ
2) หาบเร่ แผงลอยทั่วไป/ในตลาด
3) ร้านสะดวกซื้อ/มินิมาร์ททั่วไป
สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ของการดำเนินโครงการฯ ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มการบริโภคที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2567