นายศิริชัย วัฒนโยธิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ แถลงถึงกรณีที่นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ยิงตัวเองหลังตัดสินคดีความมั่นคง โดยระบุว่า พอมีเรื่องขึ้นมาก็กลายเป็นเรื่องการเมือง กลัวจะเสียสถาบัน ไม่อยากให้สถาบันตุลาการเสียหาย ตอนนี้อะไรก็เป็นการเมืองไปหมด บ้านเมืองเรา ต้องมานั่งดูกันใหม่ ไม่ใช่แบ่งฝ่ายแล้วแบ่งกันตลอด แล้วก็สาดสีกันไปมา บ้านเมืองจะพัฒนาได้ ถ้าสามัคคีกัน ถ้าหักล้างกันด้วยการเมืองตลอดมันไปไม่ได้ ไม่อยากให้มองอะไรเป็นการเมืองไปหมด
นายศิริชัย อธิบายว่าโดยหลักแล้ว ผู้พิพากษาจะเป็นอิสระ การเขียนคำพิพากษานั้นไม่อยู่กับสายบังคับบัญชา แต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีเหตุให้ต้องดูแลหรือควบคุมบ้างในแต่ละชั้นศาล อย่างศาลชั้นต้นแต่ละภาคจะมีอธิบดีผู้พิพากษาภาคดูแล ก็จะตรวจสำนวนคดีอุกฉกรรจ์ ก็ต้องส่งไปให้ภาคตรวจก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ เหมือนกรณีที่ จ.ยะลา อธิบดีผู้พิพากษาภาคก็ขอตรวจ
เช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ก็มีหน่วยตรวจว่าครบถ้วนหรือไม่ แล้วก็ผ่านไปยังแผนกศาลฎีกาว่า ผ่านได้หรือไม่ ถ้าผ่านไม่ได้ ต้องมีการไปคุยกับเจ้าของสำนวนใหม่ ถ้าปล่อยอิสระเลย ก็จะมีปัญหาว่าออกไม่เหมือนกัน ทำให้ประชาชนสับสน โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องเดียวกัน มีการต่างคนต่างฟ้อง แต่อีกคนชนะ อีกคนแพ้ ส่วนการโอนสำนวนสามารถทำได้ หากมีเหตุกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม นี่คือระบบ
"ระบบแบบนี้มีมานานแล้ว ถามว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่ ก็มี แต่ไม่มีคนแก้ ศาลยุติธรรมได้ชื่อว่า เป็นอนุรักษนิยม ไม่ค่อยยอมรับความคิดเห็นอะไรใหม่ๆ การเขียนคำพิพากษาต้องไปดูแนวฎีกาเก่าๆ การแก้ไขจึงเป็นเรื่องยาก รวมถึงการตรวจสำนวนของอธิบดีผู้พิพากษาภาคด้วย ซึ่งมีประโยชน์แต่น้อย ในคดีแพ่งทุนทรัพย์ใหญ่ ตัดสินชั้นต้นก็ไม่จบ หรืออย่างกรณีศาลจ.ยะลา ก็ต้องไปศาลอุทธรณ์อีก การนั่งท้วงให้เปลี่ยนผล จึงไม่ใช่สาระสำคัญอะไรเลย" ศิริชัยระบุ
อดีตประธานศาลอุทธรณ์ เสนอแนะการปรับแก้แนวทางการตรวจคำพิพากษาว่า การตรวจควรเป็นคดีเล็ก ที่หากศาลชั้นต้นยกฟ้องแล้วห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริง หากยกฟ้องเขาจะเสียสิทธิแบบนี้ต้องตรวจ อันนี้ถือว่ากระทบกระเทือน เพราะข้อเท็จจริงอุทธรณ์ไม่ได้ แต่เราไม่ดูตรงนี้ กลับไปดูคดีใหญ่ที่ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ หากตนได้เป็นประมุขตนก็จะแก้ตรงนี้ ย้ำว่าการตรวจควรจรวจคดีเล็ก เพราะอุทธรณ์ไม่ได้ แต่คดีหนักๆ คดีอุกฉกรรจ์ สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ การแก้ไขจึงต้องกลับหัวกลับหาง
อีกจุดหนึ่งมีปัญหามากคือ การดูตามอาวุโส ซึ่งแต่ละศาลอาวุโสไม่เท่ากัน ถ้าอยู่ในถิ่นดีจะต้องอาวุโสสูง อาวุโสน้อยที่อยู่ท้ายต้องไปอยู่จังหวัดไกล ถ้าผู้พิพากษาใหม่ วัยวุฒิน้อย การจะปล่อยให้เขียนเป็นอิสระเลย ก็คงจำเป็นต้องให้อธิบดีภาคดูอีกที
"ระบบอยู่แบบนี้มานานแล้วไม่มีปัญหา แต่การรับแรงกดดันของแต่ละคนไม่เท่ากัน ผมไม่อยากให้พอเกิดเรื่องแล้ว สำนักงานศาลยุติธรรมต้องมาแก้ปัญหาอีก ที่ผ่านมาเคยเสนอให้ตรวจสุขภาพจิตผู้พิพากษาทุก 3 หรือ 5 ปี กรณีนี้คงเป็นความกดดันที่มีความรู้สึกท่านอยากยกฟ้อง แต่อธิบดีให้ลงโทษ ซึ่งน่าจะเกิดจากการตกลงกันได้ไม่ดี จึงเป็นปัญหา แรงกดดันเป็นเรื่องลำบาก" อดีตประธานศาลอุทธรณ์ให้ความเห็น
ส่วนข้อเรียกร้องให้แก้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมนั้น นายศิริชัย กล่าวว่า ระบบทุกวันนี้ต้องเปลี่ยนไปบ้าง เพราะใช้มานาน ซึ่งเห็นข้อบกพร่องแล้ว โดยอยากให้ปรับจาก เมื่อเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา 2 ปี แล้วส่งไปเป็นผู้พิพากษา เป็นให้มาศึกษาดูงานที่ศาลอุทธรณ์ก่อนไปเป็นผู้พิพากษา เพื่อให้เห็นข้อบกพร่องจากศาลชั้นต้นที่มีปัญหาเมื่อมาถึงชั้นอุทธรณ์ ฎีกา สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นตามระเบียบที่บังคับใช้มานาน ไม่ได้ฟันธงว่าเป็นการแทรกแซง
"เชื่อว่า เมื่อผู้พิพากษาใหม่เห็นข้อบกพร่องก็จะเข้าใจ เมื่อไปเป็นผู้พิพากษาก็อาจเขียนได้รอบคอบ โดยที่อธิบดีไม่ต้องตรวจก็ได้ เพราะเขียนดีแล้ว ซึ่งจะทำให้หมดปัญหาการขัดกันระหว่างผู้พิพากษาและอธิบดีภาค และดีต่อระบบยุติธรรมด้วย โดยรวมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมถือว่าใช้ได้ แต่ควรลดอำนาจผู้บริหาร ไม่ให้มีสายบังคับบัญชา เหมือน ข้าราชการพลเรือน การทำงาน บริหารจัดการ ควรประชุมกันในแต่ละศาล ต้องพยายามลดอำนาจของสายบังคับบัญชาลง ให้อยู่ในศาลใครศาลมัน ไม่ต้องส่งไปข้างนอก" นายศิริชัยกล่าว
นายศิริชัย เล่าถึงวิถีปฏิบัติของศาลว่า เดิมผู้พิพากษาจะเก็บตัว แต่ยุคหนึ่งบอกให้ผู้พิพากษาเปิดตัว คนที่มาคบก็มักหาผลประโยชน์ ก็ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายไปหมด ตนก็เคยตีเทนนิสพอสนิทกัน พ่อค้าก็ขอให้ช่วย นี่คือสิ่งหนึ่งที่ไม่ควร อีกจุดคือ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงควรมีหรือไม่ ตนเคยเรียนหลักสูตรหนึ่ง ก็มีคนมาขอประกันตัวชั้นฎีกา ศาลจึงไม่ควรเหมือนหน่วยงานอื่น พอสนิทแล้วจะมีคนมาขอ ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่
"ยอมรับตามตรงว่า ศาลเราไม่เหมือนก่อน ทุกคนพูดตอนทำงานใหม่ๆว่า ศาลคือที่พึ่งสุดท้าย ผมไม่อยากให้มองว่า ศาลเป็นที่พึ่งของนักการเมืองหรือไม่ อยากให้ศาลเก็บตัว ไปยุ่งกับใคร ถ้าเป็นแบบนี้ภาพลักษณ์ของศาลจะยิ่งเสีย ไม่อยากให้เป็นแบบวันนี้ ศาลคือคนธรรมดา มีความรัก ความชอบ ก็มีความนิยมพรรค เพียงแต่ต้องเก็บไว้ในใจ แล้วแยกออกจากหน้าที่การงาน พอเข้ารับหน้าที่ก็ต้องแยกอคติจากการทำงาน" ศิริชัยระบุ
การแก้ปัญหาผู้บริหารต้องคิดแก้มีปฏิภาณไหวพริบ ไม่ใช่รอปล่อยให้เรื่องซาไปเอง ศาลจึงทำกันเองหมด ไม่เคยจ้างให้ใครมาทำ ต้องระดมความคิดกันแล้วว่า ศาลที่พึ่งสุดท้ายหายไปจากสังคมแล้ว อย่างผมซื่อสัตย์สุจริต ก็บอกผมเป็นคนตรงเกินไป แต่ผู้พิพากษาที่รู้จักคนนั้นคนนี้บอกมนุษยสัมพันธ์ดี ซึ่งระบบไม่ว่าจะดีแค่ไหน ถ้าคนมีปัญหาก็มีปัญหา อยู่ที่ผู้บริหาร การแต่งตั้งต้องอย่าเอาแต่พรรคพวก ไม่ใช่การสั่ง ถ้าไม่ทำตามแล้วจะเอาเรื่อง
ส่วนที่หลายคนบอกศาลไม่รู้จักประชาชน ก็ต้องบอกว่า ศาลไม่ใช่ ส.ส. ไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องเลือกตั้ง การเลือกตั้งในศาลก็มี มีนักเลือกตั้ง ครบเทอม ก.ต. 2 สมัย ก็กลับมาเป็นกรรมการบริหาร หัวคะแนนก็มีเช่นกัน การบริหารงานทุกวันนี้จึงลำบาก ตราบใดที่ในศาลยังมีการเลือกตั้ง มีหัวคะแนน ก็จะเป็นแบบนี้ ซึ่งการให้ความเป็นธรรมต้องมีอยู่ ระบบอาวุโสก็ต้องยึด ไม่ใช่ใครเคยช่วยกันต้องตอบแทนก่อน อาวุโสไว้ทีหลัง แบบนี้ไมได้
ในแง่ค่าตอบแทน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า ตนเป็นผู้พิพากษาใหม่ ที่ จ.แม่ฮ่องสอน ศาลเงินเดือนมากกว่า ผู้พิพากษาที่ออกมาประจำใหม่ หรือผู้ช่วยผู้พิพากษา ก็เงินน้อยกว่า นิติกรป.ป.ช. จนต้องนำมาอ้างอิงใหม่ ซึ่งศาลมีแค่นี้ ไม่เหมือนหน่วยอื่น ที่มีรายได้อื่น ส่วนจะเพียงพอหรือไม่ ก็ต้องรู้ว่าระบบเป็นแบบนี้ ต้องยอมรับแบบนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง