นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำตัวรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 มิ.ย. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตราการเพื่อลดการเผาอ้อย ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2565 ผ่าน 3 มาตรการสำคัญคือ
หนึ่ง มาตรการทางกฎหมาย ออกระเบียบกำหนดปริมาณการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ เข้าหีบของโรงงานน้ำตาล โดยในฤดูการผลิตปี 62/63 จะรับไม่เกินร้อยละ 30 ต่อวัน โดยจะรับซื้อไปเรื่อยๆ จนไม่มีอ้อยไฟไหม้เข้าโรงน้ำตาลเลยภายในปี 2565 หรือ ภายใน 3 ปี
สอง มาตรการสนับสนุนเครื่องจักรกล โดยจะขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 2562-2564 รวมทั้งจะนำเสนอมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตรถตัดอ้อยไทย ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการและส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยการใช้รถตัดอ้อยและเครื่องจักรกลการเกษตรอื่นๆ นำไปจดทะเบียนเครื่องจักรตามกฎหมายกับกรมโรงงาน เพื่อนำไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันกับแหล่งเงินกู้ได้
สาม มาตรการขอความร่วมบริหารจัดการเพื่อเป็นต้นแบบการเก็บเกี่ยวและขนส่งอ้อยให้โรงงาน โดยความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิตปี 2562/2563 เพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดการเผาอ้อยในจังหวัดต้นแบบปลอดการเผาอ้อย ตัดอ้อยสด ร้อยละ 100 ในแต่ละภาค รวม 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ชัยภูมิ เลย อุตรดิตถ์ การจัดการพื้นที่ลดการเผาอ้อยรอบชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร และรอบโรงงานน้ำตาลในรัศมี 10 กิโลเมตร และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดคิวรับอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้
นอกจากนี้ ครม. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562-2564 วงเงิน 6,000 บาท โดยมีแหล่งที่มาของเงินคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจะเปิดให้กู้ทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลหรือการรวมกลุ่มเกษตรไม่เกิน 29 ล้านบาทต่อราย
โดยหากผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดาจะคิดอัตราดอกเบี้ย MRR - 5 (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปี) หรือผู้กู้จ่ายจริงในอัตราร้อยละ 2 โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เหลือรัฐบาลและ ธ.ก.ส. จะช่วยสนับสนุน
ส่วนผู้กู้เป็นกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์คิดอัตราดอกเบี้ย MLR - 3 (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ร้อยละ 5 ต่อปี) โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนผู้กู้ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ธ.ก.ส. รับร้อยละ 1 ต่อปี ดังนั้น ธ.ก.ส.จะขอรับเงินสนับสนุนงบชดเชยดอกเบี้ยตลอดโครงการรวม 599.43 ล้านบาท
กรณีการกู้เงินเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ประเภทรถแทรกเตอร์ หรือ รถบรรทุกคิดดอกเบี้ยอัตรา MLR-1 โดยรัฐบาลจะไม่ชดเชยดอกเบี้ยในส่วนนี้ แต่ ธ.ก.ส. รับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม นายณัฐพร กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีนโยบายลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก จึงมีมาตรการลดปริมาณการเกิดหมอกควันจากการเผาอ้อยในช่วงเดือน ธ.ค.-เม.ย. ของทุกปี ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวนมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการหักเงินอ้อยไฟไหม้ และกำหนดให้โรงงานน้ำตาลจำกัดปริมาณรับอ้อยไฟไหม้เข้าโรงหีบ เพื่อให้การเผาอ้อยหมดไปภายในปี 2565
ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศมีจำนวน 11.54 ล้านไร่ เกษตรกรจำนวน 316,241 ราย สำหรับการผลิตปี 2561/2562 มีปริมาณหีบอ้อย 130 ล้านตัน แบ่งเป็นอ้อยสด 50.9 ล้านตัน อ้อยไฟไหม้ 80 ล้านตัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :