วันที่ 22 ธ.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานจำเลยในคดีหมายเลขดำคดีดำ อ.3055/62 ที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ เป็นจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืน ขัดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2557, และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) จากกรณีวันที่ 27 พ.ค. 2557 จาตุรนต์ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในประเด็นต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. มีใจความว่า เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และคำสั่งหรือประกาศ คสช. ก็ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เป็นทนายความให้
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทำความผิดตามฟ้อง ม.116 หรือไม่ เห็นว่า ตาม ม.116 ระบุว่า กระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
ศาลระบุว่า แต่จำเลยเพียงแต่ไปงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนต่างประเทศ มีผู้เข้าฟังประมาณ 80 คน และจำเลยได้แถลงเป็นภาษาอังกฤษใจความสรุปได้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอเรียกร้องให้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ขอให้ประชาชนอดทนและแสดงออกอย่างสันติวิธี แม้พยานฝ่ายโจทก์จะให้เหตุผลว่า จำเลยเป็นบุคคลที่เคยดำรงค์ตำแหน่งสำคัญ และตำแหน่งสุดท้ายคือ รตว.กระทรวงศึกษา เป็นคนที่มีประชาชนให้ความเชื่อถือ และการที่จำเลยได้แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับคสช.ในช่วงเริ่มแรกของการยึดอำนาจ ยังมีความไม่สงบในหลายพื้นที่ การกระทำของจำเลยอาจจะเป็นเหตุให้ยุยงปลุกปั่นประชาชนให้หลงเชื่อคล้อยตาม และออกมาต่อต้านการรัฐประหาร จนเกิดความไม่สงบในบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม ความผิดตาม ม.116 ต้องปรากฏโดยชัดแจ้ง เป็นการละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน การที่จำเลยไปแถลงข่าวดังกล่าว เป็นไปตามสิทธิเสรีภาพโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงออกโดยคำพูดที่ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตามไม่ปรากฎว่าหลังจากจำเลยได้แถลงข่าวแล้วมีประชาชนออกมาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ไม่สงบในสังคม และในข้อความที่จำเลยแถลงไม่มีข้อความใดที่เจตนาให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.
ศาลระบุต่อไปว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยตามความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ไม่ได้มีพยานหลักฐานใดมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เฟซบุ๊ก Chaturon.FanPage กลับได้ข้อเท็จจริงจากพยานว่าหลังจากจำเลยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนจำเลยถูกควบคุมตัวและไม่อนุญาตให้จำเลยใช้โทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใดๆ สอดคล้องกับพยานจำเลยยืนยันว่าหลังจากทหารเข้าควบคุมตัวจำเลยถูกยึดโทรศัพท์มือถือและไม่มีเครื่องมือสื่อสารไม่สามารถติดต่อเครือญาติได้ เมื่อข้อความที่มีการโพสต์ในเฟซบุ๊กตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ในช่วงระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมตัว พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีมูลเพียงพอที่จะรับฟังได้ พิพากษายกฟ้อง